ต่อไป รพ.รัฐทุกแห่งต้องมี CFO


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

การออกจากระบบราชการ กับโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค มีความคล้ายคลึงกันอยู่ประการหนึ่ง คือ ความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงระบบการจัดการงบประมาณ ที่เคยใช้อยู่ในโรงพยาบาลใหม่ทั้งหมด

กระบวนการดังกล่าวที่โรงพยาบาลรัฐแต่ละแห่งเคยใช้ ไม่แตกต่างจากหน่วยราชการอื่นๆ คือ แต่ละปีต้องมีการตั้งโครงการเพื่อเสนอของบประมาณ เมื่อโครงการผ่านการพิจารณาจากต้นสังกัด ก็เสนอไปยังสำนักงบประมาณ คณะรัฐมนตรี จนกระทั่งถึงสภาผู้แทนราษฎรตามลำดับ

เมื่อได้รับการอนุมัติ โรงพยาบาลก็จะได้รับการจัดสรรงบตามขนาดของโรงพยาบาล โรงพยาบาลขนาดใหญ่จะได้รับการจัดสรรมากกว่าโรงพยาบาลขนาดเล็ก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดการกระจุกตัวของผู้เข้ามาใช้บริการ เพราะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีโอกาสในการจ้างบุคลากรทางการแพทย์ และเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยมากกว่า

แต่รูปแบบของโครงการ 30 บาท ที่เริ่มใช้เมื่อปีก่อน ได้เปลี่ยนแปลงระบบการจัดการดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง โดยกำหนดให้ผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับการบริการมาขึ้นทะเบียน และได้รับบัตรทอง ผู้ถือบัตรทองสามารถเลือกโรงพยาบาลที่จะใช้บริการ และโรงพยาบาลที่ถูกเลือกก็จะได้รับการจัดสรรงบประมาณ ตามจำนวนคนที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นรายหัว

วิธีการนี้ สามารถแก้ปัญหาการกระจุกตัวในการเข้ารับการรักษาพยาบาล เพราะทำให้โรงพยาบาลขนาดเล็ก แต่มีคนขึ้นทะเบียนไว้มาก ได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น ขณะเดียว กันโรงพยาบาลขนาดใหญ่ แต่มีคนขึ้นทะเบียนไว้น้อย จะได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยลง

ปี 2544 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้ในโครงการนี้หัวละ 1,202 บาท ซึ่งหมายความว่าหากมีโรงพยาบาลใดที่มีประชาชนขึ้นทะเบียนไว้จำนวน 1 แสนคน ไม่ว่าจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ โรงพยาบาลนั้นก็จะได้รับการจัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการ 30 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น 120.2 ล้านบาท

เงินจำนวนนี้ ผู้บริหารของโรงพยาบาล ต้องเป็นคนบริหาร ดูแลค่าใช้จ่ายให้ครอบคลุม โดยมีเงื่อนไขที่ไม่ให้การรักษาพยาบาลต่ำกว่ามาตรฐาน

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ระบบการลงบัญชีรายรับรายจ่ายของแต่ละโรงพยาบาลในอดีต เป็นระบบไม่สะท้อนภาพที่แท้จริงของการดำเนินงาน ผู้บริหารแต่ละโรงพยาบาลจึงไม่มีข้อมูลทางการเงินที่ถูกต้อง เพียงพอที่จะทำให้การบริหารงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นแพทย์ที่เคยผ่านการศึกษาระดับ MBA มาแล้ว เขามีความเชื่อว่า แพทย์ทุกคนสามารถเรียนรู้เรื่องการจัดการทางการเงินได้ ไม่แพ้คนที่เรียนจบมาทางด้านการเงินโดยตรง

เขาจึงมีแนวคิดจะยกบทบาทบุคลากรระดับบริหารของแต่ละโรงพยาบาลขึ้น ให้มีหน้าที่ดูแลทางด้านการเงินโดยเฉพาะ ในลักษณะเดียวกับ CFO (Chief Financial Officer) ของภาคธุรกิจเอกชน

