วิกฤติการณ์การเงินละตินอเมริกา

โดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ไฟกำลังลามทุ่งละตินอเมริกา ทั้งไฟเศรษฐกิจและไฟการเมือง

ภาวะความไม่สงบเรียบร้อยปรากฏในโคลอมเบีย แดนดินแห่งโคเคน ณ ที่ซึ่งเจ้าพ่อยาเสพติดสามารถจัดตั้ง 'รัฐอิสระ' ได้โดยไม่ยากนักในเวเนซุเอลา ความคุกรุ่นปรากฏโดยทั่วไป การนัดหยุดงานปรากฏด้วยความถี่สูงยิ่ง จนผู้นำฝ่ายทหารบางหมู่เหล่าก่อการรัฐประหาร ใน เดือนเมษายน 2545 แม้ประธานาธิบดี อูโก ชาเวส (Hugo Chavez) จะสามารถกลับมานั่งตำแหน่งเดิม แต่สภาวะความไม่เป็นปกติทางการเมืองยังดำรงอยู่

ไฟเศรษฐกิจลามลุกในอาร์เยน ตินา อุรุกวัย ปารากวัย และบราซิล และมีทีท่าจะส่งผลเชื่อมโยงสู่อาเซียตะวันออก

ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจครอบคลุมละตินอเมริกามานานหลายปีแล้ว อาร์เยนตินาเป็นประเทศแรกในภูมิภาคนี้ที่มีอันเป็นไป ในเดือนธันวาคม 2544 อาร์เยนตินาไม่สามารถชำระหนี้ต่างประเทศ และจำต้อง 'ชักดาบ' รัฐบาลควบคุมการปริวรรตเงินตราต่างประเทศอย่างเข้มงวด รวมทั้งควบคุมการถอนเงินจากธนาคารและสถาบันการเงินอื่นๆ ด้วย ภาพประชาชนชาวอาร์เยนตินาเข้าคิวยาวเหยียดเพื่อถอนเงินจากธนาคารแพร่ไปทั่วโลก ธุรกิจจำนวนมาก ฝังตัวเองในหลุมฝังศพ จึงมิใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาการของอาร์เยนตินาต้องเรียกว่าอยู่ในขั้นโคม่า มีแต่ทรงกับทรุด ทั้งนี้เพราะเหตุว่า สหรัฐอเมริกาและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ มิได้เข้าไป 'อุ้ม' อย่างเต็มที่ แม้ว่ากองทุนการเงินระหว่งประเทศ จะปล่อยเงินกู้เพื่อประคับประคองอาร์เยนตินาในระยะต้น แต่เมื่อรัฐบาลอาร์เยนตินามิได้ดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจขนานใหญ่ ในระดับที่รัฐบาลอเมริกันพอใจ กองทุนการเงินระหว่างประเทศย่อมมิอาจทุ่มการให้เงินกู้แก่อาร์เยนตินาได้ ในเมื่อสหรัฐอเมริกามีเสียง ดังในองค์กรโลกบาลแห่งนี้

ในระยะแรก วิกฤติการณ์การเงินอาร์เยนตินามิได้ส่งผลลุกลามสู่ประเทศอื่น จนกองทุนการเงินระหว่างประเทศตีปีก ในเดือนพฤษภาคม 2545 นางแอนน์ ครูเกอร์ (Anne Krueger) รองผู้อำนวยการกองทุน การเงินระหว่างประเทศ รายงานสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของทวีปอเมริกา ต่อที่ประชุมกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา โดยมองการณ์ในข้างดี

เหตุใดวิกฤติการณ์การเงินอาร์เยนตินาจึงมีผลลุกลามอันจำกัด ?

