เนวินฟันผิดกม.แข่งขัน 5บิกค้าปลีกไทย-เทศ


ผู้จัดการรายวัน(24 กันยายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

"เนวิน" เตรียมเสนอคณะกรรมการ การแข่งขันทางการค้าชุดใหญ่ลงดาบเชือดหมดบิ๊กค้าปลีก 5 ราย ทั้งไทยและเทศ แจ้งข้อหาเซ็นทรัลผิดมาตรา 29 แห่งพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า โทษฐานทำการค้าไม่เป็นธรรม ส่วนเทสโก้ โลตัส บิ๊กซี แม็คโครและคาร์ฟูร์ก็ไม่รอด ผิดมาตราเดียวกัน โทษฐานเดียวกัน ระบุหากผิดตามข้อกล่าวหาจริง เจอคุก 3 ปี ปรับ 6 ล้าน ผิดซ้ำมีโทษทวีคูณ พร้อมสั่งฝ่ายเลขานุการยกร่างหลักเกณฑ์การทำการค้าที่เป็นธรรมให้เสร็จภายใน 2 ต.ค.นี้

นายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการการแข่งขันทางการค้าเพื่อพิจารณาพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องสำคัญ 2 เรื่อง คือ กรณีการร้องเรียนบริษัท เซ็นทรัล รีเทล จำกัด และบริษัทในเครือที่ได้นำระบบศูนย์เติมและกระจายสินค้า (อาร์ซี) มาใช้ในการรับสินค้า จากผู้ผลิตและจำหน่าย (ซัปพลายเออร์) และกรณีร้านค้าปลีกราย ใหญ่ทั้ง 4 ราย ได้แก่ บิ๊กซี แม็คโคร เทสโก้ โลตัสและคาร์ฟูร์ ถูกซัปพลายเออร์ร้องเรียนว่ามีพฤติกรรม 8 ข้อที่เป็นการบังคับและปฏิบัติการค้าที่ไม่เป็นธรรม

โดยหลังจากที่คณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาหลักฐานข้อ เท็จจริงที่มีอยู่ทั้งหมด คณะอนุกรรมการฯได้มีมติว่าผลการร้องเรียนกรณีของเซ็นทรัล รีเทลและบริษัทในเครือมีพฤติกรรมเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 29 แห่งพ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า เพราะมีพฤติกรรมที่เลือกปฏิบัติ ทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ เพราะในการส่งสินค้า เซ็นทรัล รีเทล เปิดรับสินค้าจากซัปพลายเออร์ที่เป็นสมาชิกอาร์ซีตั้งแต่ เวลา 20.00-08.00 น. แต่เปิดให้ซัปพลายเออร์อื่นที่ส่งสินค้าเองสามารถส่งสินค้าได้ตั้งแต่เวลา 02.00-04.00 น. เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ

"จะเสนอให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าชุดใหญ่ที่มีนายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานพิจารณาต่อไป โดยหากกรรมการชุดใหญ่เห็นว่าผิดจริงตาม ที่คณะอนุกรรมการฯ เสนอก็จะ มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตามมาตรา 14 เพื่อรวบรวมข้อเท็จ จริงตามกระบวนการของกฎหมายต่อไป" นายเนวินกล่าว

อย่างไรก็ตาม ก่อนการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ ผู้บริหารเซ็นทรัลและโรบินสัน ได้แก่ นายสุทธิชาติ จิราธิวัฒน์ นายทศ จิราธิวัฒน์ นายกนก วงษ์ตระหง่าน และนายวิโรจน์ ภู่ตระกูล ได้เข้าชี้แจงเพิ่มเติมต่อคณะอนุกรรมการฯ ถึงประโยชน์ของระบบอาร์ซี โดยได้ยืนยันว่าจะมีการปรับอัตราค่าธรรมเนียมหลังสิ้นสุดเดือนกันยายน และจะมีการแก้ไขสัญญาหลังจากที่ใช้ไปแล้ว 1 ปี ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้รับฟังและนำไปประกอบการพิจารณา แต่ก็ไม่ได้มีผลต่อการลงมติ

นายเนวินกล่าวอีกว่า ในกรณีของร้านค้าปลีกรายใหญ่ทั้ง 4 ราย คณะอนุกรรมการฯ มีมติเช่นเดียวกันกับกรณีของเซ็นทรัล คือ มีพฤติกรรม 8 ข้อที่เป็นข้อร้องเรียนจาก ซัปพลายเออร์เข้าข่ายผิดมาตรา 29 โดยจะมีการส่งเรื่องให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาเช่นเดียวกัน และหากเห็นว่าผิดก็จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการตามมาตรา 14 เพื่อรวบรวมหลักฐาน ก่อนเสนอตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป

