ความรักของอาเหลียง

โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

แอนโธนี เหลียง (Anthony Leung) รัฐมนตรีคลังของฮ่องกง ถูกมองว่าครอบครองสมบัติของชาติจีน มาเป็น "สมบัติส่วนตัวของเขา" สมบัติที่ว่านั้นคือฝูหมิงเซียะ (FuMingxia) ราชินีแชมป์เหรียญทองโอลิมปิกกระโดดน้ำผู้เก่งกาจ ที่นำชื่อเสียงและเกียรติภูมิมาสู่ชาติจีนทุกครั้งที่ลงแข่งขันนานาชาติ

ความรักต่างวัยต่างวุฒิภาวะระหว่าง รมว.พ่อม่าย แอนโธนี เหลียง วัย 50 กับผู้หญิงเก่งวัย 24 อย่างฝูหมิงเซียะ น่าจะเป็นประเด็นร่วมสมัยของคนในสังคม aging ยุคนี้ที่ยอมรับอย่างเปิดเผยมากขึ้นถึงเหตุผลทางเพศว่า หลังการหย่าร้างครั้งแรก สถิติบ่งบอกว่าร้อยละ 50 ของผู้ชายวัยห้าสิบขึ้นไปที่เคยแต่งงานแล้วจะเลือกคนใหม่ที่อายุน้อยกว่า 15-25 ปี เข้าข่าย "เจนนิเฟอร์ฟีเวอร์" ซึ่งเป็นโรคฮิตในระบบทุนนิยม ที่ชายวัยกลางคนต้องการครอบครองหญิงสาว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแรง สวยงาม และความสุขทางเพศ

อย่างไรก็ตาม อาเหลียงได้ชื่อว่าเป็นรัฐมนตรีที่มีเมียเด็กที่สุดในบรรดารัฐมนตรี 14 คน ที่ตั้งขึ้นตามระบบบริหารใหม่ ภายใต้การนำสมัยที่สองของ ตง เจี้ยน หวา (Tung Chee-hwa) ที่เพิ่งทำพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 5 ปีของการส่งมอบคืนฮ่องกงสู่อ้อมอกจีน เมื่อ 15 ก.ค. ที่ผ่านมานี้

พิธีสมรสของฝูหมิงเซียะและอาเหลียงจัดขึ้นเงียบๆ ที่ฮอนโนลูลู ฮาวาย แต่กว่าชาวฮ่องกงจะทราบก็ล่วงเลยไปสองอาทิตย์ พวกนักข่าวช่างภาพปาปารัสซีแห่ไปเฝ้าหน้าบ้าน จากอาเหลียงที่เคยอยู่เงียบๆ กลายเป็นคนดังที่โดนรบกวน จนอาเหลียงไม่สบายใจและเผลอขับรถพอร์ชทับเท้าช่างภาพ ต้องขอโทษและแสดงความปรารถนาดีให้หายไวๆ

ลีโอ ตอลสตอย ได้เคยเขียนถึง วุฒิภาวะของความรักต่างวัยนี้ไว้ใน "บทหนึ่งของชีวิตสมรส" ซึ่งแปลโดย สิทธิชัย แสงกระจ่าง ตอนหนึ่งหญิงสาวได้กล่าวว่า

"ฉันต้องการความรักที่จะมากำหนดชีวิตของเรา ไม่ใช่ชีวิตที่จะมากำหนดความรักของเรา ฉันต้องการยืนอยู่บนชะง่อนผาสูงกับเขา และบอกเขาว่า "อีกก้าวเดียว ฉันก็จะหล่นลงเบื้องล่างและชั่ววูบเดียว ฉันก็จะหายสาบสูญไปชั่วนิรันดร์" และด้วยสีหน้าที่ซีดเผือดราวกับความตาย เขาจะยกฉันขึ้นไว้ด้วยแขนอันแข็งแรงของเขา กอดฉันไว้ครู่หนึ่งบนชะง่อนผานั้น เพื่อทำให้หัวใจของฉันสงบลง แล้วพาฉันไปเสียจากที่นั่น"

