Cultivationg Communities of Practice


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

มองวิธีบริหารความรู้แบบเก่าด้วยมุมมองใหม่

"Communities of Practice" คืออะไร คณะผู้แต่งซึ่งล้วนเป็นที่ปรึกษาองค์กรผู้มีประสบการณ์สูง และผู้เชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว เขียนไว้ว่า คือ "กลุ่มของคนที่มีความวิตกกังวลหรือปัญหาร่วมกัน หรือสนใจในเรื่องเดียวกัน โดยที่สมาชิกแต่ละคนของกลุ่มจะสามารถเพิ่มพูนความรู้ และความชำนาญในการแก้ไขปัญหานั้นๆ หรือในเรื่องนั้นๆ จากการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างสมาชิกอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ"

กลุ่ม "แบ่งปันความรู้" ซึ่งเกิดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการนี้ อาจเป็นได้ตั้งแต่กลุ่มของวิศวกรที่มารวมกลุ่มกันเพื่อพูดคุยถึงปัญหาต่างๆ ที่พวกเขาพบในการทำงาน ไปจนถึงกลุ่มพ่อบ้านแม่บ้านที่มานั่งดูทีวีไปพลาง คุยกันไปพลางถึงเคล็ดลับการเลี้ยงลูกของแต่ละคน

จะเห็นว่า กลุ่มแบ่งปันความรู้ หาได้จำเป็นต้องเป็นการรวมกลุ่มของคนที่ทำงานด้วยกันทุกวันไม่ หากแต่เป็นใครก็ได้ที่เห็นว่าการรวมกลุ่มแบบนี้มีประโยชน์ ในแง่ที่ทำให้พวกเขาได้รับความรู้เพิ่มขึ้น

จากการพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการนั้น เพราะเมื่อพวกเขาได้มาพบปะสังสรรค์พูดคุยกัน พวกเขากำลังแลกเปลี่ยนแบ่งปันข้อมูล เคล็ดลับ และความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ช่วยเหลือ กันและกันในการแก้ปัญหาของแต่ละคน และได้มีโอกาสพูดคุยกันถึงความต้องการหรือความวิตกกังวลที่พวกเขามีร่วมกัน

กลุ่มแบ่งปันความรู้มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน และเป็นวิธีพื้นฐานที่มนุษย์เราใช้ในการแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดและมุมมอง ในประเด็นหรือองค์ความรู้ต่างๆ มานานแล้ว ในยุคกลาง สมาคมช่างต่างๆ ก็คือรูปแบบของการรวมกลุ่มแบบนี้ และทำหน้าที่เป็นกลุ่มแบ่งปันความรู้ของช่างฝีมือในยุโรป

มาถึงยุคปัจจุบัน การรวมกลุ่มในลักษณะนี้มีให้เห็นทุกหนทุกแห่ง และเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพียงแค่คนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกันได้มาพบและพูดคุยกันในสิ่งที่พวกเขาสนใจร่วมกัน สมาชิกของกลุ่มจึงมีทั้งที่เป็นขาประจำและขาจร

ผู้แต่งชี้ว่า กลุ่มแบ่งปันความรู้คือวิธีบริหารความรู้แบบเก่าที่ยังสามารถใช้ได้ดีในยุคปัจจุบัน และควรจะได้รับการส่งเสริมให้มีบทบาทสำคัญในธุรกิจสมัยใหม่ ในยุคที่เศรษฐกิจใช้ความรู้เป็นฐานการเติบโตอย่างยุคนี้ด้วย ผู้จัดการมีหน้าที่ต้องผลักดันให้เกิดกลุ่มแบ่งปันความรู้อย่างเป็นระบบทั่วทั้งองค์กร

ตามให้ทันการเปลี่ยนแปลง

กุญแจความสำเร็จในยุคที่โลกเข้าสู่เศรษฐกิจความรู้คือ ทำอย่างไรจึงจะทำให้เรามีความรู้ที่ทันสมัยอยู่เสมอ รู้วิธีที่จะใช้ความรู้นั้นให้เป็นประโยชน์ ทำอย่างไรจึงจะนำความรู้นั้นมาเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่การปฏิบัติงาน และทำอย่างไรจึงจะสามารถกระจายเผยแพร่ความรู้นั้นไปทั่วทั้งองค์กร เนื่องจากความรู้ในทุกวันนี้มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นทุกวัน ในขณะที่เศรษฐกิจความรู้ก็กำลังขยายตัวไปทั่วโลก

ผู้แต่งจึงชี้ว่า ขณะนี้องค์กรกำลังต้องการให้มีกลุ่มแบ่งปันความรู้หลายๆ กลุ่มในองค์กร เพื่อให้ครอบคลุมความรู้ที่สำคัญๆ ทุกอย่างในปัจจุบัน โดยแต่ละกลุ่มจะต้องมุ่งความสนใจไปที่ประเด็นความรู้สำคัญๆ ประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ทั้งนี้ก็เพื่อตามให้ทันการเปลี่ยนแปลงของยุคนี้

กลุ่มแบ่งปันความรู้จะมีบทบาทสำคัญอย่างมาก ในการเพิ่มพูนความได้เปรียบในการแข่งขันและความสำเร็จในขอบข่ายทั่วโลกของบริษัท แม้กระทั่งในเรื่องของการสรรหาบุคลากร ทั้งนี้เพราะกลุ่มแบ่งปันความรู้เกิดขึ้นได้ เพราะความรู้มิใช่เป็นเพียงเรื่องเฉพาะบุคคลเท่านั้น แต่ยังมีมิติในเชิงสังคมด้วย ผู้จัดการมีหน้าที่ที่จะต้องมองเห็นคุณค่าของมิติเชิงสังคมของกลุ่มแบ่งปันความรู้ และควรตระหนักว่า "โครงสร้างแบบเดิมๆ ของบริษัทไม่มีความสามารถพอที่จะแก้ไขปัญหาที่สัมพันธ์กับความรู้ได้อย่างมีประสิทธิผล อย่างที่ทำได้กับการแก้ไขปัญหาเชิงประสิทธิภาพและความรับผิดชอบ"

ผู้แต่งชี้ว่า กลุ่มแบ่งปันความรู้ต่างหากที่เป็นโครงสร้างเชิงสังคมที่สมบูรณ์แบบที่สุด ที่ควรจะนำมาใช้ในการ "ดูแล" ความรู้ ผู้จัดการสามารถจะช่วยให้เกิดกลุ่มเช่นนี้ขึ้นได้ ด้วยการมอบหมายความรับผิดชอบให้แก่กลุ่มพนักงานที่เป็นผู้ผลิต และแบ่งปันความรู้ในเรื่องเดียวกัน และด้วยการปลูกฝังการรวมกลุ่มทางสังคมแบบนี้ให้มีขึ้นในองค์กรอย่างเป็นปกติ เพื่อให้กลุ่มเหล่านี้ทำหน้าที่ "หล่อเลี้ยงความรู้ให้งอกงามเติบโต"

หลากหลายรูปแบบของกลุ่มแบ่งปันความรู้

กลุ่มแบ่งปันความรู้หนึ่งๆ อาจประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญเพียงไม่กี่คน หรือมีสมาชิกเป็นร้อยๆ คนก็ได้ แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ควรจะต้องมีการแบ่งซอยเป็นกลุ่มย่อยๆ หรือประเด็นย่อยๆ ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมแบ่งปันความรู้ของตนแก่กลุ่ม บางกลุ่มอาจมีอายุแค่ไม่กี่ปี ในขณะที่บางกลุ่มกลับมีอายุยืนยาวนับร้อยๆ ปี โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการส่งต่อทักษะกันจากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งอย่างไม่ขาดสาย

กลุ่มแบ่งปันความรู้อาจไม่ต้องพบหน้ากันแต่ใช้การติดต่อสื่อสารผ่าน e-mail หรืออาจเป็นกลุ่มที่พบหน้าค่าตากันเป็นประจำก็ได้ สมาชิกอาจเป็นคนที่ทำงานในสายงานเดียวกัน หรืออาจมีภูมิหลังที่แตกต่างกันก็ได้ แต่ไม่ว่าจะมีความหลากหลายเพียงใดก็ตาม ทุกๆ กลุ่มจะมีโครงสร้างหลักที่เหมือนกันอยู่ 3 ประการคือ

1. ขอบเขตความรู้ของกลุ่ม สมาชิกทุกคนของกลุ่มจะต้องมีความรู้ในเรื่องเดียวกัน ยิ่งขอบเขตความรู้ของกลุ่มชัดเจนมากเท่าไร กลุ่มก็จะยิ่งแม่นยำในวัตถุประสงค์ของกลุ่มมากเท่านั้น ซึ่งย่อมเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นของบริษัท

2. มีความเป็นกลุ่มสังคม กลุ่มจะต้องมีลักษณะเป็นเครือข่ายสังคมแห่งการเรียนรู้ กลุ่มแบ่งปันความรู้ที่เข้มแข็งจะส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์กัน และการสร้างความสัมพันธ์กันระหว่างสมาชิก โดยมีพื้นฐานอยู่บนความเคารพนับถือและความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

3. มีแนวทางสำหรับปฏิบัติได้จริง กลุ่มเป็นที่รวมของกรอบความคิด ความคิด เครื่องมือ ข้อมูล รูปแบบการแก้ปัญหา และเอกสารต่างๆ ที่สมาชิกนำมาแบ่งปันแลกเปลี่ยนกัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.