The Venture Café


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

เรื่องจริงจากผับ Muddy Charles

Muddy Charles เป็นชื่อของผับแห่งหนึ่งที่ไม่ได้มีอะไรสะดุดตาแม้แต่นิดเดียว Muddy Charles คงเป็นแค่ผับธรรมดา หากไม่ได้ตั้งอยู่ภายในบริเวณมหาวิทยาลัย MIT และไม่ได้เป็น ที่พบปะกันของบรรดาศิษย์เก่าของสถาบันอันเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ แห่งนี้

บรรดาศิษย์เก่าเหล่านี้ต่างก็ได้แยกย้ายกันออกไปสร้างธุรกิจไฮเทคของตนเอง โดยเริ่มต้นจากศูนย์จนประสบความสำเร็จ พวกเขายังคงชอบกลับมายังผับที่ตั้งอยู่ในสถานศึกษาเก่า เพื่อนั่งดื่มและพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวที่ได้เผชิญมา

Teresa Esser ผู้แต่งเป็นศิษย์เก่าคนหนึ่งของ MIT สามีของเธอเป็นขาประจำคนหนึ่งของ Muddy Charles เขาเป็นอดีตนักศึกษาของ MIT ผู้ตัดสินใจลาออกกลางคันเพื่อไปเริ่มต้นธุรกิจไฮเทคที่ประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา Esser เขียนหนังสือเล่มนี้ เพื่อแบ่งปันบทเรียนมากมาย ที่เธอได้เก็บรับมาตลอดเวลาหลายปี จากการพูดคุยกับบรรดาเถ้าแก่ศิษย์เก่าของ MIT เหล่านี้

Esser บอกว่าจุดประสงค์ที่เขียนหนังสือเล่มนี้ก็เพื่อ "ค้นหาว่าอะไรที่ทำแล้วได้ผล และอะไรที่ทำแล้วไม่ได้ผลจากคนที่รู้จริง ได้แก่ นักลงทุนที่กล้าเสี่ยงให้เงินสนับสนุนบริษัท ที่ตั้งใหม่ ผู้ประกอบการที่หาญกล้าริเริ่มธุรกิจใหม่ ประธานกรรมการบริหาร (CEO) นักเทคโนโลยี และคู่สมรสของบุคคลทั้งหมดที่กล่าวมา" เธอเริ่มต้นด้วยการตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์เก่าร่วมสถาบันที่มารวมตัวกัน ณ ผับดังกล่าว

เพื่อค้นหาว่า พวกเขามีหลักอย่างไรในการตัดสินว่า ใครที่ควรไว้วางใจและพวกเขามีวิธีสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนเก่าร่วมสถาบันอย่างไร

ด้วยการสัมภาษณ์มืออาชีพด้านไฮเทคมากกว่า 150 คน Esser สามารถรวบรวมข้อมูลได้มากพอ ที่จะช่วยให้คุณสามารถกำหนดกลยุทธ์และแผนการก้าวเข้าสู่การเป็นเถ้าแก่หน้าใหม่ในตลาดธุรกิจไฮเทคได้ หลังจากได้พูดคุยทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการกับบรรดาผู้ที่รู้จริงเรื่องการเริ่มสร้างธุรกิจไฮเทคตั้งแต่ California จนถึง New York มาเป็นเวลาถึง 2 ปีครึ่ง ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือหนังสือเล่มนี้ ที่อัดแน่นไปด้วยประสบการณ์ ทักษะ และ know-how ที่ Esser รวบรวมมาได้จากปากคำของบรรดาศิษย์เก่า MIT ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถหลีกเลี่ยงการทำความผิดพลาดอย่างที่พวกเขาเคยทำผิดมาแล้ว ตลอดเส้นทางการก้าวสู่การเป็นเถ้าแก่หน้าใหม่ในธุรกิจไฮเทคของคุณ

คุณพร้อมแค่ไหนที่จะเป็นเถ้าแก่

คุณมีจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการหรือเปล่า ตัวอย่างมากมายที่ชี้ให้เห็นว่าอะไรที่เรียกว่าการมีจิตวิญญาณของผู้ประกอบการที่ Esser หยิบยกมาบรรจุไว้ในหนังสือเล่มนี้นั้น มักเกี่ยวข้องกับความสามารถในการรับความเสี่ยง Esser ยังชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างคนที่เต็มใจจะเสี่ยงเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้น กับคนอีกพวกหนึ่งที่ยากจะสละความมั่นคงและความสุขสบายในชีวิต เพื่อออกค้นหาอิสรภาพและความฝัน

