คลื่นลูกที่สอง สำรวจกรณีการย้ายฐาน การผลิตของญี่ปุ่นเข้ามาในไทย

โดย ภัชราพร ช้างแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ความสำเร็จของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการนำคณะทำงานด้านการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวไปเยือนญี่ปุ่น โดยมีเป้าหมายชักชวนนักลงทุนญี่ปุ่นให้เดินทางเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น เป็นความสำเร็จที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

สื่อต่างชาติบอกว่าไทยจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากคลื่นการย้ายฐานการผลิตรอบที่ 2 ของญี่ปุ่น เหตุที่ญี่ปุ่นต้องขยายการลงทุนในต่างประเทศอีกระลอกนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายประการ แรกสุดเพราะญี่ปุ่นไม่สามารถจ้างแรงงานราคาแพงในประเทศตนทำการผลิตได้อีกต่อไป ขณะที่ประเทศคู่แข่งสำคัญอย่างเกาหลีใต้และไต้หวัน ก็มีการขยับขยายส่งออกฐานการผลิตไปอยู่ต่างประเทศด้วยเช่นกัน

โดยประเทศที่กำลังเป็นแหล่งดูดนักลงทุนต่างประเทศในตอนนี้คือจีน แต่กิจการญี่ปุ่นหลายแห่งยังเลือกลงทุนในไทยอยู่ โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ตัวเลขการลงทุนจากต่างประเทศโดยตรงในไทยเพิ่มขึ้นถึง 79% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็นมูลค่าโดยรวมเกือบ 2,000 ล้านเหรียญสำหรับโครงการลงทุนใหม่ และ 2 ใน 3 ของจำนวนเงินลงทุนนี้มาจากนักลงทุนญี่ปุ่นโดยส่วนใหญ่จะลงทุนในอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรและอะไหล่รถยนต์ นับแต่ต้นปีเรื่อยมา (ม.ค.-ก.ค.2545) การลงทุนโดยตรงของญี่ปุ่นในไทยเพิ่มขึ้นถึง 45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

อันที่จริงญี่ปุ่นลงทุนโดยตรงในต่างประเทศน้อยลง โดยในปีที่แล้ว FDI ลดลงถึง 26% ซึ่งสหรัฐฯ เป็นประเทศที่ญี่ปุ่นลดการลงทุน FDI ลงมากที่สุดในปีที่แล้ว คือหดตัวถึง 40% แต่การลงทุนโดยตรงในเอเชียกลับเพิ่มขึ้นเกือบ 20% นำโดยมูลค่าการลงทุนของญี่ปุ่นในจีนที่เพิ่มขึ้น 64% หรือคิดเป็นมูลค่า 180.2 พันล้านเยน เทียบกับในไทย ญี่ปุ่นมาลงทุนโดยตรงคิดเป็นมูลค่า 110.2 พันล้านเยน

แต่เมื่อเร็วๆ นี้ เจโทรสำรวจพบว่าไทยมีความน่าลงทุนแซงหน้าจีนไปแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ของญี่ปุ่น มีความพอใจมาตรฐานการลงทุนสำคัญๆ ของไทยหลายประการ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน ความชำนาญทางเทคนิคของบุคลากรคนไทย คุณภาพวิศวกรไทย อุตสาหกรรมสนับสนุน และความโปร่งใสในกฎหมายที่เกี่ยวกับการลงทุนต่างๆ ขณะที่พวกเขามองว่าจีนมีความได้เปรียบไทย ในแง่ของขนาดตลาดภายในประเทศที่ใหญ่มากและต้นทุนสินค้าที่ต่ำเท่านั้น

ภาคอุตสาหกรรมที่ไทยมีความได้เปรียบอย่างเด่นชัดกว่าจีนคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ตั้งแต่ต้นปีมาแล้ว บริษัทอีซูซุมอเตอร์ประกาศย้ายฐานการผลิตรถปิกอัพจากญี่ปุ่นเข้ามาในไทย และในเร็วๆ นี้บริษัท โตโยต้าก็จะประกาศแผนการลงทุนครั้งสำคัญ ส่วนฮอนด้าประกาศไปแล้วว่าจะผลิตรถยนต์ "ซิตี้" ในไทยในปีหน้า และมิตซูบิชิ ซึ่งร่วมมือกับเดมเลอร์ไครสเลอร์ก็ประกาศไปเมื่อเร็วๆ นี้ว่าจะพัฒนารถยนต์โมเดลใหม่ในไทย

นอกเหนือจากข้อได้เปรียบที่กล่าวข้างต้นแล้ว ญี่ปุ่นยังสนใจลงทุนในไทยด้วยเหตุผลที่ว่า อยากจะบาลานซ์น้ำหนักการลงทุนในจีนไม่ให้มีมากเกินไปด้วย ในทำนองว่าเอาไข่ไปใส่ตะกร้าใบอื่นๆ บ้าง ไม่ใช่ใส่ไว้ในจีนมากจนเกินไป นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นศึกษาได้ให้ความเห็นสอดคล้องกันอีกว่า ญี่ปุ่นไม่อยากจะสูญเสียเทคโนโลยีบางอย่างที่คิดค้นขึ้นได้ หากไปลงทุนในจีนโอกาสที่จะถูกลอกเลียน หรือพัฒนาเทคโนโลยีตามทันนั้นมีสูงมาก ดูอย่างอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าตอนนี้ จีนผลิตได้เองเกือบทุกอย่างและยังมีเอกชนรายใหญ่ในจีนอย่างบริษัท Haier เกิดขึ้น ญี่ปุ่นหรือเกาหลีแทบจะไม่มีช่องทางแข่งขันได้เลย

