'ที เอส เอ' เมล็ดพันธุ์จากแดนอีสาน


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

จากสภาพอากาศ ที่เหมาะสมของอำเภอภูเรือ และเขตอีสานตอนเหนือ ที เอส เอได้เข้ามายึดหัวหาดใช้เป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ และเมล็ดพันธุ์ผัก จนสามารถผลิตส่งจำหน่ายทั้งในประเทศ และต่างประเทศเป็นมูลค่าปีละ 100 ล้านบาท

ด้วยสภาพภูมิอากาศหนาวเย็น ตลอดทั้งปีไม่ต่างจากอากาศในภาคเหนือตอนบนจังหวัดเลยจึงเป็นแหล่งเพาะปลูกไม้ดอก ไม้ประดับ และพืชผักแหล่งใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน

ไม้ดอกหลายชนิด ที่เพาะพันธุ์ในอำเภอภูเรือมีคุณภาพดีกว่า ที่เพาะปลูกในจังหวัดภาคเหนือด้วยซ้ำ ทั้งความเข้มของสี และความแข็งแรงของลำต้น

ผ่าน ที่ว่าการอำเภอภูเรือ ไปทางอำเภอด่านซ้ายประมาณ 10 กิโลเมตร ในเขตตำบลร่องจิก อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย เป็นที่ตั้งของ "สถานีภูเรือ" ของบริษัท ที เอส เอ จำกัด (Thai Seed & Agriculture Co.,Ltd.) ผู้ผลิต และจำหน่ายไม้ดอกไม้ประดับ และเมล็ดพันธุ์พืชหลายชนิด

ที เอส เอ เกิดจากการรวมกลุ่มของศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีจำเนียน นิลประไพ เป็นกรรมการผู้จัดการ เข้ามาตั้งฟาร์ม ที่ภูเรือ เมื่อปี 2533 หลังจากเคยทดลองปลูกไม้ดอกเมืองหนาว ที่อำเภอฝาง จังหวัด เชียงใหม่ แต่ปรากฏว่าไม้บางตัวปลูกไม่ได้ผล จึงย้ายมาทดลองปลูก ที่บ้านหนองเสือคราง ตำบลสานตม อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ที่สภาพอากาศใกล้เคียงกัน แต่ ที่ดินราคาถูกกว่า ปรากฏว่าได้ผลดี โดยเฉพาะไม้ตัดดอก 2 ชนิด คือ พีค็อก และ เยอร์บีร่า จากนั้น จึงซื้อ ที่ดิน 34 ไร่ บริเวณ ที่ตั้งปัจจุบัน ตั้งเป็นสถานีเพาะขยายพันธุ์ไม้ดอก ไม้ประดับ และต่อมาได้ซื้อ ที่ดินเพิ่มอีก 20 ไร่ เพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูก

แต่ละปี ที เอส เอ ตัดไม้ดอกขายราว 5 แสน -1 ล้านดอก ไม้ตัดดอกหลักๆ คือ เยอร์บีร่า พีค็อก คัท เตอร์ แอสเตอร์ ทานตะวัน โดยคัดคุณภาพเกรดเอ บี และ ซี ส่งจำหน่ายตลาดในกรุงเทพฯ ทุกวันอาทิตย์ ส่วนเกรดดี ส่งขายในจังหวัดเลย และจังหวัดในภาคอีสาน

" ที่ผ่านมาเราจะปลูกหมุนเวียนให้ตัดขายได้ตลอดทั้งปี แต่ต่อไปจะปรับแผนงานใหม่จะปลูก เพื่อขายเฉพาะ หน้าหนาวเท่านั้น เพราะปลูกทั้งปีใช้ต้น ทุนค่อนข้างสูง" ดร.ชัยฤกษ์ สงวนทรัพยากร กรรมการผู้จัดการ ที เอส เอ กล่าว

