|
หนี้เน่าภาคประชาชนพุ่ง รัฐจี้สมาคมแบงก์หามาตรการรับมือ
ผู้จัดการรายวัน(6 กันยายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
คลัง เปิดยอดหนี้เอ็นพีแอลที่จะเข้าโครงการแก้หนี้ภาคประชาชนรวมเฉียด 2.5 ล้านราย แบ่งเป็นหนี้เอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์กว่า 7 หมื่นราย มูลค่ารวม 3.8 หมื่นล้านบาท ระบุส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ลงทะเบียนคนจนไว้แล้ว พร้อมสั่งการให้แบงก์รัฐ-สมาคมธนาคารไทย กลับไปดูข้อมูลเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาอีกครั้ง พร้อมนำข้อมูลคาราวานคนจนหามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ยังตกหล่น คาดได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ ด้านกรมบังคับเตรียมยกร่างกฎหมายปลดหนี้บุคคลธรรมดา หวังผลักดันให้ใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ
นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการว่าด้วยการแก้ไขปัญหาหนี้ภาคประชาชนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า จากการสำรวจข้อมูลลูกหนี้ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์ พบว่า โดยส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ที่เคยลงทะเบียนคนจนในส่วนของปัญหาหนี้สินในระบบกับธนาคารไว้อยู่แล้ว
โดยในส่วนของธนาคารรัฐ 5 แห่ง ที่ลงทะเบียนไว้ 2.4 ล้านราย จากตรวจสอบข้อมูลมีลูกหนี้ที่เข้าเกณฑ์ 2.068 ล้านราย ซึ่งในจำนวนนี้สามารถเจรจาแล้วเสร็จ 99.02% แบ่งเป็นกลุ่มที่สามารถตกลงกันได้ตามเงื่อนไขเดิมของธนาคาร 1.871 ล้านราย หรือคิดเป็น 90.61% และกลุ่มที่สอง ตกลงกันได้ตามเงื่อนไขใหม่ที่ธนาคารได้ผ่อนปรนเงื่อนไขตามข้อเรียกร้องของลูกหนี้จำนวน 1.88 แสนราย หรือคิดเป็น 9.11%
ส่วนที่เจรจาไม่สำเร็จ เพราะลูกหนี้เสนอเงื่อนไขที่ธนาคารไม่สามารถรับได้จำนวน 5,600 ราย หรือ คิดเป็น 0.27% ซึ่งจะนำข้อมูลของกลุ่มแรกและกลุ่มที่ยังตกลงกันไม่ได้ มาพิจารณาดูอีกครั้ง เพื่อหาทางช่วยเหลือให้ทั่วถึงและครอบคลุมต่อไป
สำหรับลูกหนี้ในส่วนของธนาคารพาณิชย์มีจำนวน 70,189 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 38,000 ล้านบาท นอกนั้น จะเป็นหนี้ในส่วนของสหกรณ์ออมทรัพย์ กองทุนหมู่บ้าน ,กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ,บัตรเครดิต และอื่นๆ โดยที่ประชุมได้สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาในละส่วน
"ที่ประชุมได้มอบหมายให้ธนาคารรัฐทั้ง 5 แห่ง และผู้แทนสมาคมธนาคารไทย ไปดูข้อมูลตัวเลขหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอลของคนที่มาลงทะเบียนไว้แล้ว เพื่อมาแยกเป็นสัดส่วนสำหรับใช้พิจารณากำหนดแนวทางช่วยเหลือ ซึ่งจะมีการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ร่วมกับคณะทำงานแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชนของกระทรวงการคลังอีกครั้ง โดยขณะนี้ข้อมูลทั้งหมดเกือบสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เหลือเพียงว่าจะกำหนดแนวทางการช่วยเหลืออย่างไร ซึ่งขณะนี้ได้มีการศึกษาแนวทางแต่ละรูปแบบไว้แล้ว คาดว่าน่าจะเสนอให้ รมว.คลังพิจารณาได้เร็วๆ นี้" นายวราเทพ กล่าว
สำหรับความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ที่ได้ลงทะเบียนไว้กับกระทรวงมหาดไทย จำนวน 1.7 ล้านราย มูลหนี้รวม 1.36 แสนล้านบาท ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2548 ที่ผ่านมา ได้มีการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จไปแล้ว 2.37 แสนราย คิดเป็น 13% ของทั้งหมด และมีลูกหนี้ไม่ประสงค์จะดำเนินการต่อ 1.008 ล้านราย คิดเป็น 58% ส่วนที่เหลือ 5.07 แสนราย คิดเป็น 29% เป็นลูกหนี้ที่ไม่สามารถติดต่อได้ หรืออาจตกลงกันได้เอง