บริษัท Haier นั้นเจ้าของเติบโตมาจากกิจการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าในห้องแถว ขยายตัวรวดเร็วมาก จนมีโรงงานในสหรัฐฯและยุโรป รวมทั้งเริ่มส่งสินค้าเข้ามาขายในไทยบ้างแล้ว ว่ากันว่าเจ้าของกิจการมีเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว ใช้เดินทางเข้าร่วมประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย

นอกจากนี้ กิจการมอเตอร์ไซค์ของญี่ปุ่นในจีน ก็กำลังเป็นเรื่องราวฟ้องร้องผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์จีนเป็นข่าวชิ้นโตทีเดียว เพราะผู้ผลิตจีนสามารถผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ได้เท่าทันผู้ผลิตญี่ปุ่น ยกเว้นเพียง 6 ชิ้นที่ไม่สามารถทำได้ ดังนั้นผู้บริโภคจีนจึงซื้ออะไหล่แท้ 6 ชิ้นนั้นมาเปลี่ยนในรถมอเตอร์ ไซค์ที่ผลิตเอง แล้วตั้งชื่อคล้ายคลึงกันคือ HOMMA ขายในราคาต่ำกว่า ได้รับความนิยมเป็นอย่างดี

เจอแบบนี้นักลงทุนญี่ปุ่นแทบกระอักเลยทีเดียว ดังนั้น ในการกรีธาทัพเข้ามาลงทุนในไทยระลอก 2 ครั้งนี้ นักลงทุนญี่ปุ่นจึงให้ความสำคัญกับ การได้รับความคุ้มครองในเรื่องลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรต่างๆ เป็นอย่างมาก ซึ่งทางการไทยก็ยินยอมตาม ดังจะสังเกตได้ว่า เนวิน ชิดชอบ และสุวรรณ วลัยเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผู้ดูแลเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ได้เข้าร่วมคณะเจรจาของรองฯ สมคิดไปญี่ปุ่นในครั้งนี้ด้วย

สมพงษ์ วนาภา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ได้บอกกับผู้เขียนว่าการขยายการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยระลอกนี้ จะมีลักษณะพิเศษกว่าเดิมคือกิจการขนาดเล็ก (SME) ของญี่ปุ่นจะเดินทางเข้ามาลงทุนในไทยด้วย โดยเฉพาะกิจการผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ ซึ่งผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ไทยที่เป็น SME ก็มีอยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน หากญี่ปุ่นเข้ามาจริง จะไม่เกิดผลประโยชน์ขัดแย้งหรือ

ในประเด็นนี้สมพงษ์อธิบายว่าจะพยายามให้เกิดการประสานประโยชน์ให้ได้ "เราต้องลดความขัดแย้งและส่งเสริมให้เขาอยู่ร่วมกันให้ได้... โดยสนับสนุนให้ผลิตอะไหล่ตัวใดตัวหนึ่งซัปพลายผู้ผลิตได้หลายยี่ห้อ SME ญี่ปุ่นที่เข้ามานี้ไม่ว่ารูปแบบใดรูปแบบหนึ่งก็ต้องเข้ามาเชื่อมโยงกับ SME ไทยด้วย ไม่ใช่เข้ามาแล้วเดี่ยวไม่เกี่ยวข้องกับเรา ซึ่งอย่างนี้เราไม่ชอบ การเชื่อมโยงสัมพันธ์กันนี้ก็จะช่วยทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ แก่เรา"

สมพงษ์สะท้อนว่า จากการจัดสัมมนาร่วมกับผู้ลงทุนญี่ปุ่นทำให้ทราบว่า นอกจากเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ญี่ปุ่นยังต้องการบุคลากรระดับกลางที่มีความรู้ทางบัญชี การบริหารจัดการ เพราะหากให้นักลงทุนญี่ปุ่นไปตั้งฐานการผลิตในเขตส่งเสริมบีโอไอในต่างจังหวัดนั้น พวกเขาจะประสบปัญหาเรื่องบุคลากรอย่างแน่นอน ซึ่งทางการไทยก็ยินดีส่งเสริมด้านนี้โดยให้สถานศึกษาท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ

นักลงทุนญี่ปุ่นต้องชอบใจที่ไทยตอบสนองการลงทุนในทุกเรื่องเป็นอย่างดี และยังไม่ต้องห่วงกับการที่จะมีคนวิ่งไล่ทันเทคโนโลยีหรือลอกเลียนแบบพวกเขา เพราะทางการไทยรับรองให้ความคุ้มครองในเรื่องนี้อยู่แล้ว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.