นอกจากนี้ สถานีภูเรือ ของ ที เอส เอ ยังจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ดอกไม้อีกกว่า 20 พันธุ์ อาทิ ลิ้นมังกร แอส เตอร์ เทียนซ้อน สร้อยไก่ หงอนไก่ เบญจมาศ เสี้ยนฝรั่ง (Cleome) ดาวกระจาย รักเร่ ผีเสื้อ บานไม่รู้โรย ทานตะวัน ฮอลลี่ฮอค ดาวเรือง แพนซี พิทูเนีย ฟล็อก แพรเซี่ยงไฮ้ ซัลเวีย ไทมอฟิลล่า แววมยุรา เวอร์บีน่า แพงพวย วิโดลา บานชื่น

เมล็ดพันธุ์ไม้ดอกเหล่านี้ ที เอส เอ พัฒนาขึ้นมาเอง ขณะเดียวกันก็ได้นำเข้าเมล็ดพันธุ์ดอกไม้ลูกผสม และพันธุ์ผสมจากต่างประเทศมาเพาะพันธุ์จำหน่ายแก่ชาวบ้านในอำเภอภูเรือ จนทำให้การเพาะปลูกไม้เหมืองหนาว กลายเป็นอาชีพยอดฮิตของคนภูเรือขึ้นมาทันที เพราะมีสภาพอากาศเหมาะสมอยู่แล้ว กระทั่งทางจังหวัดนำไปเป็นเครื่องมือส่งเสริมการท่องเที่ยว จัดงานดอกไม้เมืองหนาว เป็นประจำในราวต้นเดือนมกราคมของทุกปี

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พ่อค้าเจ้าของเรือนเพาะชำทั้งจากภาคกลาง ภาคตะวันออก จึงหันมาซื้อต้นกล้าไม้ดอกไม้ประดับจากอำเภอภูเรือมากขึ้น ด้วยระยะทางใกล้กว่า และความหลากหลายของพันธุ์ไม้ก็ไม่ต่างไปจากเชียงใหม่

ปัจจุบันประมาณมูลค่าเงินหมุนเวียนในธุรกิจจำหน่ายไม้ดอก ไม้ประดับของชาวบ้านในอำเภอภูเรือแต่ ละปีสูงมากกว่า 25 ล้านบาท และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนสวนไม้ดอกไม้ประดับ ที่เกิดขึ้นใหม่

ผลงานศิษย์เก่ามก.

"สถานีภูเรือ" ของ ที เอส เอ มีชื่อเสียงในเรื่องไม้ดอกไม้ประดับ และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่ขึ้นชื่อแห่งหนึ่งของจังหวัดเลยไปแล้ว แต่ในความเป็นจริงธุรกิจของ ที เอส เอ ที่บุกเบิกมาตั้งแต่ต้น และยังเป็นธุรกิจหลักของบริษัทมาจนทุกวันนี้ก็คือ การผลิตเมล็ดพันธุ์ผัก เพื่อส่งจำหน่ายให้กับบริษัทเมล็ดพันธุ์ในต่างประเทศ และ จำหน่ายแก่เกษตรกรในประเทศไทย

เมื่อปี 2524 ที เอส เอ ถือกำเนิดขึ้นจากการรวมตัวของอาจารย์ และ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รุ่น 16 และรุ่น 20 นำโดย อาจารย์สมพร ทรัพยสาร อาจารย์คณะพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาจารย์จำเนียน นิลประไพ และอาจารย์ธวัช เชิดสถิรกุล เพื่อทำธุรกิจการเพาะเมล็ดพันธุ์

ภายใต้แนวความคิด ที่ว่า เมล็ดพันธุ์เป็นที่มาของอาหารการกินของมนุษย์ ในฐานะนักวิชาการในระดับอุดมศึกษา กลุ่มอาจารย์ทั้งสามมองว่าเป็นสิ่งท้าทายมาก ถ้าจะเข้ามาจับธุรกิจเมล็ดพันธุ์ ซึ่งในขณะนั้น บริษัทผู้ผลิต และจำหน่ายเมล็ดพันธุ์รายใหญ่ของไทยมีเพียง เจียไต๋ ในเครือซีพี เพียงรายเดียว นอกนั้น เป็นพ่อค้าคนกลาง ที่ทำหน้าที่เพียงซื้อมา-ขายไปทั้งหมด

