ฟันธงดบ.อาร์/พีขยับ0.25% ธปท.อิงปัจจัยภายใน แบงก์ชี้หวังลดช่วงห่างเฟด


ผู้จัดการรายวัน(7 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

"หม่อมอุ๋ย" ยันแบงก์ชาติยึดปัจจัยในประเทศเป็นหลักในการพิจารณาปรับดอกเบี้ยอาร์/พี โดย เฉพาะเรื่องเงินเฟ้อที่สูงขึ้น พร้อมยอมรับผิดหลังคาดการณ์ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะกลับเป็นบวกตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา อ้างเหตุราคาน้ำมันพุ่งไม่หยุด ด้านคนในวงการตลาดการเงิน-ตลาดทุน มั่นใจธปท.ขึ้นดอกเบี้ยอาร์/พีอีก 0.25% เพื่อ ลดช่วงห่างกับดอกเบี้ยเฟด แต่เชื่อว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะไม่รุนแรงและไม่ปรับขึ้นบ่อยครั้ง

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึง การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในวันนี้ (7 ก.ย.) ว่า ธปท. จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน (อาร์/พี) หรือไม่นั้น จะพิจารณาจากปัจจัยภายในประเทศ รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นหลักมากกว่าการดูปัจจัยจากต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ธปท.จะพิจารณาแนวโน้ม อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ด้วย ซึ่งแนวโน้มความเคลื่อนไหวของเฟดในระยะนี้ น่าจะเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงก่อน เพราะสถานการณ์ของสหรัฐฯ ได้เปลี่ยนแปลงไปทั้งด้านภาวะเศรษฐกิจ และผลกระทบจาก เฮอริเคนแคทรีนา

"การตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ไม่หนักใจ เพราะทุกอย่างเดินมาด้วยดี และไม่ได้รับแรงกดดันจากปัจจัยรอบข้างอะไร เศรษฐกิจไทยก็เริ่มเดินแล้ว สบายใจได้" ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวเพิ่มเติมถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงว่า หลังจากที่รัฐบาลประกาศปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันจะช่วยชะลอการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อลงได้บ้าง และ ทำให้ดอกเบี้ยในตลาดเงินสามารถปรับเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อได้ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็น บวกในอนาคตจากปัจจุบันที่ติดลบอยู่ 3-4%

"ต้องรอดูก่อนอย่าเพิ่งใจร้อน หลังจากลอย ตัวราคาน้ำมันดีเซลไปแล้วประมาณ 2 เดือน การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อของไทยอาจจะไม่กระโดดมากเหมือนกับในช่วง 2 เดือนแรกของการลอยตัวราคาดีเซลที่อัตราเงินเฟ้อเดือนนี้เพิ่ม ขึ้นสูงถึง 5.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน"

ทั้งนี้ เดิม ธปท.คาดว่า ดอกเบี้ยที่แท้จริงจะเริ่มกลับมาเป็นบวกในกลางปีนี้ แต่ขณะนี้ยังติดลบอยู่ ดังนั้น การที่ดอกเบี้ยที่แท้จริงจะกลับมาเป็นบวกอาจจะต้องใช้เวลานานขึ้นกว่าเดิมซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าจะกลับเป็นในช่วงเวลาใด

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ธปท. น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาร์/พี อีก 0.25% เพื่อเป็นการรักษาระดับความ ต่างระหว่างอัตรา ดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ และผลจากการที่อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น

การปรับดอกเบี้ยดังกล่าว ไม่ได้เป็นการปรับเพื่อดึงเม็ดเงินต่างเข้ามาในตลาดหุ้นไทย แต่จะเป็นการปรับเพื่อรักษาส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้มีส่วนต่างที่ประมาณ 0.75%Ž

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า การประชุมเฟดในวันที่ 9 ก.ย.นี้ อาจจะไม่มีการประกาศขึ้นดอกเบี้ย หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยลดความกดดันให้กับไทยที่มีส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ทำให้ประเทศไทยไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยที่เร็ว

ด้านธนาคารพาณิชย์อย่าง นางชาลอต โทณวณิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารยังไม่มีนโยบายปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์และเงินกู้ แม้ว่าในวันนี้ธปท.น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอาร์/พี เพื่อลดช่องว่างดอกเบี้ยของไทยและเฟด เนื่องจากสภาพ คล่องในระบบยังเหลืออยู่ประมาณ 400,000 ล้านบาท รวมทั้งจะต้องรอดูมาตรการการดูดซับสภาพคล่องของ ธปท. และมาตรการกระตุ้นเงินออมก่อน

"การขึ้นอาร์/พี มีผลกระทบกับธนาคารพาณิชย์น้อยมากเมื่อเทียบกับต้นทุนที่ปรับ เพิ่มขึ้นจากการแข่งขันขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อระดมเงินฝากในระยะยาวในช่วงที่ผ่านมา แต่ถ้ามีการขยับดอกเบี้ยออมทรัพย์น่าจะกระทบกับดอกเบี้ยเงินกู้ด้วย เพราะเงินฝากออมทรัพย์เป็นฐานเงินฝากที่ใหญ่ที่สุดประมาณ 50-70% ของเงินฝากทั้งหมด"

นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์(บล.)พัฒนสิน จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า ธปท.น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอาร์/พี อีก 0.25% หลังจากที่ผู้ว่าการธปท. ได้ส่งสัญญาณมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตาม ไปด้วย

ด้านบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมิน ว่า ธปท.น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% มากกว่าที่จะปรับขึ้น 0.50% ทำให้อัตราดอกเบี้ยขยับจาก 2.75% เป็น 3.00% เพราะการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่รุนแรง นอกจากจะไม่ช่วยลดความเสี่ยงทางด้านอัตราเงินเฟ้อที่เกิดจากปัจจัยทางด้านอุปทานหรือราคาน้ำมันแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบในทางลบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ภายในประเทศให้ยิ่งถดถอยลงไปมากกว่า เดิม

หากธปท. ขึ้นดอกเบี้ยอาร์/พีแค่ 0.25% จะส่งผลดีสำหรับการรักษาค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐฯและไทยให้คงไว้ที่ระดับเดิม เพราะคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมครั้งต่อไปเช่นเดียวกัน คือจาก 3.50% เป็น 3.75%Ž


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.