สำหรับพฤติกรรม 8 ข้อที่เข้าข่ายผิด มาตรา 29 นั้น ได้แก่ 1.การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้า (Entranec Free) 2.การขอส่วนลดเพื่อใช้ในกิจกรรมส่งเสริมการขาย 3.การขอส่วนลดเพื่อจัดกิจกรรมในวาระพิเศษ 4.ค่าโฆษณา 5.ค่าวางสินค้าและค่าหัวชั้น 6.ค่าระบบข้อมูลการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 7.ค่าดีลีทสินค้า และ 8.การผลิตสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ ทั้งนี้ ในการพิจารณาความผิดของร้าน ค้าปลีกทั้ง 4 ราย พบว่าหากแยกความผิดของร้านค้าปลีกทั้ง 4 ราย ส่วนใหญ่จะมีความผิดตาม ข้อร้องเรียนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมสินค้าแรกเข้า ส่วนลดพิเศษ ค่าโฆษณา ค่าวางสินค้าและค่าหัวชั้น ค่าเมล์ และสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ ยกเว้นแม็คโครที่ไม่มีความผิดในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสินค้าแรกเข้า เพราะเลี่ยงไปใช้คำว่าเงินสนับสนุนการขายโดยเป็นส่วนลดพิเศษ และไม่มีความผิดในกรณีเรียกเก็บค่าวางสินค้าและค่าหัวชั้น

"คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่าทั้ง 5 รายมีความผิดตามมาตรา 29 แล้วจะเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาอย่างนี้ แต่คณะกรรมการชุดใหญ่จะเห็นว่ายังไงก็เป็นเรื่องของคณะกรรมการฯ เพราะหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯ เป็นผู้ตรวจสอบว่าพฤติกรรมที่ได้รับการร้องเรียนมาผิดหรือไม่ผิด ถ้าผิดๆ มาตราอะไรเท่านั้น" นายเนวินกล่าว

สำหรับมาตรา 29 แห่งพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ระบุว่า ห้ามผู้ประกอบการดำเนินการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยโทษตามมาตรา 29 คือจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 ล้านบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ หากกระทำความผิดซ้ำจะมีโทษทวีคูณ ส่วนคณะอนุกรรมการที่จะตั้งขึ้นตามมาตรา 14 นั้น มีหน้าที่ในการสืบสวน สอบสวน จัดทำสำนวนความผิดก่อนที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของศาลต่อไป

นายเนวินกล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯ ยังได้มอบหมายให้กรมการค้าภายในในฐานะฝ่ายเลขานุการ ไปยกร่างหลักปฏิบัติในการปฏิบัติการค้าที่เป็นธรรมว่าเป็นอย่างไร ต้อง ทำอย่างไร และให้เสนอให้คณะกรรมการ แข่งขันทางการค้าชุดใหญ่ในวันที่ 2 ตุลาคมนี้ เพื่อให้ออกเป็นประกาศถือเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ก็เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างเป็นธรรม และไม่มีการเอาเปรียบกัน โดยทั้งผู้ประกอบการ ซัปพลายเออร์และผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ทั้งหมด

สำหรับการยกร่างหลักปฏิบัติที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นมานั้น แยกเป็น 7 กรณี ได้แก่ 1.ค่าธรรมเนียมสินค้าแรกเข้า 2.ค่าส่วนลดต่างๆ เช่น ส่วนลดส่งเสริมการขาย ส่วนลดในวาระพิเศษ ส่วนลดทางการค้าปกติ ส่วนลดรายปี และส่วนลดอื่นๆ (สินค้าสูญหาย และส่วนลดการชำระเงินล่วงหน้า) 3.ค่าโฆษณาและการ ส่งเสริมการขาย เช่น ค่าเมล์ และค่าวางสินค้าหัวชั้น 4.ค่าระบบข้อมูลพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 5.สินค้าเฮ้าส์แบรนด์ 6.การนำสินค้าออกจาก ชั้นวาง (Delete) 7.การขนส่งและกระจายสินค้า

"ได้ขอให้ฝ่ายเลขานุการไปจัดทำหลักเกณฑ์ ตามที่กำหนดทั้ง 7 ข้อออกมาว่าแต่ละข้อควรจะมีหลักเกณฑ์อย่างไร อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ โดยให้ยึดหลักว่าต้องเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เป็นการบังคับ เพราะเชื่อว่าหากมีการประกาศหลักเกณฑ์ออกมาแล้วจะนำไปสู่การจัดระเบียบการค้าปลีกที่เป็นธรรมทั้งในแง่ของผู้ประกอบการ ซัปพลายเออร์และผู้บริโภค" นายเนวินกล่าว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.