ในช่วงเริ่มต้น อาจารย์สมพร ที่รู้จักกับกลุ่มนักลงทุนในไต้หวัน เป็นอย่างดี ได้ติดต่อให้มาร่วมทุนผลิตเมล็ด พันธุ์ผัก ภายใต้ข้อตกลงให้บริษัทไต้หวันถ่ายทอดความรู้การขยายพันธุ์ให้กับ ที เอส เอ โดยนำสายพันธุ์พ่อ-สายพันธุ์แม่จากไต้หวัน มาเพาะขยายในไทย แล้วส่งเมล็ดกลับไต้หวันตามข้อตกลง

แต่ยังไม่ทันได้เริ่มโครงการ รัฐบาลไทยโดยรัฐมนตรีท่านหนึ่ง ได้สั่งระงับโครงการร่วมมือกับไต้หวัน โครงการดังกล่าวต้องเลิกล้มไปโดยปริยาย

หลังจากนั้น ไม่นานอาจารย์สมพรได้ติดต่อบริษัท Royal Sluis ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ผักรายใหญ่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ นำสายพันธุ์ผัก เช่น มะเขือเทศ แตงกวา มะเขือม่วง มาขยายในเมืองไทยแล้วส่งจำหน่ายคืนให้กับบริษัทเจ้าของสายพันธุ์

เมื่อตกลงทำสัญญาเรียบร้อย ที เอส เอ ได้ตั้งแปลงทดลองขยายเมล็ดพันธุ์ ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ทำการเพาะเมล็ดพันธุ์แตงกวาเป็นหลักแต่ สภาพแวดล้อม และอุณหภูมิอากาศไม่เหมาะสม จึงย้ายแปลงทดลองมา ที่บ้าน กุดลิงง้อ อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี โดยทดลองปลูกในแปลงของเกษตรกรหลังฤดูทำนาด้วย ผลการทดลองในระยะแรกเป็นที่น่าพอใจ สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้คุณภาพตาม ที่บริษัท Ro-yal Sluis ต้องการ จึงขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มมาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากการนำเมล็ดพันธุ์จากเนเธอร์แลนด์มาเพาะขยายจนประสบความสำเร็จแล้ว ที เอส เอ ได้หันไปนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศ โดยมีศูนย์กลางขยายพันธุ์ผักอยู่ ที่อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีสภาพอากาศเหมาะสม และมีน้ำจากโครงการเขื่อนห้วยหลวงใช้เพาะปลูกได้อย่างพอเพียงตลอดปี

ที่อำเภอกุดจับ ที เอส เอ ได้ซื้อ ที่ดิน เพื่อเป็นสถานีทดลองเพาะเมล็ดพันธุ์ 30 ไร่ พร้อมกับส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่เข้ามาเป็นคู่สัญญานำเมล็ดพันธุ์ไปเพาะปลูก เพื่อขายเมล็ดคืนให้กับบริษัทอีกกว่า 1,000 ครอบครัว ขณะเดียวกันได้ขยายโครงการไปยังจังหวัดใกล้เคียง คือ หนองคาย และหนองบัวลำภูอีกด้วย

จนปัจจุบันถือว่า ที เอส เอ เป็นหนึ่งใน 10 ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ส่งออกต่างประเทศ ที่ได้รับการยอมรับ