ตอนนี้ของฝูหมิงเซียะยังสงบและเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมในรักสมบูรณ์แบบ ที่อาเหลียงมีให้ในโลกใบใหม่ที่ฮ่องกง แต่อนาคตยังมีอะไรให้เธอค้นหาชีวิตชีวาอื่นอีก นอกเหนือหน้าที่ภรรยาและแม่ที่ดีของลูก

ความรักเป็นเรื่องปรุงแต่ง จนกว่าคนจะตระหนักและมีวุฒิภาวะ เมื่อต้องต่อสู้กับปัญหาอันหนักหน่วงจากประสบการณ์ชีวิตคู่และผ่านพ้นไปได้ ด้วยการเรียนรู้จักตัวเอง ใน time & space ที่แต่ละช่วงจะมีรูปแบบความรักเฉพาะของมัน ไม่มีใครที่สามารถได้ประโยชน์จากประสบการณ์ของคนอื่น

สำหรับฝูหมิงเซียะ ชีวิตเธอมีประสบการณ์แต่เรื่องว่ายน้ำตั้งแต่ 5 ขวบ โดยครูคนแรกของเธอคือพ่อ ที่สอนให้เธอหัดว่ายในแม่น้ำใกล้บ้านที่ Wuhan ในมณฑล Hubei นอกจากนี้เธอยังเรียนยิมนาสติกตามรอยพี่สาวของเธอด้วย แต่ที่เธอทุ่มเทฝึกฝนหนักทุกลมหายใจ คือกีฬากระโดดน้ำ ซึ่งเธอนิยามมันว่า เป็นงานศิลปะแห่งชีวิต "A one-second-art" ซึ่งใช้เวลาเพียงเสี้ยว 1.7 วินาทีพุ่งตัวจากความสูง 10 เมตร สู่ผิวน้ำอย่างสวยงาม เปรียบประดุจกระบี่พุ่งตัดสายน้ำ

"ตอนอายุ 9 ขวบฉันจำครั้งแรกได้ว่า ฉันรู้สึกกลัวแทบตายที่ต้องกระโดดจากที่สูง 10 เมตร แต่ฉันก็ทำได้ เพราะฉันรักความท้าทายอย่างนี้"

เพียงอายุ 11 ปี ฝูหมิงเซียะก็คว้าแชมป์ที่หนึ่งใน 1990 Friendship Games ที่สหรัฐฯ และปี 1991 เป็นแชมป์โลก World Swimming Championship ถือเป็นแชมป์กระโดดน้ำอายุน้อยที่สุดในโลก

จากนั้นเป็นต้นมา ฝูหมิงเซียะประสบความสำเร็จทุกการแข่งขันโอลิมปิก กวาดไปถึง 4 เหรียญทอง นับตั้งแต่โอลิมปิกครั้งที่จัดที่บาร์เซโลน่า ปี 1992 ที่แอตลันต้า สหรัฐฯ ปี 1996 และที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย ในปี 2000 ที่ซึ่งเธอเพิ่งได้เหรียญเงินเหรียญแรกในกีฬากระโดดน้ำประเภททีมคู่ แต่ประเภทเดี่ยว เธอได้แชมป์เหรียญทองเช่นเคย

เบื้องหลังความสำเร็จคือ การฝึกฝนอย่างหนักสาหัสและควบคุมการกินอย่างเข้มงวด อีกทั้งต้องเจ็บปวดกับบาดแผลนับไม่ถ้วนที่เกิดขึ้นระหว่างฝึกซ้อม นับว่าเป็นแรงกดดันรุนแรงที่ทำให้เธอประกาศปลดตัวเองเป็นอิสระ หลังสิ้นสุดโอลิมปิกที่แอตลันต้า เพื่อกลับไปเรียนต่อที่ Tsinghua University ซึ่งติดทอปเทนมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของจีน แต่สักพักกีฬากระโดดน้ำก็เรียกร้องให้เธอคืนสังเวียนในโอลิมปิกที่ซิดนีย์ ปี 2000 อีกครั้งก่อนจะยุติจริงจัง และทำงานอยู่เบื้องหลังงานโอลิมปิก 2008 ที่จีนเป็นเจ้าภาพ

