คลังยันคงรถไฟฟ้า7สาย


ผู้จัดการรายวัน(6 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

กระทรวงการคลัง ยืนยันการก่อสร้างรถไฟฟ้า 7 สาย ตามกรอบเงินลงทุนก่อสร้างเมกะโปรเจกต์รวม 1.7 ล้านล้านบาท โดยรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายที่มีปัญหากำลังอยู่ระหว่างการทบทวน อาจปรับลดขนาดลงเพื่อให้คุ้มกับการลงทุน ด้านรมว.คมนาคม ยันไม่ยันยังไม่ได้ตัดสินใจเลือกระบบรถไฟฟ้า หรือรถเมล์บีอาร์ที แต่จะรับฟังความเห็นจากประชาชนเป็นหลัก ขณะที่ "คำรบลักขิ์" เตรียมรวบรวมข้อดี-ข้อเสียให้รมว.คมนาคมเป็นผู้ตัดสินภายใน 2 สัปดาห์นี้ ระบุใช้ระบบบีอาร์ที ลดต้นทุนก่อสร้างถึง 1.5 แสนล้าน

นายสมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังยังคงยืนยันตัวเลขการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) ที่ 1.7 ล้านล้านบาท

ส่วนกรณีที่กระทรวงคมนาคม จะปรับเปลี่ยนโครงการรถไฟฟ้า 7 สาย โดยปรับเปลี่ยนโครงการจำนวน 2 สาย คือสายสีส้ม และสายสีม่วง เป็นโครงการเป็นรถเมล์ด่วนพิเศษ (บีอาร์ที) นั้น นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงการควรคำนึงในเรื่องการเชื่อมต่อ การขยายเส้นทางในอนาคต เพราะการทำเป็นรูปแบบเดียวกันจะสามารถดำเนินการได้ง่ายกว่า

"จากการหารือร่วมกับรมว.คลัง ยังไม่ได้มีการฟันธงว่าโครงการทั้ง 2 สาย ควรจะปรับเปลี่ยนอย่างไร เพราะยังมีอีกมิติหนึ่งที่กระทรวงคมนาคมจะต้องคำนึงถึง คือการเชื่อมต่อและการขยายเส้นทางในอนาคตนั้น โครงการควรจะเป็นระบบเดียวกันทั้งหมด เพื่อให้ง่ายต่อการพัฒนาในอนาคต ซึ่งหากเป็นคนละระบบ การบริหารงานก็จะไม่เป็นรูปแบบเดียวกัน การต่อขยายก็จะทำได้ยากขึ้น"

ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนโครงการดังกล่าว อาจจะใช้วิธีการลดขนาดของโบกี้บรรจุผู้โดยสาร หรือลดขนาดของโครงการลงทุน โดยจะนำข้อสังเกตนี้ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน แต่เรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่ของกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการที่จะตัดสินใจ

"ผมมั่นใจว่าโครงการเมกะโปรเจกต์ จะมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในภาพรวม และเป็นสิ่งที่ประเทศจำเป็นที่จะต้องทำเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ส่วนปัญหาเรื่องโครงการรถไฟฟ้า 2 สาย นั้นเป็นรายละเอียดปลีกย่อย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำโครงการให้มีความชัดเจน"

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์จะไม่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพราะเศรษฐกิจของไทยม่ได้ขึ้นอยู่กับโครงการเมกะโปรเจกต์เพียงอย่างเดียว และยืนยันว่าเรื่องวิธีการหาแหล่งเงินทุน (ไฟแนนซ์ซิ่ง) นั้นไม่มีปัญหาอะไร แต่สิ่งสำคัญคือโครงการจะต้องเกิดขึ้นอย่างชัดเจนเสียก่อน

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวปฏิเสธกรณีที่กระทรวงคมนาคมจะยกเลิกการพิจารณาเลือกใช้ระบบบีอาร์ที และกลับไปใช้ระบบรถไฟฟ้าเหมือนเดิมว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมยังไม่ตัดสินใจเรื่องดังกล่าว และรอผลศึกษาที่มอบหมายให้ สนข. ไปจัดทำให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อดูความเหมาะสมว่าจะใช้ระบบเดินรถแบบใด และยังไม่อยากจะให้ข้อมูลรายละเอียดขณะนี้ เนื่องจากจะสร้างความสับสนให้กับประชาชน

"ผมยืนยันว่า การตัดสินใจของกระทรวงคมนาคมในการเลือกระบบขนส่งแบบใดนั้น จะรับฟังความเห็นของประชาชนเป็นอันดับแรก รวมถึงจะดูในเรื่องของผลกระทบที่มีต่อหนี้สาธารณะและอัตราค่าโดยสารของระบบขนส่งที่ต้องมาจากการคำนวณเงินลงทุนที่ใช้ไปในโครงการด้วย โดยกระทรวงคมนาคมจะยังคงเร่งรัดให้เกิดการประมูลงานก่อสร้างระบบขนส่งในเส้นทางดังกล่าวให้ได้ภายในสิ้นปีนี้"

ด้านนายคำรบลักขิ์ สุรัสวดี ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข. ) กล่าวภายหลังการประชุมพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ว่า ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อเสรุปเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนระบบขนส่งมวลชนสายสีส้มและสีม่วงตามข้อเสนอของที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้เปลี่ยนเป็นระบบบีอาร์ แต่จะจัดทำข้อเสนอทั้งข้อดีและข้อเสียและรูปแบบที่เห็นควรดำเนินการให้นายพงษ์ศักดิ์ เป็นผู้ตัดสินใจภายใน 2 สัปดาห์นี้

