|

มิตรผล เซ็น MOU ลาวปลูกอ้อยแสนไร่รง.สะหวันนะเขตผลิตน้ำตาลล้านตัน/ปี
ผู้จัดการรายวัน(9 กันยายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ในที่สุดบริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด ได้ลงนามใน บันทึกช่วยความจำกับแขวงภาคใต้ของลาว ในโครงการลงทุนปลูก อ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล โดยเริ่มต้นทำเองทั้งหมดบนเนื้อที่ 3,000 ไร่ ในเฟสแรกภายใต้แผนการที่จะขยายพื้นที่เพาะปลูกออกไปถึง 100,000 ไร่ ในอนาคตอันไม่ไกล โดยจะชักชวนเกษตรกรชาวลาวเข้าร่วมโครงการด้วย
มิตรผลยังมีแผนการตั้งโรงงานน้ำตาลในแขวงภาคใต้ของลาว เป็นฐานการผลิตน้ำตาลปีละ 1 ล้านตัน ผ่านท่าเรือในจังหวัดภาคกลางของเวียดนาม ผู้บริหารของบริษัทดังกล่าวเปิดเผยกับ "ผู้จัด การรายวัน" โดยที่ยังมิได้ประมวลมูลค่าการลงทุนทั้งหมด
นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ รองผู้จัดการใหญ่ สายงานอ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือของ บริษัทน้ำตาลมิตรผลได้ร่วมลงนาม ในบันทึกช่วยความจำเพื่อความเข้าใจ (MOU) กับนายสุกกะเสิม โพทิสาน รองเจ้าแขวง แขวงสะหวันนะเขต เมื่อวันศุกร์ (2) ที่ผ่านมา ณ ที่การแขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน ลาว
การลงนามในครั้งนี้มีนายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ น.ส.มาลินดา มนูญชัย กงสุลใหญ่ ณ สะหวันนะ-เขต นายเฉลิม พลพงษ์ฉบับนภา อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ เวียงจันทน์ รวมถึงนักธุรกิจอีก 23 บริษัท ร่วมกันเป็นสักขีพยาน
นายคมกริช นาคะลักษณ์ ผู้จัดการอาวุโส สำนักงานกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทน้ำตาลมิตรผลกล่าวกับ "ผู้จัดการรายวัน" ว่า เอ็มโอยูฉบับดังกล่าวเป็นการยืน ยันว่ามิตรผลจะเข้าไปปลูกอ้อยเพื่อ ผลิตน้ำตาลแน่นอนแล้ว นอกจากนั้นก็ยังรวมถึงโครงการความร่วมมือกับเกษตรกรลาวในการปลูกอ้อยอีกด้วย
"ทางแขวงสะหวันนะเขตจะช่วยอำนวยความสะดวกในด้านพื้นที่และสาธารณูปโภคที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเข้าไปปลูกอ้อย แต่ยังไม่ได้มีการหารือในรายละเอียดใดๆ มากกว่านี้ บริษัทจะทำโครง การเสนอต่อทางแขวงและทางเวียงจันทน์ต่อไป" นายคมกริชกล่าว
รองเจ้าแขวงสะหวันนะเขตกล่าวกับ "ผู้จัดการรายวัน" ว่า ฝ่ายลาวต้องการให้การเข้าไปทำไร่อ้อยของมิตรผลเป็นการสร้างงานให้กับประชาชนลาว โดยมิตรผลจะต้องให้การสนับสนุนทางด้านวิชาการ พันธุ์อ้อย และส่งเสริมให้เกษตรกรในท้องถิ่นร่วมปลูก
นายคมกริชกล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่ของมิตรผลกำลังจะกลับเข้า ไปสำรวจดินว่าเหมาะกับอ้อยพันธุ์ใด และจะเข้าไปดำเนินการเองก่อนประมาณ 3,000 ไร่เป็นการทดลองพันธุ์ หลังจากนั้นจึงจะมีการขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยให้ชาวลาวเข้ามีส่วนร่วมในการปลูก อ้อยด้วย โดยจะมีการกำหนดรูปแบบความร่วมมือในภายหลัง