CFO ของโรงพยาบาลตามแนวคิดนี้ ต้องเป็นผู้ที่รับรู้ข้อมูลรายรับรายจ่ายที่เกิดขึ้น และสามารถนำข้อมูลนี้มาใช้ในการบริหาร โดยการคาดการณ์ความต้องการใช้เงิน ตลอดจนวิเคราะห์โครงการหากโรงพยาบาลแห่งนั้นจำเป็นต้องมีการลงทุน

และหากโรงพยาบาลใดที่ได้แปรสภาพเป็นองค์การมหาชน CFO ของโรงพยาบาลนั้นก็คือผู้ที่สามารถเจรจาติดต่อกับสถาบัน การเงินหรือแหล่งเงินทุนที่โรงพยาบาลต้องใช้ได้หากมีความจำเป็น

เป็นบทบาทที่คล้ายกับ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการ รพ.บ้านแพ้ว กำลังแสดงอยู่ในการเจรจาซื้อตึกของ รพ.เวชสวัสดิ์ จาก บบส.

แนวคิดนี้ได้ถูกนำไปปฏิบัติแล้ว โดยเมื่อประมาณ 2 เดือน ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้คัดเลือกตัวแทนจากโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลประจำอำเภอในจังหวัดต่างๆ จำนวน 90 คน มาเข้ารับการอบรมทางด้านการบัญชีและการเงิน

ที่ปรึกษาในการจัดหลักสูตรการอบรมคือ ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์แอสเซท พลัส เพื่อนนักเรียนเตรียมอุดมของ นพ.สุรพงษ์ ที่ถูกขอให้มาช่วยงานด้านนี้โดยเฉพาะ โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล

จำนวนผู้เข้ารับการอบรม 90 คนแรกนี้ ถือเป็นกลุ่มนำร่อง ตามแผนงานในปีถัดไป กระทรวงมีโครงการจะนำบุคลากรของโรงพยาบาลในระดับเล็กลงไป เข้ามาฝึกอบรมอีกประมาณ 700 คน และได้มีการตั้งคณะทำงานชุดหนึ่งขึ้นมา เพื่อติดตามผลการปฏิบัติงานของผู้ที่ได้รับการอบรมไปแล้วโดยเฉพาะ

และเพื่อให้บทบาทการทำงานของผู้ที่ถูกวางตัวให้เป็น CFO ของแต่ละโรงพยาบาลนี้สัมฤทธิผล กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศปรับเปลี่ยนระบบการลงบัญชีของโรงพยาบาลทุกแห่ง จากเดิมที่เคยใช้เกณฑ์เงินสด (Cash Basis) มาใช้เป็นเกณฑ์พึงรับพึงจ่าย (Accrual Basis) ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2545-2546 เป็นต้นไป เพื่อให้ตัวเลขที่ปรากฏในระบบบัญชี สามารถสะท้อนภาพการทำงานของโรงพยาบาลได้อย่างแท้จริง

ตามเป้าหมายที่ นพ.สุรพงษ์วางไว้ ภายใน 5 ปีนับจากนี้ โรงพยาบาลรัฐทุกแห่งจะต้องมีผู้ช่วยผู้อำนวยการที่ทำหน้าที่เหมือนเป็น CFO และโรงพยาบาลทุกแห่งน่าจะออกจากระบบราชการ แปรสภาพเป็นองค์การมหาชนได้ทั้งหมด

แต่หากโครงการขยายเครือข่ายของ รพ.บ้านแพ้ว โดยการซื้ออาคาร รพ.เวชสวัสดิ์มาดำเนินการประสบความสำเร็จ อาจจะเป็นตัวเร่งให้โรงพยาบาลอีกหลายแห่งออกจากระบบ และพัฒนาบุคลากรทางการเงินของตนเองได้เร็วขึ้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.