ขณะที่ประสบการณ์ของอาเหลียงผ่านร้อนผ่านหนาวของชีวิตมากกว่า มีภูมิหลังเป็นชาวฮ่องกงที่ได้รับการศึกษาอย่างดี จบปริญญาตรีสาขาเอกเศรษฐศาสตร์ และสถิติจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง เคยผ่านหลักสูตร AMP (Advande Management Program) จากฮาร์วาร์ด และได้รับปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง

ก่อนมาเป็นรัฐมนตรีคลังฮ่องกงซึ่งกินเงินเดือนปีละแค่ 2 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง อาเหลียงเคยทำงานให้กับซิตี้แบงก์ยาวนานถึง 23 ปี ถือว่าเป็นวาณิชธนากร (Investment Banker) มืออาชีพของฮ่องกงที่โดดเด่นมาก จนทำให้ธนาคารเชสแมนฮัตตัน ทาบทามให้มานั่งตำแหน่งเป็นประธานภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของกลุ่มยักษ์ใหญ่นี้ ซึ่งภายหลังรวมกิจการกับ J.P. Morgan เปลี่ยนชื่อเป็น J.P. Morgan Chase & Co.

ขณะนั้น ชีวิตการงานของอาเหลียงรุ่งโรจน์ แต่ชีวิตครอบครัวกับภรรยาคนแรกกลับล้มเหลว ซึ่งนำไปสู่การหย่าร้างกันในปี 1998

วิสัยทัศน์ของอาเหลียงที่ปรากฏในงานประชุมผู้นำเอเชีย หัวข้อเรื่อง "Asia's Competitiveness in the Global Economy" เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2000 ที่นครเซี่ยงไฮ้ ได้เข้าตาผู้นำจีนอย่างจู หรง จี และนำอาเหลียงไปสู่ตำแหน่งการเมืองในฐานะรัฐมนตรีคลัง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2001 ท่ามกลางภาวะปัญหาเศรษฐกิจฮ่องกงถดถอย ปัญหาว่างงานเพิ่มขึ้นถึง 6.7% ภาวะส่งออกสินค้าไฮเทคลดลงเพราะถูกจีนตีตลาดด้วยค่าแรงต่ำ และอาเหลียงต้องปรับระบบภาษีใหม่เพื่อค้ำจุนค่าเงินไว้ ซึ่งจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อฐานะของฮ่องกง ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่ภาษีถูกที่สุด

แรงกดดันอาเหลียงจากภารกิจที่ต้องดูแลตลาดเงินตลาดทุนของฮ่องกง ทำให้เกิดกรณีนักลงทุนขาดทุนหนัก 1,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการเทขายหุ้นเพนนีสต็อกซึ่งเป็นหุ้นขนาดเล็ก ที่ทางการออกข่าวเตรียมเพิกถอนการจดทะเบียนเพนนีสต็อก ซึ่งมีราคาต่ำกว่า 6.4 เซนต์ นาน 30 วัน เพื่อเพิ่มคุณภาพให้กับบริษัทจดทะเบียนใหม่ แต่ไม่กี่วันทางการก็ถอนข้อเสนอนี้ เพราะ รมว.คลังเหลียงบอกว่า เจ้าหน้าที่ตลาดหุ้นทำไปโดยไม่ขอคำปรึกษาก่อน แต่อาเหลียงก็ได้ตั้งกรรมการสอบสวน 2 คนและในที่สุดรัฐมนตรีคลังเหลียงต้องกล่าวว่า "I'm sorry"

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีเหลียงถูกคาดหมายว่าจะเป็น successor ที่สืบต่อจาก ต่งเจี้ยนหวา ในอนาคตหลัง 5 ปีข้างหน้า ถึงตอนนั้นอาเหลียงและหญิงสาวของเขาก็คงฟันฝ่าพายุ และพบความสงบสุขแบบฮ่องกงๆ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.