สีซอ ตอนที่ 2

โดย อเนกระรัว
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ตอนที่แล้ว ผมได้เกริ่นเรื่องการหัดสีซอฝรั่งหรือ Violin ให้ได้ความในเบื้องต้น หลังจากที่ได้ทำความรู้จักเครื่องดนตรีชิ้นนี้แล้ว ซึ่งบางท่านอาจค้นคว้าเพิ่มเติมทั้งจากจาก Web site ที่ได้แนะนำไปหรือจากหนังสือตำรับตำราก็แล้วแต่ คราวนี้ผมขอประเดิมลงไม้ลงมือ เพื่อไม่ให้เสียเวลาขอเริ่มกันเลย

เริ่มต้นที่การเตรียมเครื่องดนตรี หลังจากเสาะหาอุปกรณ์ต่างๆ ดังที่ระบุไว้ได้พร้อมแล้วทั้งซื้อหา หยิบยืมหรือวาดภาพในอากาศ ตั้งต้นที่ประกอบที่รองบ่าเข้ากับตัวไวโอลินแล้วปรับระดับให้พอเหมาะ จากนั้นก็มาดูที่คันสี (Bow) เสียงของไวโอลินจะดังได้จะต้องนำคันสี ซึ่งทำจากหางม้าไปสีกับสายไวโอลิน ปรับความตึงของสายคันสีให้พอดี นำแท่งยางสนมาถูสายคันสีให้ทั่วตลอดความยาว เพื่อให้เกิดแรงเสียดทานกับสายไวโอลิน คันสีที่เริ่มใช้งานอาจจะต้องทายางสนมากหน่อย เมื่อใช้งานสักพักจะเข้าที่เองคือความฝืดจะเท่ากันตลอดช่วงของคันสี

จากนั้นก็ตั้งเสียง ก่อนการเล่นทุกครั้งควรตั้งเสียงให้ถูกต้อง โดยเทียบกับเครื่องดนตรีที่มีเสียงที่ถูกต้องเช่นคีย์บอร์ด หรือใช้ที่ตั้งเสียง การตั้งเสียง ให้ถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญมากผมขอเน้น สำหรับ ผู้เริ่มต้นเล่นไวโอลินการเล่นไม่ให้เสียงเพี้ยนถือเป็นด่านหฤโหดด่านแรกที่จะต้องเอาชนะ ถ้าตั้งเสียงเพี้ยนตั้งแต่แรกก็ล่มตั้งแต่อยู่ในคลอง (ซึ่งห่างจากปากอ่าวอยู่มาก)

แบบฝึกหัดแรกคือการสีสายเปล่า ซึ่งจะเป็นการฝึกการจับคันสี การจับไวโอลิน และท่าทาง ให้ดูตัวอย่างท่าทางและการจับจากหนังสือหรือ Web Site แล้วลองส่องกระจกดูตัวเอง ว่าเท่เหมือนตำราหรือไม่ การปรับที่รองบ่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทำให้ไวโอลินกระชับ โดยที่ศีรษะจะอยู่ในตำแหน่งพอเหมาะ ไม่ก้มไม่เงย และตัวไวโอลินก็สามารถจะอยู่ในท่าพร้อมสีได้โดยไม่ต้องใช้มือซ้ายพยุงเลย การสีก็มีความสำคัญมาก

ก่อนผมหัดเล่นไวโอลิน ผมคิดว่าการใช้มือขวาที่จับคันสีสีไวโอลินไม่น่าเป็นเรื่องยาก มาเจอของจริงถึงรู้ว่าไม่ง่ายอย่างที่คิด เบื้องต้นที่สุดท่านจะต้องจับคันสีให้ถูกต้อง การสีทั้งสีขึ้นและสีลงจะต้องอยู่ในแนวตั้งฉากกับสายไวโอลินตลอดเวลา ตลอดช่วงการสีจากปลายสุดของคันสีถึงอีกปลายสุด และตำแหน่งที่คันสีสัมผัสกับสายไวโอลินจะต้องอยู่บริเวณกึ่งกลางระหว่าง Bridge และปลายสุดของ Finger Board ตลอดเวลา การจะทำให้ได้เช่นนี้ ข้อมือ ข้อศอก และท่อนแขนจะต้องทำงานสัมพันธ์กันตลอดช่วงการสี นอกจากท่าทางที่ "เข้าท่า" และถูกต้องแล้วที่สำคัญที่สุดคือเสียงที่ได้จะต้องฟังดูดี คมชัด สม่ำเสมอไม่ติดขัดหรือสะดุด หรือมีเสียงไม่พึงปรารถนามารบกวน เช่น เสียงของคันสีไปโดนสายที่อยู่ติดกัน เสียงแตกฝืดๆ ที่เกิดจากความไม่สัมพันธ์ระหว่างน้ำหนักกดและความเร็วการสี เสียงเพี้ยนในช่วงต้นของการสีที่เกิดจากความเร็วไม่สม่ำเสมอ ฯลฯ สิ่งที่รู้สึกได้คือ การสีที่ถูกต้องจะได้เสียงที่ดีอย่างเป็นธรรมชาติ โดยที่ผู้สีไม่รู้สึกเกร็งหรืออยู่ในท่าที่ไม่สบายตัว ทั้งนี้ท่านจะต้องทดลองฝึกให้เข้าที่อยู่ระยะหนึ่ง ผมต้องหัดสีสายเปล่าอยู่เป็นสัปดาห์กว่าจะพอฟังได้และเข้าท่าทาง

