|

เชลล์แนะลดค่ากลั่น-ภาษี บรรเทาปัญหาน้ำมันแพง
ผู้จัดการรายวัน(7 กันยายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"เชลล์" เรียกร้องรัฐเจรจาโรงกลั่น ลดค่าการกลั่นลงบาร์เรลละ 4-5 เหรียญ หรือลดภาษี เพื่อผู้ค้าจะได้ไม่ต้องขึ้นราคาน้ำมัน ระบุปิดปั๊มเร็วขึ้นไม่ช่วยอะไรนอกจากเด็กปั๊มตกงาน "ทักษิณ" สั่งสรุปมาตรการบังคับประหยัดพลังงานให้เสร็จ ก่อนไปนอก เล็งบังคับแท็กซี่ป้ายแดงใช้เอ็นจีวี ครม.อนุมัติ ปตท.นำเข้าเอทานอลจากอินเดียแก้ปัญหาขาดแคลน
นายธีรพจน์ วัชราภัย ประธานบริษัทเชลล์ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า หลังจากที่เกิดพายุเฮอริเคนแคทรีนา ส่งผลให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปปรับสูงถึง 7-8 เหรียญต่อบาร์เรล ทำให้เบนซินมีค่าการตลาดติดลบรวม 5 บาท (รวมค่าการตลาดที่เหมาะสม 1.50 บาทต่อลิตร) ดังนั้น สัปดาห์นี้ผู้ค้าจำเป็นจะต้องปรับราคาเบนซิน 40 สตางค์-1 บาท ต่อลิตร ส่วนดีเซลอาจจะปรับด้วยหากรัฐไม่มีมาตรการช่วยเหลือ
นายธีรพจน์กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลเจรจาให้โรงกลั่นน้ำมันลดค่าการกลั่นลงมา จากปัจจุบันที่มีค่าการกลั่นสูงถึง 10-12 เหรียญ อยากให้ลดลง 4-5 เหรียญต่อบาร์เรล หรือถ้าไม่ลดค่าการกลั่นรัฐก็ควรปรับโครงสร้างภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาลที่เก็บจากน้ำมันรวมประมาณ 1.64 บาทต่อลิตรให้ลดลง อนึ่ง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งรัฐบาล ถือหุ้นใหญ่ เป็นเจ้าของโรงกลั่นรายใหญ่ที่สุดในประเทศ คือถือหุ้น 100% ในโรงกลั่นระยองถือหุ้นใหญ่ในโรงกลั่นสตาร์ ปิโตรเลียมรีไฟนิ่ง โรงกลั่นไทยออยล์ และโรงกลั่นบางจาก ค้านปิดปั๊มเร็วขึ้น
ส่วนมาตรการปิดปั๊มน้ำมันให้เร็วขึ้น นาย ธีรพจน์กล่าวว่า "เป็นการประหยัดที่ไม่ถูกวิธี และเป็นการซ้ำเติมผู้ค้า เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงอยู่แล้ว แต่ยังขายได้ต่ำอีก เด็กปั๊มจะตกงาน การช่วยเหลือต้องไม่กดราคาในประเทศ แต่ต้องสะท้อนความจริงเพื่อให้เกิดการประหยัด และควรช่วยแบบรายอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ" นายธีรพจน์กล่าว
ด้านนายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บางจากพร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการปิดปั๊มน้ำมันเร็วขึ้น 1 ชม. แม้ว่าจะกระทบต่อยอดขายน้ำมันบ้าง โดยบางจากยืนยันว่าจะไม่มีการปรับลดการจ้างงานเด็กปั้ม แต่จะปรับให้ไปทำงานในกะกลางวันมากขึ้น เพราะคาดว่าจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการในช่วงดังกล่าวมาก สรุปมาตรการประหยัดวันนี้
น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.สัญจร ที่พังงา วานนี้ (6 ก.ย.) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายก-รัฐมนตรี ได้สั่งการให้นายวิเศษ จูภิบาล รมว.พลังงาน ไปศึกษาหาแนวทางการประหยัดพลังงานภายในประเทศเพื่อรองรับวิกฤตราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นโดยเร็ว โดยจะต้องรายงานกลับมาให้ทราบภายในวันที่ 8 ก.ย.นี้ ก่อนที่จะเดินทางไปต่างประเทศถึง 10 วัน หากมาตรการมีข้อสรุปทันทีก็สามารถประกาศใช้ได้เลย
นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า วันนี้จะประชุมร่วมกับผู้ค้าน้ำมัน โรงกลั่น กรมขนส่งทางบก และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อพิจารณา ตัวเลขต้นทุนทั้งด้านการขนส่ง แนวโน้มราคาสินค้าต่างๆ เพื่อกำหนดมาตรการรองรับวิกฤตราคาน้ำมันแพง ซึ่งจะพยายามสรุปให้ได้ภายในวันนี้เพื่อที่จะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีให้ทันภายในวันที่ 8 ก.ย. ส่วนแนวทางการตั้งกองทุนเพื่อดูแลภาคการขนส่ง นายเชิดพงษ์กล่าวว่า เป็นประเด็นที่หารือกันอยู่แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะหาเงินมาจากที่ใด บังคับรถแท็กซี่ใหม่ใช้ NGV
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานกล่าวว่า หลังจากที่นายกฯสั่งให้เร่งสรุปแผนประหยัดพลังงาน กระทรวงพลังงานจึงได้หารือด่วนเกี่ยวกับมาตรการ ที่จะบังคับประหยัด โดยทางกระทรวงพาณิชย์ และกรมขนส่งทางบกได้ส่งรายงานตัวเลขต่างๆ มาแล้ว เพื่อนำมาสรุปในการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพลังงานที่มี รมว.พลังงานเป็นประธาน โดยเบื้องต้นมาตรการที่จะนำมาพิจารณาได้แก่ การที่จะเสนอให้กรมขนส่งทางบกออกมาตรการบังคับให้รถแท็กซี่ออกใหม่ทุกคันจะต้องติดตั้งอุปกรณ์การใช้ NGV แทนการใช้น้ำมัน และมาตรการที่จะส่งเสริมรถยนต์ส่วนบุคคลติดตั้ง NGV เพิ่มมากขึ้น
"มาตรการเดิมๆที่เคยหารือกันไว้ 12 มาตรการ เราจะไม่นำกลับมาพิจารณาอะไรอีก แต่จะเป็นมาตรการใหม่ที่เหมาะสม ส่วนมาตรการปิดปั๊มให้เร็วขึ้น 1 ชั่วโมงก็จะนำมาหารือกันว่าจะกระทบกับการจ้างงานไหม เช่นเดียวกับการตั้งกองทุนอุ้มค่าขนส่งจะหารายได้มาจากไหน"
แหล่งข่าวกล่าว เปิดปั๊มตี 5
นายทรงกลด อุบลสิงห์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯได้ เสนอไปยังสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ให้กำหนดเวลาการปรับขึ้นราคาน้ำมันจากเดิม 06.00 น. เป็น 05.00 น.แทน เนื่องจากขณะนี้ได้มีประชาชนร้องเรียนผ่านสายด่วน 1569 และเจ้าหน้าที่สายตรวจของกรมการค้าภายใน ว่าอยากให้รัฐเข้ามาดูแลและแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของเวลาในการเติมน้ำมันตามปั๊มน้ำมันของวันที่มีการปรับขึ้นราคา โดยผู้ร้องเรียนระบุว่า ได้มีการเข้าไปต่อคิวในการเติมน้ำมันก่อนเวลา 06.00 น. ประมาณ 5-10 นาที แต่เมื่อถึงคิวของตนเองแม้ยังไม่ถึงเวลา 06.00 น. หัวจ่ายก็ได้ปรับขึ้นราคาโดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นข้อถกเถียงกันว่าควรเป็นราคาเดิมหรือราคาใหม่ เพราะได้มีการเข้ามาต่อคิวในการเติมน้ำมันก่อนเวลา 06.00 น. ซึ่งถูกกำหนด ว่าใช้เป็นเวลาในการปรับขึ้นราคาได้
แหล่งข่าวกล่าวว่า การเลื่อนเวลากำหนดการปรับขึ้นราคาน้ำมันอีก 1 ชม.จาก 06.00 น. เป็น 05.00 น. เป็นสิ่งที่บริษัทน้ำมันพอใจ เพราะต้องการหาทางออกในกรณีที่รัฐบาลกำหนดขอให้ปั๊มน้ำมันมีการลดเวลาการให้บริการลง เนื่องจากต้องการประหยัดพลังงาน
"สมคิด" ย้ำประชาชนต้องปรับตัว
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องวางแผนเพื่อให้เศรษฐกิจอยู่ได้อย่างมั่นคง ซึ่งหากน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จะทำให้สิ่งแวดล้อมต่างๆ เปลี่ยนไป เช่น มีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ราคาวัตถุดิบสูงขึ้น ซึ่งยอมรับว่าการส่งออกและการท่องเที่ยวไม่ใช่ว่าจะทำได้ง่าย ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีการวางแผนเตรียมตัวเพื่อรับปัญหากรณีที่น้ำมันสูงถึง 70 เหรียญสหรัฐ โดยตนได้หารือกับกระทรวงพลังงานเกี่ยวกับนโยบายการประหยัดพลังงานเป็นระยะๆ และเห็นว่าประชาชนจะต้องปรับตัวในการใช้รถส่วนตัวเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาจราจร และปัญหาน้ำมันราคาแพง โดยประชาชนจะต้องรู้สึกเองก่อนมากกว่าที่รัฐบาลจะเป็น ผู้ประกาศหรือบังคับ รวมทั้งในส่วนของมาตรการที่ผู้ใดใช้พลังงานมากก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากราคาน้ำมัน กระทรวงพาณิชย์จะคอย จับตาดูสินค้าอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ 2 ประเภทคือสินค้าประจำวัน และสินค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งในส่วนของผู้ประกอบการหากรายใดมีปัญหาเรื่องต้นทุนจริงๆ ก็ให้เสนอมายังกระทรวงพาณิชย์ และจะพิจารณาให้
จี้รัฐจริงจังเรื่องเอทานอล
ที่ประชุม ครม.วานนี้ ครม.ยังได้อนุมัติตามที่กระทรวงพลังงานเสนอเพื่อการนำเข้าเอทานอลจากประเทศอินเดียล็อตแรกจำนวน 7-8 ล้านลิตร เพื่อทดแทนเอทานอลในประเทศที่ขาดแคลนชั่วคราว เนื่องจากผู้ผลิตเอทานอลในไทยไม่สามารถเดินเครื่องผลิตตามแผนงาน โดยพิจารณาให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) นำเข้าเอทานอลที่จะนำมาผลิตแก๊สโซฮอล์จำนวน 7-8 ล้านลิตรในช่วงเดือนกันยายนนี้ ซึ่งราคาอยู่ที่ 16-17 บาทต่อลิตร เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอกับการใช้แก๊สโซฮอล์ช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค. ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณการใช้อยู่ 2.3 ล้านลิตร ต่อวัน
นายประสิทธิ์ ใจศิล รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การ นำเข้าเอทานอลเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อป้องกันการขาดแคลนเท่านั้น ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตเอทานอลในประเทศ เนื่องจากราคานำเข้าเมื่อบวกค่าขนส่งแล้วสูงกว่าราคาเอทานอลที่ผลิตได้เองในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาซัปพลายวัตถุดิบและราคาเอทานอลเป็นปัญหาที่รัฐบาลจะต้องเข้ามาจัดการให้ชัดเจน เพราะเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตเอทานอล โดยเฉพาะโรงงานที่ใช้กากน้ำตาลมาผลิต มีต้นทุนการผลิตสูงมากจากราคากากน้ำตาลที่สูงถึง 4,500 บาท/ตัน คิดเป็น ต้นทุนผลิตต่อลิตรแล้วมากกว่า 20 บาท ขณะที่ราคา เอทานอลรัฐควบคุมไว้ที่ 15 บาท/ลิตร
ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซิน 95 รัฐบาลกลับปล่อยให้ลอยตัวเสรี ทำให้ช่องว่างระหว่างราคา เอทานอลกับเบนซิน 95 สูงกว่า 10 บาท/ลิตร รัฐบาลควรปล่อยราคาเอทานอลให้มีความยืดหยุ่นบ้าง เพื่อจูงใจให้เกิดการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม โดยให้ราคา เอทานอลห่างจากราคาเบนซิน 95 ให้อยู่ในระดับ 5 บาท/ลิตร
นอกจากนี้ ในแง่ของผู้ประกอบการที่ขออนุญาตจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอลทั้ง 24 บริษัท 25 โรงงานทั่วประเทศ ในทางปฏิบัติมีโรงงานที่ดำเนินการจริงจังน้อยมาก ที่ผลิตไปแล้วประมาณ 3 บริษัท และอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 2 บริษัทเท่านั้น รัฐบาลควรมีแผนหรือมาตรการควบคุมที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้ประกอบการก่อสร้างและดำเนินการผลิตตามที่ได้รับอนุมัติ
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|