ศาสตราจารย์ครูเกอร์นำเสนออรรถาธิบาย 5 ประการ กล่าวคือ

ประการแรก ประเทศต่างๆ ในละตินอเมริกาดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคอย่างสมเหตุสมผล หลายต่อหลายประเทศมีความก้าวหน้าในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนในทางที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทิศทางของนโยบายเศรษฐกิจมหภาคดังกล่าวนี้ เพิ่มความเชื่อมั่นแก่ชุมชนการเงินระหว่างประเทศ

ประการที่สอง เครือข่ายความสัมพันธ์ทางการค้าและการเงินระหว่างอาร์เยนตินา กับประเทศเพื่อนบ้านค่อนข้างจำกัด ซึ่งพลอยทำให้ผลลุกลามของวิกฤติการณ์การเงินอาร์เยนตินาพลอยจำกัดด้วย

ประการที่สาม ความไม่สามารถในการชำระหนี้ต่างประเทศของอาร์เยนตินา เป็นเรื่องที่มีการคาดการณ์ล่วงหน้าอยู่แล้ว ชุมชนการเงินระหว่างประเทศจึงเตรียมการรับมือกับการชักดาบของอาร์เยนตินา

ประการที่สี่ สารสนเทศทางเศรษฐกิจที่สมบูรณ์และทันการมากกว่าเดิม เกื้อกูลการตัดสินใจของนักลงทุนอย่างมาก

ประการที่ห้า ความสำคัญของ อาร์เยนตินาในตลาดพันธบัตรระหว่างประเทศลดลงเป็นอันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังจากที่สหรัฐอเมริกาเผชิญวิกฤติการณ์วิสาหกิจยักษ์ใหญ่ล้มละลาย ซึ่งเริ่มต้นด้วยการล้มละลายของ Enron นักลงทุนเริ่มตั้งข้อกังขาเกี่ยวกับคุณภาพ ของหลักทรัพย์บริษัทอเมริกัน อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหลัก ทรัพย์อเมริกันตกต่ำลง เงินทุนเคลื่อนย้ายจากสหรัฐอเมริกาไปสู่ภูมิภาคอื่นบางส่วนเคลื่อนสู่เม็กซิโกและบราซิล

กองทุนการเงินระหว่างประเทศตีปีกได้ไม่นาน วิกฤติการณ์การเงินอาร์เยนตินา เริ่มออกฤทธิ์ในเดือนกรกฎาคม 2545 สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Contagion Effect หรือที่นักรัฐศาสตร์เรียกว่า Domino Effect ปรากฏโฉมอย่างชัดเจน และกำลังมีพลวัตอย่างสูง บรรดาประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับอาร์เยนตินาอย่างใกล้ชิดต้องรับ 'หางเครื่อง' ของมรสุมการเงินอาร์เยนตินา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุรุกวัย ปารากวัย และบราซิล

อุรุกวัยได้ชื่อว่าเป็น 'สวิตเซอร์แลนด์' แห่งละตินอเมริกา เคยมีระบบสถาบันการเงินที่แข็งแกร่ง แต่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจซึ่งยืดเยื้อถึง 4 ปี บั่นทอนความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินในระดับฐานราก จนท้ายที่สุดเกิดวิกฤติการณ์สถาบันการเงินในเดือนสิงหาคม 2545 ประชาชนแห่กันไปถอนเงิน อุรุกวัยพึ่งพิงอาร์เยนตินาเป็นตลาดสินค้าออกสำคัญ เมื่ออาร์เยนตินา เผชิญวิกฤติการณ์การเงิน อุรุกวัยย่อมต้องรับผลกระเทือนอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ แท้ที่จริงแล้ว อุรุกวัยมีปัญหาพื้นฐานเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคง เนื่องเพราะรัฐบาลก่อหนี้สาธารณะจำนวนมาก จนอยู่ในระดับสูงกว่า 100% ของ GDP มิหนำ ซ้ำยังยึดโยงอยู่กับระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบตายตัว เมื่อรายได้จากการส่งออกตกต่ำ ตลาดการเงินระหว่างประเทศขาดความเชื่อถือเงินเปโซของอุรุกวัย เงินทุนไหลออกจากอุรุกวัย จนท้ายที่สุดรัฐบาลอุรุกวัยต้องประกาศละทิ้งระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบตายตัว

บราซิลแตกต่างจากอุรุกวัย เพราะบราซิลปล่อยให้เงินรีอัล (real) ลอยตัวตั้งแต่ปี 2541 มิหนำซ้ำหนี้ต่างประเทศ นอกจากจะมีปริมาณไม่มากแล้ว ส่วนใหญ่ยังเป็นหนี้ระยะยาวอีกด้วย ปัญหาของบราซิล มีพื้นฐานจากสภาวะความไม่แน่นอนทางการเมือง เนื่องจากประธานาธิบดี เฟอร์นันโด เฮนริเก้ คาร์โดโซ (Fernando Henrique Cardoso) ต้องพ้นจากตำแหน่ง และมีทีท่าว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งฝ่ายซ้ายจะชนะการเลือกตั้ง สภาวะความไม่แน่นอนทางการเมืองทำลายความเชื่อมั่นของชุมชน การเงินระหว่างประเทศที่มีต่อเศรษฐกิจบราซิล เงินรีอัลมีค่าตกต่ำลงตั้งแต่เดือนมกราคม 2545 ซึ่งทำให้ภาระการชำระหนี้ต่างประเทศ เมื่อคิดเป็นเงินรีอัลถีบตัวสูงขึ้น จนน่ากลัวว่า บราซิลอาจไม่สามารถชำระหนี้ได้

รัฐบาลอเมริกันปฏิบัติต่ออุรุกวัยและบราซิลแตกต่างจากอาร์เยนตินามาก ในกรณีของอุรุกวัย สหรัฐอเมริกายื่นมือให้เงินกู้ 3,800 ล้านดอลลาร์อเมริกัน ในกรณีของบราซิล กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ด้วยความเห็นชอบของรัฐบาลอเมริกันให้เงินกู้ฉุกเฉิน 15,000 ล้านดอลลาร์อเมริกัน ปริมาณเงินให้กู้อยู่ในระดับน้องๆ เกาหลี ใต้ที่ได้รับในคราวเกิดวิกฤติการณ์การเงิน 2540 กองทุนการเงินระหว่างประเทศมิได้สนใจด้วยซ้ำว่า รัฐบาลใหม่ภายหลังการเลือกตั้งจะปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินนโยบาย (Policy Conditionality) ที่ผูกติดกับเงินให้กู้หรือไม่ ความมหึมาของเศรษฐกิจบราซิล ทำให้มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องประคับประคองมิให้บราซิลล้ม มิฉะนั้นอาจก่อผลลุกลามรุนแรง

ถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศจะ 'อุ้ม' บราซิลชนิดสุดจิตสุดใจ แต่ใช่ว่าบราซิลจะพ้นจากวิกฤติการณ์โดยเด็ดขาดก็หาไม่ นักเศรษฐศาสตร์บางคนเชื่อว่า บราซิลอาจเผชิญวิกฤติการณ์ซ้ำอีก ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะสามารถฟื้นคืนความน่าเชื่อถือทางการเงินได้มากน้อยเพียงใด

ประเด็นสำคัญที่น่าเป็นห่วง ก็คือ วิกฤติการณ์การเงินละตินอเมริกาจะส่งผลลุกลามสู่อาเซียตะวันออก ดุจเดียวกับวิกฤติการณ์เงินเปโซเม็กซิกันปี 2537 หรือไม่ ?

วิลเลียม พีเซ็ก จูเนียร์ (William Pesek Jr.) แห่ง Bloomberg News ฟันธงว่า ให้จับตามองฟิลิปปินส์ เพราะฟิลิปปินส์ เป็น The Weakest Link ของอาเซียตะวันออก

หมายเหตุ

1. บทวิเคราะห์วิกฤติการณ์การเงินอาร์เยนตินา โปรดอ่าน รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ "วิกฤติการณ์การเงินอาร์เยนตินา" ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม 2544

2. การประเมินสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของละตินอเมริกา โปรดอ่าน Anne Krueger, "Economic Outlook for the Americas", International Monetary Fund, Washington D.C. (May 7, 2002) www.imf.org

3. บทวิเคราะห์วิกฤติการณ์เศรษฐกิจบราซิล โปรดอ่าน John Williamson, "Is Brazil Next?", International Economics Policy Briefs No. PB C2-7, Institute for International Economics (August 2002) www.iie.com

4. ความเป็นไปได้ที่วิกฤติการณ์การเงินละตินอเมริกาอาจลุกลามสู่อาเซียตะวันออก โปรดอ่าน Wliiiam Pesek, Jr., "Latin America's Flu Tests Asia's Immunity", Bloomberg.com (August 2, 2002)



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.