โดยในส่วนที่เจรจากันได้แล้ว มีลูกหนี้ที่ประสงค์จะขอกู้เพิ่มจำนวน 2.035 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้ 14,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ ให้กู้ไปแล้วทั้งสิ้นประมาณ 70,000 ราย คิดเป็น 34% มูลหนี้ 4,900 ล้านบาท และยังให้กู้ไม่ได้ 75,900 ราย คิดเป็น 3.7% มูลหนี้ 6,850 ล้านบาท ที่เหลือไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะลูกหนี้ไม่มาติดต่อ 57,000 ราย คิดเป็น 28% ซึ่งในส่วนนี้ ได้มอบหมายให้ธนาคารที่รับผิดชอบไปพิจารณาผ่อนปรนเงื่อนไข เพื่อให้ลูกหนี้ สามารถกู้ได้ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จากที่กำหนดระยะเวลาการผ่อนชำระภายใน 10 ปี ก็ยืดระยะเวลาการผ่อนชำระ เป็น 20 ปี หรือ กรณีที่ไม่มีหลักประกัน ก็ให้สามารถนำญาติหรือ บุคคลที่มีรายได้ มาค้ำประกันแทน เป็นต้น
สำหรับลูกหนี้ที่ขอยุติเรื่องไปนั้น ได้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาว่ามาจากสาเหตุใด หากยุติด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่งที่ไม่ใช่ความสมัครใจ หรือยังมีความเดือดร้อนอยู่ ก็จะนำมาแก้ไขใหม่ ซึ่งภายในเดือนพฤศจิกายน 2548 นี้ จะได้ข้อมูลจากการลงพื้นที่คาราวานแก้จนที่ทำให้ทราบถึงสาเหตุและหาแนวทางช่วยเหลือให้ครอบคลุมต่อไป
ฟื้นฟูลูกหนี้บุคคลธรรมดา
นายไกรสร บารมีอวยชัย อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวว่าทางกรมฯอยู่ระหว่างการศึกษาที่จะยกร่างกฎหมายเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้บุคคลธรรมดาให้สามารถเข้ามาอยู่ในสังคมได้และเป็นการเอื้อประโยชน์ของลูกหนี้ให้เหมือนกับประเทศอื่นที่ม่การแก้ไขกฎหมายในการช่วยเหลือลูกหนี้บุคคลธรรมดา โดยแนวทางขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาข้อดีและข้อเสียของกฎหมายของประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ที่มีการแก้ไขกฎหมาย อย่างชาร์เตอร์(บท)ที่ 7 และ 13 ที่ระบุในหลักการให้ลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดาที่ชำระหนี้ไม่ได้ ให้มาชำระบัญชีกับธนาคาร และให้ศาลมีคำสั่งให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ได้ หรือบทที่ 13 มีหลักการว่า ให้สิทธิลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ทั้งหมด แต่ลูกหนี้มีรายได้ประจำมีเงินเดือน และสามารถผ่อนชำระได้ ลูกหนี้มีสิทธิมาร้องต่อศาลทำแผนชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ โดยชำระจากรายได้ของลูกหนี้
" ลูกหนี้ที่เข้ากระบวนการดังกล่าว ทางกรมฯต้องมีบทบัญญัติเพื่อป้องกันมิให้ลูกหนี้ที่ไม่สุจริตเข้ามาปะปนกับลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่สุจริตและได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ กลไกตรวจสอบต้องมีเพื่อสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในระบบไม่ใช่เป็นการเปิดช่องให้กับคนที่มือไม่สะอาดเข้ามา" นายไกรสรกล่าว
สำหรับแนวทางการยกร่างนั้น อธิบดีฯกล่าวว่ามี 2 แนวทางคือ 1.หากทางกรมฯศึกษาข้อมูลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และหากทางกรมฯต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการยกร่าง ก็จะเชิญผู้แทนจากผู้ทรงคุณวุฒิในสายงานต่างๆเข้ามาเป็นกรรมการ และ2.หากกรมฯไม่มีศักยภาพในการยกร่างกฎหมายขึ้นมา คงต้องเป็นหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมที่จะดำเนินการยกร่างกฎหมายต่อไป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|