บัตรกรุงศรีฯ กับอนาคต

โดย ฐิติเมธ โภคชัย
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ความพยายามอยู่รอด ของธุรกิจบัตรเครดิต แห่งค่ายธนาคารกรุงศรีฯ คือ การหาพันธมิตร เข้ามาร่วมลงทุนและ จัดการดำเนินธุรกิจ

ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นหนึ่งกิจการที่ธนาคารพาณิชย์ให้ความสำคัญ สังเกตได้จากความพยายามปรับรูปโฉมการให้บริการเชิงรุกมากขึ้น อันเนื่องมาจากสถานการณ์ธุรกิจดังกล่าว มีแนวโน้มการแข่งขันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยสาเหตุสำคัญบางประการ ได้แก่ การเข้าร่วมของผู้ประกอบการรายใหม่ อาทิ บมจ.อิออนธนสินทรัพย์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อย และให้บริการบัตรเครดิตประเภทสินเชื่อเงินสดรายใหญ่ ได้ออกผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตอิออน มาสเตอร์การ์ด ออกมาแข่งขันกับบัตรเครดิตที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์โดยตรง

อีกทั้งยังมีข้อได้เปรียบในการแข่งขัน เนื่องจากไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของธนาคารแห่งประเทศไทย จึงสามารถดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดที่ยืดหยุ่นและได้เปรียบ กว่าธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไป

เช่นเดียวกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่มีธุรกิจบัตรเครดิตแต่เป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น ส่งผลให้การขยายกิจการเป็นไปอย่างลำบาก โดยมีลูกค้าถือบัตรเครดิตเพียง 70,000 ใบ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเศรษฐกิจถูกโจมตีธุรกิจนี้แทบจะหยุดนิ่งไปเลย

วิธีที่รวดเร็วและดีที่สุดสำหรับการรักษาธุรกิจบัตรเครดิตไว้ คือ การหาพันธมิตรร่วมทุนแล้วก็เป็นความโชคดีของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่ได้จีอี แคปปิตอล (ประเทศไทย) เข้ามาช่วยเหลือในการดำเนินกิจการภายใต้บริษัทบัตรกรุงศรี อยุธยาขึ้นมาในช่วงต้นปี 2544 โดยถือหุ้นฝ่ายละ 50%

"สิ่งแรกที่พวกเราทำงานร่วมกัน คือ ตรวจสอบลูกค้าว่ามีความต้องการอะไรมากที่สุด ซึ่งผลที่ออกมาพวกเขาอยากได้บัตรฟรีและสิทธิพิเศษอื่นๆ" สุขดี จงมั่นคง กรรมการผู้อำนวยการบัตรกรุงศรีอยุธยาเล่า "กลยุทธ์นี้ทำให้บริษัทมีฐานลูกค้าบัตรเครดิตประมาณ 3.5 แสนใบในปัจจุบัน"

นอกจากนี้ยังพยายามปรับปรุงด้านการบริการและการปฏิบัติงาน รวมถึงกิจกรรมทางการตลาดเพื่อคืนกำไรให้กับลูกค้า เช่น เพิ่มร้านค้าหรือให้ส่วนลด จับฉลากชิงรางวัล "การหาวิธีมาใช้เพื่อกระตุ้นการเติบโตเป็นสิ่งที่ดีในธุรกิจบัตรเครดิต" เขากล่าว

การเสนอบัตรเครดิตให้ลูกค้าฟรีถือเป็นสีสันและประสบความสำเร็จมากที่สุดของบริษัท สังเกตจากอัตราการขยายตัวบัตรเครดิตวีซ่าในปีที่ผ่านมาสูงถึง 336%

"เวลาที่ลูกค้าได้บัตรฟรีจะพยายามใช้จ่าย เพราะหากวันใดถูกยกเลิกบัตรสิทธินี้จะหายตามไปด้วย ดังนั้นพวกเขาต้องรักษาเอาไว้ให้ดีที่สุด" สุขดีอธิบาย

จากความมีชีวิตชีวาของบัตรกรุงศรีอยุธยาในปัจจุบันเกิดจากศักยภาพของจีอี แคปปิตอล ที่ได้นำความเชี่ยวชาญการบริหารความเสี่ยง เทคโนโลยีการตลาด รวมถึงเงินทุนเข้ามาช่วยให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างแข็งแกร่ง

"พวกเราใช้ประโยชน์จากจีอี แคปปิตอล ทั้งหมดเท่าที่จะเป็นไปได้" สุขดี ยอมรับ "หลังจากพวกเขาเข้ามาการทำงานเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง ตั้งแต่วิธีการทำงาน ระบบงานต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ต้องใช้ระบบของจีอี เพราะมีลูกเล่นมากกว่า และสิ่งต่างๆ ที่เขาพัฒนาขึ้นเราสามารถนำมาใช้ได้เลย"

ดังนั้นจึงเป็นเหมือนว่าบริษัทนี้เป็นของจีอี แคปปิตอล เพราะบทบาทการบริหารงานมีสูงมากและไม่มีใครปฏิเสธ เพราะหากอธิบายในเชิงธุรกิจแล้วไม่มีฝ่ายไหนเสียผลประโยชน์



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.