เหล็กรีดร้อนจ่อคิวขึ้นราคา


ผู้จัดการรายวัน(8 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

สามชัยสตีลฯ ชี้ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนในประเทศขยับตัวขึ้นแน่ หลังจาก ตลาดโลกดีดตัวขึ้นไปแล้ว 450 เหรียญสหรัฐ/ตัน และผู้ผลิตในประเทศ 3 รายหันไปส่งออก โดยมีออเดอร์ในมือแล้ว 3 แสนตัน เนื่องจากราคาส่งออกดีกว่าขายในประเทศ ยันราคาเหล็กพุ่งส่งผลดีต่อบริษัทฯทำ ให้ลูกค้าหันมาสต๊อกท่อเหล็กเพิ่ม มั่นใจต้นปีหน้าผลิตท่อเหล็กขนาด 18 นิ้วได้รองรับโครงการเมกะโปรเจกต์มูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท พร้อมลงทุนเพิ่มเติมอีก 300 ล้านบาท เพื่อผลิตเป็นท่อเหล็กใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม

นายประวาส สันตวะกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สามชัย สตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตท่อเหล็กรายใหญ่ ของไทย เปิดเผยว่า จากแนวโน้มราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนของโลกได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/2548 ที่มีราคาต่ำสุดอยู่เพียงตันละ 400 เหรียญสหรัฐ ได้ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 450 เหรียญสหรัฐต่อตันในปัจจุบัน และคาดว่าในปลายปีนี้ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนจะขึ้นไปแตะ 500 เหรียญ สหรัฐ เนื่องจากจีนหันมานำเข้าเหล็กหลังจากที่ชะลอการนำเข้าลง รวมทั้งผู้ผลิตได้ลดกำลังการผลิตลงทำให้มีปริมาณเหล็กแผ่นลดลง

นอกจากนี้ ผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนของไทย 3 ราย คือ บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสทรี บ.จีสตีล และ บ.นครไทยสตริปมิลล์ ก็มีออเดอร์ส่งออกเหล็ก แผ่นรีดร้อนในมือจำนวน 3 แสนตัน เพราะราคา ส่งออกดีกว่าขายในประเทศ ซึ่งตนเชื่อว่าสุดท้าย ผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนของไทยจะมีการปรับขึ้น ราคาขายในประเทศจากปัจจุบันที่ขายในราคาที่ต่ำกว่าเพดานการควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ที่กำหนดไว้ กก.ละ 22.50-23 บาท แต่เอกชนขายอยู่ 20 บาทต่อ กก.

จากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลดีต่อบริษัทฯ ทำให้ลูกค้าหันมาสต๊อกท่อเหล็กเพิ่มขึ้น เนื่อง จากเกรงว่าราคาเหล็กจะสูงกว่านี้ ทำให้ไตรมาส 3 นี้มีกำไรเพิ่มขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมายอดการขายท่อเหล็กจะปรับตัวลดลงถึง 30% ในไตรมาส 2/2548 จากการใช้ของภาค อสังหาริมทรัพย์ ที่ชะลอตัวลงก็ตาม แต่การใช้ท่อเหล็กของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลยังไปได้ดี ทำให้ยอดการใช้ท่อเหล็กของไทยยังมีการ ขยายตัวอยู่ปีละ 10-15%