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะทำการเพาะปลูกในลาวให้ได้ 100,000 ไร่ ซึ่งจะสามารถผลิตน้ำได้จำนวนปีละ 1 ล้านตัน นายคมกริชกล่าว
"ในขณะนี้น้ำตาลยังไม่เพียงพอตามความต้องการในตลาดโลก ทำให้บริษัทต้องเพิ่มการผลิตให้มากขึ้น และลาวเป็นประเทศที่ยังมีพื้นที่เพาะปลูกอีกมาก อีกทั้งอยู่ไม่ไกลจากไทย ถ้าสะพานข้ามโขงตรงมุกดาหารเสร็จคงจะขนส่งพันธุ์อ้อยหรือวัสดุอุปกรณ์ได้ง่ายแน่ๆ" นายคมกริชกล่าว
ผู้จัดการอาวุโสของมิตรผลซึ่งได้ติดตามคณะกระทรวงพาณิชย์ จากประเทศไทยเดินทางต่อไปยังเวียดนามในสัปดาห์ที่ผ่านมา กล่าวอีกว่าจากการเดินทางไปดูท่าเรือดงห่า (Dong Ha) ใน จ.กวางจิ (Quang Tri) พบว่าถนนหนทางระหว่างแขวงสะหวันนะเขตไป ยังท่าเรือดังกล่าวอยู่ในขั้นดี ที่จะสามารถรองรับการขนส่งน้ำตาลหรืออ้อยได้ อย่างไรก็ตาม มิตรผลยังมีความกังวลเกี่ยวกับระเบียบพิธีผ่านแดนที่ยังไม่มีความแน่ชัด
"บริษัทตั้งใจว่าจะตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลในลาว หากว่าอ้อยให้ผลผลิตที่ดี และปลูกได้จำนวนหนึ่งแล้ว และเมื่อแปรรูปเป็นน้ำตาล ก็จะส่งมาลงเรือไปยังต่างประเทศที่ท่าเรือของเวียดนามนี้เลย จะสะดวกกว่าส่งกลับไปยังท่าเรือน้ำลึกของไทย" นายคมกริชกล่าว
ภายหลังการลงนามใน MOU ได้มีการหารือระหว่างรองเจ้าแขวงเวียงจันทน์ ตัวแทนของมิตรผล และเจ้าหน้าที่ด้านส่งเสริมการลงทุน ของลาว เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการขั้นต่อไป ซึ่งทางลาวได้แนะนำให้ทางบริษัทติดต่อกับ ทางเวียงจันทน์โดยตรง โดยแขวง สะหวันนะเขตจะช่วยประสานงานการติดต่อ
ในปัจจุบันได้มีบริษัทธุรกิจการเกษตรจากไทยหลายแห่งเข้าไป ประกอบธุรกิจใน สปป.ลาว เช่น บริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์จำกัด ที่เข้าไปสนับสนุนให้ชาวลาวปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในแขวงไซยะบุลี รวมถึงบริษัท สยามน้ำมันละหุ่ง จำกัด ซึ่งเข้าไปส่งเสริม การปลูกและรับซื้อเมล็ดละหุ่งในแขวงเวียงจันทน์และไซยะบุลี
กลุ่มแอดว๊านซ์อะโกร เจ้าของผลิตภัณฑ์กระดาษดับเบิ้ลเอได้ทำธุรกิจรับซื้อไม้ยูคาลิปตัสในแขวงสะหวันนะเขต คำม่วน และแขวงเวียงจันทน์ และบริษัทไทยฮั้วยาง พารา จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมทุนกับฝ่ายลาวจัดตั้งบริษัท "ลาวพารา รับเบอร์ไทยฮั้ว" และได้เริ่มนำกล้า ยางไปทดลองปลูกในแขวงสะหวันนะเขตแล้วเช่นกัน
ก่อนหน้านี้บริษัทเจียเม้งได้เข้าไปทดลองปลูกข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมืองในเขตนครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งปรากฏว่าได้ผลดีเกินคาด และเจียเม้งกำลังขยายการผลิตออกไป รวมทั้งมีแผนจะทดลองปลูกข้าวเจ้าพันธุ์ใหม่ๆ เพื่อส่งออก อีกด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|