สายพันธุ์ ที เอส เอ

ดร.ชัยฤกษ์ สงวนทรัพยากร กรรมการผู้จัดการ ที เอส เอ เล่าว่า เมล็ดพันธุ์ผักเกือบทุกชนิด ที่เกษตรกรในประเทศไทยนำมาเพาะปลูกในปัจจุบัน ล้วนสั่งซื้อจากต่างประเทศทั้งหมดเพราะไทยไม่สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ ในระดับ F-1 Hybrid หรือ สายพันธุ์ พ่อ-สายพันธุ์แม่ได้เอง เนื่องจากประเทศเจ้าของเมล็ดพันธุ์จะสงวนสิทธิ์ในการขยายพันธุ์เอาไว้

การหาเมล็ดพันธุ์ ตามธรรม เนียม ที่เกษตรกรในชนบทไทยถือปฏิบัติมาแต่อดีต แต่ละครอบครัวจะคัดเลือก ผลผลิต ที่มีความสมบูรณ์ที่สุดไว้ทำพันธุ์ (Homesafe seed) ซึ่งมีข้อดีในเรื่องของความหลากหลายทางพันธุกรรม แต่ วิธีการนี้เหมาะกับการทำเกษตรขนาดเล็กระดับครัวเรือนเท่านั้น

ทางออก ที่จะสร้างรายได้เข้าประเทศจากอุตสาหกรรมเกษตรประเภทนี้ จึงทำได้วิธีเดียวคือ การรับ F-1 Hybrid จากบริษัทประเทศผู้ผลิตสายพันธุ์มาขยายในไทย โดยส่งนักวิชาการไปศึกษาวิธีการเพาะพันธุ์ การดูแลรักษา รวมทั้งการผสมพันธุ์ ส่วนเมล็ดพันธุ์ ที่ได้มาจะนำไปกระจายให้กับเกษตรกรเพาะปลูกตามวิธีการที่นักวิชาการแนะนำ เมื่อผลผลิตออกแล้ว จะรับซื้อเมล็ดพันธุ์คืน เพื่อส่งกลับไปยังเจ้าของสิทธิบัตรอีกครั้ง ก่อนจะจัดส่งขายทั่วโลก

นอกจากการรับสายพันธุ์จากต่างชาติมาขยายแล้ว ในห้วง 10 ปีแรก ที เอส เอ ได้พัฒนาเมล็ดพันธุ์ลูกผสมพืชผักในเขตร้อนขึ้นมาเองด้วย พร้อมกับพัฒนานักวิชาการ และวิธีการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชผักลูกผสมขึ้นตามลำดับ

จนปัจจุบัน ที เอส เอ ได้พัฒนาปรับปรุงจนสามารถจำหน่ายสายพันธุ์ในระดับ F-1 hybrid ได้แล้วประมาณ 7 ชนิด เช่น แตงกวาพันธุ์บิงโก แตงกวาพันธุ์แชมป์ แตงร้านพันธุ์ฮีโร่ ฟักทองพันธุ์จินดา มะระพันธุ์มรกต 69 และเมล็ดพันธุ์ผักผสมได้แก่ ผักบุ้ง กวางตุ้ง คะน้า เป็นต้น

ด้านการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ไม้ดอกนั้น ดร.ชัยฤกษ์กล่าวว่า ที เอส เอ เริ่มจำหน่ายปลีก และส่งเมล็ดพันธุ์ดอกไม้เขตร้อนได้ตั้งแต่ปี 2534 เช่น บานไม่รู้โรย สร้อยไก่ หงอนไก่ บานชื่น ดาวกระจาย ดาวเรือง เป็นต้น หลังจากได้พัฒนาเปอร์เซ็นต์ความงอกจนได้มาตรฐานนานาชาติ (ISTA) ต้นกล้ามีความเข็งแรง และมีลักษณะตรงตามสายพันธุ์ ความสูงของต้น ความกว้างของพุ่ม สี และขนาดของดอก ที่มีความสม่ำเสมอในสายพันธุ์เดียวกัน