ส่วนความคืบหน้าโครงการก่อสร้างผลิตท่อเหล็กขนาด 18 นิ้ว มูลค่าเงินลงทุน 900 ล้าน บาทนั้น ขณะนี้เครื่องจักรจากญี่ปุ่นได้ส่งมาถึงไทยแล้ว โดยจะเริ่มดำเนินการติดตั้งเครื่องจักรและแล้วเสร็จภายในกลางธันวาคมนี้ หลังจากนั้นจะทดลองเดินเครื่องจักรผลิต ซึ่งจะผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนมกราคม 2549 มีกำลังการผลิตเบื้องต้นในปีแรก 5 หมื่นตันจากกำลังการผลิตจริง 9.6 หมื่นตัน ซึ่งสามารถเพิ่มกำลังการ ผลิตได้ถึง 1.8 แสนตันทันทีหากความต้องการใช้ท่อเหล็กขนาดใหญ่ในไทยเติบโตขึ้น ท่อเหล็ก ขนาด 18 นิ้วจะมาใช้ทดแทนเหล็กโครงสร้าง รูปพรรณโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตกแต่ง ซึ่งต่างประเทศนิยมมาก จึงถือว่าเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ลูกค้า โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ (เมกะโปรเจกต์) มูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท อาทิ การก่อสร้างรถไฟฟ้าราง รวม ไปถึงการก่อสร้างอาคาร โรงงานต่างๆ ของภาคเอกชน เป็นต้น

นอกจากนี้ บริษัทฯมีแผนที่จะลงทุนเพิ่มเติมเพื่อก้าวสู่การเป็นบริษัทผู้ผลิตท่อเหล็ก ครบวงจร ซึ่งขณะนี้ศึกษาอยู่ 2-3 โครงการ โดยหนึ่งในนั้นคือ การผลิตท่อเหล็กเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและปิโตรเลียม เพื่อรองรับโครงการลงทุนของ ปตท.ที่จะวางท่อส่งน้ำมันจากอยุธยาขึ้นไปทางภาคเหนือที่ลำปางต่อเนื่องไปจนถึงจีนตอนใต้ และโครงการปิโตรเคมีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมไปถึงการส่งออกไปจำหน่ายในอาเซียน อาทิ เวียดนามที่มีแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น คาดว่าโครงการ นี้จะใช้เงินลงทุนเพิ่มเติมอีก 200-300 ล้านบาท เพื่อซื้อเครื่องตรวจสอบคุณภาพให้ได้ตามมาตรฐานจากสถาบันปิโตรเลียมของสหรัฐฯ(API) โดยจะใช้เวลาติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เพียง 1 ปี เชื่อว่าสินค้าท่อเหล็กขนาด 18 นิ้วของบริษัทฯจะผ่านการรับรอง API รวมทั้งมีแผนที่จะผลิตท่อเหล็กตะเข็บเชื่อมชนิดต่างๆ เช่น ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ ท่อเหล็กตะเข็บเกลียว และท่อเหล็กตะเข็บตรง เพิ่มเติม คาดว่าต้นปีหน้าจะได้ข้อสรุป ที่

ปัจจุบันไทยมีการใช้ท่อเหล็กต่างๆ รวมทั้งสิ้น 1-1.5 ล้านตันต่อปี และมีการนำเข้าท่อเหล็ก ขนาดใหญ่จากต่างประเทศในปี 2547 จำนวน 1.04 แสนตัน เชื่อว่าโครงการดังกล่าวเมื่อแล้วเสร็จจะทดแทนตลาดนำเข้าได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯมีแผนจะส่งออกท่อเหล็กขนาด 18 นิ้วไปยังยุโรป สหรัฐฯ และตะวันออกกลาง คิดเป็น สัดส่วนการส่งออก 20% ของกำลังการผลิต เพราะราคาส่งออกจะใกล้เคียงกับราคาขายในประเทศ แต่มีปริมาณการขายที่มากกว่า

ผลการดำเนินงานของบริษัทฯในปีนี้คาดว่าจะมีรายได้รวม 5 พันล้านบาท และกำไรสุทธิจะปรับลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 250 ล้านบาท เนื่องจากราคาท่อเหล็กในช่วงไตรมาส 2 อ่อนตัวลงมาก อย่างไรก็ตาม หลังจากโครงการผลิตท่อเหล็ก 18 นิ้วแล้วเสร็จในต้นปีหน้า จะทำให้บริษัทฯมีรายได้ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 7-8 พันล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.