นายคำรบลักขิ์ กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนจากรถไฟฟ้าเป็นรถบีอาร์ทีนั้น ช่วยลดต้นทุนก่อสร้างประมาณ 150,000 ล้านบาท ซึ่งในส่วนสายสีม่วงจากบางใหญ่ - บางเขน หรือบางซื่อ จะมีทางเลือกว่าอาจลดขนาดรถไฟฟ้า ที่เดิมกำหนดรองรับอนาคตไว้ 30 ปี มีความยาว 6 ตู้โดยสาร เหลือ 3 ตู้โดยสารก่อน เพื่อให้เหมาะกับความต้องการโดยสารและเส้นทางให้ไปสิ้นสุดที่บางใหญ่ หรือสะพานพระนั่งเกล้า จากนั้นต่อเส้นทางด้วยบีอาร์ที

ส่วนสายสีม่วง ช่วงล่าง ตั้งแต่วงเวียนใหญ่-ราษฎร์บูรณะ จากการตรวจสอบเห็นสมควรว่าระบบขนส่งมวลชนควรเป็นบีอาร์ที และมีงานส่วนหนึ่งของ กทม. ที่เส้นทางสายสีม่วงจะวิ่งผ่าน ซึ่งในส่วนนี้สามารถใช้ตอม่อร่วมกันได้ โดยกทม. จะใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 400 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบหนึ่งให้พิจารณาด้วย

ส่วนสายสีแดง มี 2 ส่วน คือ ส่วนปรับปรุงต่อจากยมราช-บางบำหรุ มูลค่า 30,000 ล้านบาท จะเสนอรัฐบาลอนุมัติให้มีการออกแบบก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดประมูลได้แน่นอนประมาณเดือนธันวาคมนี้ โดยส่วนแรกที่จะประมูลได้คือ สถานีบางซื่อ รวมทั้งเส้นทางบางซื่อ-รังสิต ซึ่งภายในสัปดาห์หน้า จะประชุมกันเพื่อสรุปตารางงานที่ชัดเจนออกมา สำหรับเส้นทางบางซื่อ-ตลิ่งชัน จะเปิดประมูลตามมา ส่วนสายแม่กลอง มีทางเลือกในการก่อสร้างรวม 8 รูปแบบ ที่จะพิจารณาร่วมกัน โดยเฉพาะสถานีตากสิน ว่าจะใช้ทางเลือกอะไร และในส่วนของเส้นทางจากสถานีวงเวียนใหญ่-หัวลำโพง ที่ส่งผลกระทบกับประชาชน ก็จะเปลี่ยนเป็นสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินแทน ซึ่งจะใช้งบประมาณก่อสร้างเพิ่มเติมอีก 6,000 ล้านบาท

ส่วนสายสีส้ม ซึ่งมีเส้นทางอยู่ 3 ส่วน คือ บางกะปิ-ห้วยขวาง-อนุสาวรีย์ชัยฯ-บางบำหรุ ซึ่งก่อนจะเข้าวงแหวนสุทธิสาร ไปเชื่อมกับสายสีแดง จะมีการลดขนาด โดยในส่วนของถนนรามคำแหง มีถนนลอยฟ้าทำให้แคบ จึงได้ใช้โมโนเรียล หรือรถไฟรางเดี่ยวมาใช้วิ่งในระยะทางสั้น ๆ สามารถขนส่งได้ 1,000 คนต่อทิศทาง

นายสมชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันศุกร์ที่ 16 กันยายน 2548 นี้ สศค.จะร่วมกับ ดอยช์แบงก์ ธนาคารออมสิน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) จัดการสัมมนาเรื่อง "การจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการลงทุนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ" (International Conference: Financing Thailand's Maga Projects) เพื่อให้ความข้อมูล ความรู้ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการเมกะโปรเจกต์ ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล (กรุงเทพ)

โดยการสัมมนาจะเน้นการให้ความรู้ในส่วนของการบริหารจัดการและการจัดหาแหล่งเงินทุนของโครงการ เนื่องจากปัจจุบันคนส่วนใหญ่ยังมีความสับสนเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการดังกล่าว นอกจากนี้ จะครอบคลุมสาระสำคัญต่าง ๆ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเติบโตอย่างยั่งยืน และโครงการเมกะโปรเจกต์ ผลกระทบของโครงการดังกล่าวต่อเศรษฐกิจไทย โครงการเมกะโปรเจกต์และความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย เป็นต้น

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้แบ่งโครงการเมกะโปรเจกต์ออกเป็น 3 ส่วน คือ

1.โครงการขนส่งระบบราง (Mass Transit) และคมนาคม วงเงินลงทุน 752,000 ล้านบาท คิดเป็น 44% ของวงเงินทั้งหมด ซึ่งนักลงทุนให้ความสนใจมาก เพราะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูง และเป็นโครงการที่มีผลกระทบต่อดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศ เนื่องจากต้องมีการกู้เงินจากแหล่งเงินทุนต่างๆ และมีการนำเข้าวัตถุดิบมาก

2.โครงการเพื่อสังคม เช่น ที่อยู่อาศัย การศึกษา เป็นต้น วงเงินลงทุน 406,000 ล้านบาท คิดเป็น 24% ของวงเงินทั้งหมด และ 3. โครงการกึ่งสังคมและเศรษฐกิจ เช่นโครงการทรัพยากรน้ำ พลังงาน การสื่อสาร และอื่น ๆ วงเงิน 543,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 32%


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.