Check Point ที่หนึ่ง ท่านควรจะหัดสีสายเปล่าอย่างตั้งใจให้ได้ดีทั้งรูป (ท่าทาง) และเสียงในเวลาสักสองสัปดาห์ แน่นอนท่านก็ต้องหัดอย่างอื่นๆ คู่กันไปด้วย แต่การตรวจสอบคือเสียงและท่าทางการสีสายเปล่า ซึ่งถือว่าเบื้องต้นที่สุดแล้ว ถ้าท่านทำได้ก็เป็นเครื่องชี้บ่งว่าเดินต่อไปได้

แนวทางเริ่มต้นเล่นไวโอลินมีอยู่ 2 แนวทางคือ แนวทางที่หนึ่งเล่นก่อนรู้ และแนวทางที่สองรู้ก่อนเล่น แนวทางแรกอาจจะเรียกว่าเล่นด้วยใจ (Music By Heart) โดยยังไม่ใส่ใจกับเรื่องการอ่านโน้ต ความเข้าใจเรื่องบันไดเสียง หรือ Position ของมือซ้าย แต่หัดเล่นด้วยใจ เล่นออกมาให้ได้ก่อน โดยการทดลองเลียนแบบและท่องจำ จนถึงระยะหนึ่งจึงค่อยมาทำความเข้าใจเรื่องของตัวโน้ต อีกแนวทางหนึ่งคือต้องเข้าใจเรื่องตัวโน้ต การอ่านโน้ต บันไดเสียง และ Position ก่อนการหัดเล่น ซึ่งทั้งสองวิธีก็มีข้อดีข้อเสียและความเหมาะสมกับผู้หัดเล่นต่างกัน

วิธีเล่นก่อนรู้ที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ Suzuki Method ซึ่งคิดค้นและพัฒนาโดย Shinichi Suzuki ปรัชญาการสอนไวโอลินของ Suzuki เกิดจากความคิดที่ว่า ความสามารถทางดนตรีมิได้มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่สามารถพัฒนาได้ถ้าได้รับการฝึกฝนที่เหมาะสม วิธีการของ Suzuki ถูกพัฒนาเพื่อการสอนเด็กเล็กๆ โดยเฉพาะ โดยจะเน้นที่การเข้าถึงดนตรีด้วยใจก่อน แบบฝึกหัดจึงเน้นความสนุกสนาน และเล่นเป็นเพลงได้เร็วที่สุด และเพลงที่เล่นจะมีตำแหน่งการกดของนิ้วมือขวาที่ง่าย โดยไม่ต้องคำนึงถึงการอ่านโน้ต เพลงแรกของแบบเรียนคือ เพลง Twinkle, Twinkle, Little Star ซึ่งเล่นในบันไดเสียง A (ซึ่งจะอ่านโน้ตยากสำหรับการเริ่ม) แต่วิธีการหัดคือใช้การเลียนแบบและท่องจำ วิธีการนี้จะเหมาะกับเด็กเล็กๆ และจะต้องทำ การเรียนกับครู

สำหรับผู้ใหญ่ที่ชอบหาเรื่องอย่างเราและบังอาจจะหัดเล่นไวโอลินแบบ DIY หนีไม่พ้นจะต้องเข้าถึงตัวโน้ต หลักการและวิธีการที่ละเอียดก่อนการลงมือ เพราะท่านจะต้องทำตัวเป็นครูและนักเรียนในเวลาเดียวกัน อีกอย่างท่านคงไม่รู้สึกตื่นเต้นกับการเล่นเพลง Twinkle, Twinkle, Little Star ได้ตั้งแต่ชั่วโมงแรกที่หัดเล่นแล้วไปคุยโม้อวดหลานที่ไหน

คราวหน้าผมจะเล่าถึงการหัดเล่นไวโอลิน แบบ DIY อย่างผู้ใหญ่ ซึ่งผมได้รวบรวมจากหลายๆ แหล่ง และได้ทดลองกับตัวเองได้ผลระดับหนึ่งแต่แน่นอน เพื่อไม่ให้เตลิดไปคนเดียว ผมก็แอบไปขอวิชา และตรวจสอบตัวเองกับครูสอนไวโอลินอยู่เป็นระยะๆ คราวหน้าพบกันครับ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.