กฟผ.ไม่แบกภาระเชื้อเพลิงให้ก่อน ค่าไฟใหม่คนไทยต้องจ่ายล่วงหน้า


ผู้จัดการรายวัน(8 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

"กฟผ." ออกโรงแจงค่าไฟที่จะเรียกเก็บในบิลรอบใหม่ (ต.ค.48-ม.ค.49) จะคิดค่าเชื้อเพลิงให้ตรงรอบ หรือคิดล่วงหน้ากับประชาชน จากเดิมที่กฟผ.จะแบกภาระให้ก่อน 4 เดือน แล้วค่อย มาเรียกเก็บคืน อ้างสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น ยอมเฉือนเนื้อค่าเชื้อเพลิง 4 เดือนก่อนให้แต่หวังค่า ไฟฟ้าฐานจะเป็น 2.72 บาทต่อหน่วย ขณะที่ส.อ.ท.ผวาค่าไฟขยับต.ค.ซ้ำเติมน้ำมันแพงทำต้นทุนกระอัก

นายไกรสีห์ กรรณสูต กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กฟผ.จำกัด(มหาชน) เปิดเผยถึง ค่าไฟฟ้าใหม่ที่จะเรียกเก็บในบิลค่าไฟฟ้าประชาชนในรอบต.ค.48-ม.ค. 49 ว่าจะมีการคำนวณค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าล่วงหน้าในรอบต.ค. 48-ม.ค. 49 เพื่อสะท้อนภาระค่าใช้จ่ายอย่างแท้จริงกับประชาชนจากเดิมที่กฟผ.จะเป็นผู้จ่ายเงินค่าเชื้อเพลิงที่จะนำมาคิดในส่วนของค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft ให้ก่อน 4 เดือน โดยหากรอบใหม่มีการคำนวณเรียกเก็บสูงเกินจากความเป็นจริงจะนำไปลบกับ 4 เดือนข้างหน้า

"ค่าเชื้อเพลิงในรอบ 4 เดือนที่ผ่านมาคือ มิ.ย. - ก.ย. 48 กฟผ.จะเป็นคนจ่ายให้ประชาชนล่วงหน้าไป แล้วสูตรค่าไฟฟ้าเก่าก็จะนำภาระที่กฟผ.จ่ายไปมาเรียกเก็บในบิลค่าไฟประชาชนในรอบต.ค.48 - ม.ค.49 แต่ของใหม่ก็จะประเมินราคาค่าเชื้อเพลิงการผลิตไฟล่วงหน้าคือ ต.ค.48 - ม.ค.49 ไว้ให้เพื่อให้การจ่ายค่าไฟของประชาชนตรงรอบโดยที่กฟผ.ไม่ต้องจ่ายให้ก่อนแต่เป็น การเรียกเก็บจริงจากประชาชน ซึ่งหากการคำนวณ เชื้อเพลิงล่วงหน้าสูงเกินจริงเมื่อถึงม.ค.49 รอบใหม่ ที่จะเริ่มก.พ. - พ.ค.49 เมื่อคำนวณล่วงหน้าออกมา ได้อย่างไร ก็จะนำส่วนที่คิดเกินไปนั้นมาลบ แต่หาก คิดต่ำเกินจริงก็จะนำบวกเพิ่ม" นายไกรสีห์กล่าว

สำหรับสูตรค่าไฟฟ้าใหม่จะประกอบด้วยค่าไฟฟ้าฐานที่ระดับ 2.25 บาทต่อหน่วย รวมกับค่าไฟฟ้าอัตโนมัติหรือ Ft เดิม 46 สตางค์ต่อหน่วย หรือรวมเป็นค่าไฟฟ้าฐาน 2.72 บาทต่อหน่วย และต.ค.นี้จะมีการใช้สูตร Ft ที่เริ่มจากศูนย์ที่จะอิงเฉพาะค่าเชื้อเพลิงเท่านั้นโดยไม่มีการนำอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราเงินเฟ้อเข้ามารวมด้วย โดยทั้งหมดจะทำให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

แหล่งข่าวจากบมจ.กฟผ.กล่าวว่า ขณะนี้ยังต้องรอการตัดสินใจจากกระทรวงพลังงานว่าท้ายสุดแล้วจะให้สูตรค่าไฟใหม่เป็นอย่างไรระหว่างค่าไฟฟ้าฐานที่ 2.25 บาทต่อหน่วย รวมกับ Ft 46 สตางค์ต่อหน่วย แล้วมีการคิด Ft ใหม่เมื่อขึ้นลงเท่าใดก็นำมาบวกลบกับ Ft เดิม หรือจะปรับค่าไฟฟ้าฐาน 2.72 บาทต่อหน่วย แล้วเริ่ม Ft เป็นศูนย์ โดยยืนยันว่าจะไม่ว่าด้วยวิธีใดประชาชนก็จ่ายเท่าเดิม แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนแน่นอนคือการคิดค่าเชื้อเพลิงจะตรงรอบมากขึ้น ต่างจากที่กฟผ.จะแบก รับภาระไปก่อน 4 เดือน โดยจะเริ่มรอบต.ค.48-ม.ค.49 นี้ และค่าใช้จ่ายที่เป็นภาระกฟผ. 4 เดือน ที่ผ่านมาทางรัฐบาลจะให้กฟผ.แบกรับภาระ ดังนั้น หากเป็นกรณีดังกล่าวคาดว่าค่าไฟฟ้าฐานจะเป็น 2.72 บาทต่อหน่วย

ผวาค่าไฟต.ค.เจอ2เด้ง

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากระดับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งโดยตรงและจะมีผลต่อต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมทางอ้อมซึ่งที่ผ่านมาเอกชนได้มีการแบกรับภาระจุดนี้ไว้ส่วนหนึ่ง และผู้ประกอบการบางส่วนก็ได้ทยอยปรับราคาสินค้าไปบ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ภาคเอกชนกังวลคือการปรับค่าไฟฟ้าที่จะมีการพิจารณาค่าไฟฟ้าอัตโนมัติหรือ Ft ในเดือนต.ค.นี้ เพราะหากมีการ ปรับเพิ่มขึ้นมากก็จะยิ่งซ้ำเติมต้นทุนการผลิตของเอกชน รวมไปถึงประชาชนที่ขณะนี้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น

"ยังไม่แน่ใจว่าตกลงแล้วค่าไฟฟ้าฐานรัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะหากมีการเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 2.72 บาทต่อหน่วยโดยนำเอา Ft 46 สตางค์ต่อหน่วยมารวมด้วยแล้วก็จะมีผลต่อค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น เพราะไฟฐานจะคิดตามอัตราก้าวหน้ายิ่งใช้มากก็ต้องจ่ายมาก แต่ถ้าดูแล้วภาพ รวมค่าไฟก็จะสูงขึ้น ก็จะทำให้ต้นทุน รวมอุตสาหกรรม สูงตาม" นายสันติกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.