เชิดชู โสภณพนิช... Where is he?


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

เชิดชูเป็นลูกคนสุดท้องของเจ้าสัว ชิน โสภณพนิช ที่ low profile มากที่สุด หลังจากถอยฉากจากกรุงเทพธนาทร (BFIT) ในปี 1999 เชิดชูเป็นเพียงที่ปรึกษา BFIT เท่านั้น แต่มีธุรกิจโฮลดิ้งของตนเองในนาม "บริษัทวัฒนเชิดชู" สำหรับลงทุนและเป็นกรรมการในบริษัทกรุงเทพประกันชีวิต และบริษัทคลังสินค้ากรุงเทพโสภณด้วย

นานมากแล้ว ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2530 นิตยสาร "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนมิถุนายนได้เขียนถึงเขา "เชิดชู โสภณพนิช ผู้เดินตามรอย ชิน แต่คนละเส้นทางกับชาตรี" ถือว่าเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่เชิดชูให้สัมภาษณ์เปิดใจนานถึงชั่วโมงเศษ หลังพบกันในงานบวชของชัย โสภณพนิช ที่วัดเทพศิรินทร์

"ลมเย็นดีนะ เงียบสงบจัง ผมชอบอะไรๆ ที่มันเรียบง่ายอย่างนี้" อารมณ์ของเชิดชูประมาณนั้น ในชุดลำลองแขนสั้นสีขาวลายทางยาว ขณะยืนอัดบุหรี่เชิงบันไดโบสถ์

"ผมอยากเข้าไปฟังพระสวด แต่นั่งพับเพียบหรือขัดสมาธิไม่ได้ มันเจ็บตะโพก"

เชิดชู เกิดเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2489 จบการศึกษาจากเซนต์คาเบรียลและไปต่อไฮสกูลที่มิลฟิลด์ ซอมเมอเซท ประเทศอังกฤษ เขาจบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยลอนดอน มีความสนใจการเมือง ถึงกับเคยลงทุนทำหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ "จตุรัส"

เชิดชูเริ่มต้นทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ตำแหน่งเศรษฐกร ฝ่ายปริวรรตเงินตราต่างประเทศ (Foreign Remittance) รุ่นนั้นมีเขาคนเดียวที่ไม่ใช่นักเรียนทุนแบงก์ชาติ

"คุณพ่อไม่ค่อยพอใจนักที่เห็นไปสมัครสอบ แต่ท่านก็ไม่บังคับ ผมบอกไปว่าการเข้าไปเรียนรู้และทำความรู้จักกับคนกับระบบราชการ อาจจะช่วยกิจการตัวเองได้มากในวันข้างหน้า" เชิดชูเล่า "ผู้จัดการ" ฟัง

4 ปีที่ทำงานอยู่แบงก์ชาติ เชิดชูได้รับความรู้อย่างมากจากอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ แต่ในปี 2516 เชิดชูก็ลาออก เพราะ "มันอึดอัด มีขั้นตอนมากเกินไปกระมัง ก็เลยคิดว่า ถ้าอยู่ไปแล้วจะทำสิ่งที่เราชอบไม่ได้ ก็อย่าทำดีกว่า"

เมื่อกลับมาที่แบงก์กรุงเทพ เชิดชูได้เป็นผู้จัดการสาขาฮ่องกง โดยมีพี่ชายต่างมารดา โรบิน ชาน (ระบิล โสภณพนิช) เป็นผู้คอยสอนงาน และสองปีที่ฮ่องกง เชิดชูยอมรับว่า "ผมได้เห็นกลเม็ดการเล่นหุ้นอย่างมากมาย"

เชิดชูลงทุนซื้อหุ้นในฮ่องกง ครั้งแรกขาดทุน แต่เขาบอกว่า "ผมไม่ปลงนะ ถ้าปลง ก็คือเลิกยุ่งเรื่องหุ้นแล้ว มันกลับให้ข้อคิดแก่เราว่า รักจะเป็นนักเลงหุ้นที่เก่ง อย่าไปตามชาวบ้าน ต้องศึกษาข้อมูลทุกด้านให้ละเอียด พ่อเคยเจ็บยิ่งกว่านี้ เคยขาดทุนมาไม่รู้กี่มากน้อย เรายังโชคดีที่มีฐานแน่นพอควร ผมเลยตั้งใจว่า จะต้องเรียนรู้กลวิธีเรื่องหุ้นให้ถึงที่สุด"

เมื่อกลับกรุงเทพฯ เชิดชูเข้าเป็นกรรมการแบงก์กรุงเทพพักหนึ่ง ก่อนจะลาออกให้ ชาญ พี่ชายเป็นแทน ส่วนตัวเองมุ่งเข็มตั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงเทพธนาทร ใน ปี 2519 ซึ่งประสบผลสำเร็จในฐานะโบรกเกอร์ชั้นนำ และได้เป็นผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของกระทรวงการคลังในยุคนั้นด้วย

"ผมให้ความสนใจหุ้นมาก ถ้าผมซื้อผมคิดว่า คงไม่พลาดแน่นอน ขณะพี่ชาตรีสนใจอุตสาหกรรมใหม่ๆ ในฐานะนายแบงก์ แต่ผมสนใจตัวเก่าๆ ที่เห็นว่า มันไม่ดีและต้องทำให้มันดีขึ้น"

ประมาณเดือนสิงหาคม 2521 เชิดชูประสบอุบัติเหตุถูกรถชนสลบไป 2 สัปดาห์ ตกเป็นข่าวใหญ่หน้า 1 ในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ เล่ากันว่า เขาละเมอเพ้อพกแต่เรื่องหุ้น "หุ้น..หุ้น..หุ้นเป็นอย่างไงบ้าง?" เพราะช่วงนั้นภาวะหุ้นบูมมาก โดยเฉพาะหุ้นปูนใหญ่ ที่เชิดชู และแบงก์กรุงเทพถือไว้มากหลายแสนหุ้น

หลังอุบัติเหตุใหญ่ครั้งนั้น เชิดชูบอกว่า "ผมว่าผมฉลาดขึ้นเสียอีก"

จากวันนั้นถึงวันนี้ เชิดชูยังคงเก่งแบบข้ามาคนเดียว ที่ชอบอยู่เงียบๆ และยังมีจิตใจรักการลงทุนในหุ้นแบบเซียนตัวจริง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.