Esser เล่าถึงบุคคลต่างๆ และเรื่องราวของพวกเขา ที่ตอกย้ำให้เราเห็นถึงพลังของความสามารถในการรับความเสี่ยง ซึ่งเป็นบทเรียนล้ำค่าที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ สำหรับผู้ที่ตัดสินใจจะเป็นผู้กุมชะตาชีวิตของตนเอง และท้าทายตัวเองด้วยปัญหา ที่ยากที่สุดในชีวิต

ประสบการณ์มีค่าต่างๆ ที่ Esser รวบรวมมาไว้ในหนังสือเล่มนี้ ตลอดจนคำพูดเป็นกำลังใจต่างๆ ของเธอ ได้ให้คำแนะนำและแนวทางที่อัดแน่นไปด้วยสาระ สำหรับผู้ที่รักจะเป็นเถ้าแก่หน้าใหม่ ได้เรียนรู้และเตรียมตัวที่จะเผชิญปัญหาไว้ก่อน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องพบกับความเจ็บปวด เมื่อต้องเผชิญปัญหาที่ไม่คาดฝันในการริจะเป็นเถ้าแก่

จิตวิญญาณเถ้าแก่

เมื่อใครคนหนึ่งเชื่อว่าตนมี "จิตวิญญาณผู้ประกอบการ" แล้ว ก็ถึงเวลาที่เขาจะต้องรวบรวมความเชื่อมั่นศรัทธาในตัวเอง และตัดสินใจมุ่งมั่นสร้างธุรกิจให้สำเร็จให้จงได้ การตั้งบริษัทจำเป็นต้องมีตาข่ายนิรภัยทางการเงิน (financial safety net) ก่อนเป็นอันดับแรก และผู้ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยบริษัทเกิดใหม่สร้างตาข่ายนิรภัยทางการเงินดังกล่าวก็คือ

นักลงทุนที่ชอบสนับสนุนบริษัทตั้งใหม่ (venture capitalist)

เงินทุนจากนักลงทุนประเภทนี้จะช่วยพยุงค้ำจุนเถ้าแก่รายใหม่ จนกว่าพวกเขาจะสามารถลงหลักปักฐานบริษัทเกิดใหม่ของตนได้สำเร็จ เรื่องจริงต่างๆ ที่ Esser เล่ายังชี้ด้วยว่า การเตรียมพร้อมอย่างเข้มข้นในช่วงแรกๆ ของการตั้งบริษัท มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของบริษัทในอนาคต การเตรียมพร้อมเหล่านี้ก็เช่น การฝึกอบรมด้านเทคนิค และการพบปะพูดคุยกับผู้ประกอบการด้วยกัน

เรื่องจริงที่ Esser ยกมายังรวมถึงการริเริ่มธุรกิจที่ประสบความล้มเหลว ความแตกต่างของผู้ประกอบการแต่ละรายในความพยายามปกป้องความคิดของตนอันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัท Esser ได้เสนอเคล็ดลับหลายอย่างให้เถ้าแก่หน้าใหม่สามารถประหยัดค่าจ้างทนายด้านสิทธิบัตร และสามารถปกป้องเทคโนโลยีใหม่ที่ตนคิดค้นขึ้นซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทได้

จากนั้นเธอได้แนะนำเทคนิคการดึงดูดคนเก่งๆ ให้มาทำงานกับบริษัทเกิดใหม่ ทำอย่างไรบริษัทเล็กๆ ที่เพิ่งตั้งใหม่จึงจะสามารถจ้างคนที่ดีที่สุดได้ วิธีตรวจสอบหลักฐานอ้างอิงประกอบการสมัครงานของผู้สมัคร และวิธีรักษาบุคลากรให้อยู่กับบริษัทนานๆ ด้วยการไม่ให้พวกเขาเกิดความเหนื่อยหน่ายเนื่องจากถูกใช้งานหนักเกินกำลัง

ประเด็นอื่นๆ ที่ Esser ได้กล่าวถึงอย่างน่าสนใจได้แก่ นักลงทุนมองหาอะไรขณะที่เขากำลังประเมินความน่าลงทุนของบริษัทเกิดใหม่ บทเรียนอันเจ็บปวดของธุรกิจดอทคอม จะหา CEO ที่ "ใช่" ได้อย่างไร วิธีระดมทุนผ่านสื่อ และเมื่อไรจึงจะได้เวลาเก็บเกี่ยวผลสำเร็จอันหอมหวานจากธุรกิจที่คุณบรรจงสร้างขึ้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.