จนปัจจุบันบริษัทที เอส เอ จำกัด ได้ปรับปรุง และผลิตเมล็ดพันธุ์ดอกไม้พันธุ์ผสมเปิด เพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้าภายในประเทศ ทั้งสิ้น 24 ชนิด 127 สายพันธุ์

ควบคู่ไปกับการผลิต และจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ไม้ดอก ที่พัฒนาขึ้นเอง ที เอส เอ ได้นำเข้าเมล็ดพันธุ์ดอกไม้ลูกผสม และพันธุ์ผสมเปิดจากต่างประเทศด้วย ตั้งแต่ปี 2535 เพื่อเพิ่มความหลากหลายของชนิดดอกไม้ และตอบสนองความต้องการของลูกค้า ที่ต้องการปลูกดอกไม้ลูกผสมจากต่างประเทศ โดยเน้น ที่ดาวเรืองพันธุ์ลูกผสม บานชื่นลูกผสม ผีเสื้อลูกผสม และดอกไม้พันธุ์ผสมเปิดชนิดต่างๆ มีกลุ่มลูกค้า เช่น กลุ่มผู้ปลูกไม้ตัดดอก ไม้กระถาง ไม้ประดับตามสถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ราชการ และบ้านเรือนเอกชนต่างๆ

ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ เงียบแต่แข่งกันแรง

ธุรกิจจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ในเมือง ไทย แม้จะไม่ฮือฮา แต่ในความเป็นจริงการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทผู้ปรับปรุงสายพันธุ์ เพื่อจำหน่ายนั้น ข้อมูลการพัฒนาสายพันธุ์ถือเป็นความลับสูงสุด ไม่เช่นนั้น จะถูกคู่แข่งทำลายได้ง่าย

มูลค่าการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ของไทยแต่ละปีอยู่ระดับประมาณ 500 ล้าน บาท แต่ตัวเลขการส่งออกในปี 2542 คาดว่าจะถึง 1,000 ล้านบาท

สาเหตุที่ประเทศไทยได้ดุลการค้าเมล็ดพันธุ์ มาจากต้นทุนการนำเข้าเมล็ดพันธุ์สายพันธุ์จากประเทศเจ้าของสิทธิบัตรค่อนข้างต่ำ แต่เมื่อนำมาปรับ ปรุงเป็นสายพันธุ์ F-1 hybrid เพื่อส่งออกแล้วราคาจะสูงกว่ามาก

ตัวเลขการส่งออกแต่ละปีขยายตัวค่อนข้างเร็ว เพราะเมื่อปี 2537 มีมูลค่าเพียง 200 ล้านบาท แต่ในปี 2541 มีมูลค่า 800 ล้านบาท อย่างไรก็ตามตลาดเมล็ดพันธุ์ในเมืองไทยถือว่ายังเล็กมาก เมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าเมล็ดพันธุ์ของตลาดโลก ที่สูงถึง 3,600 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับ ที เอส เอ ตัวเลขส่งออกเฉพาะเมล็ดพันธุ์ควบคุม มีประมาณปีละ 40 ล้านบาท เมื่อรวมกับการส่งออกเมล็ดพันธุ์ ที่ไม่อยู่ในบัญชีควบคุม 28 ชนิด จะตกประมาณปีละ 100 ล้านบาท

กรรมการผู้จัดการ ที เอส เอ กล่าวว่าการทำธุรกิจผลิตเมล็ดพันธุ์นั้น ต้องตื่นตัว และตามกระแสตลาดโลกอยู่ตลอดเวลา การพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ใหม่ๆ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะช่วงอายุความนิยมทั้งพืชผักหรือดอกไม้แต่ ละชนิดนั้น ค่อนข้างจำกัดในเวลาไม่กี่ปี ความต้องการของตลาดจึงเปลี่ยน แปลงค่อนข้างเร็ว ดังนั้น ระบบการจดสิทธิบัตรในสายพันธุ์จึงไม่ค่อยนิยมในกลุ่มบริษัทผู้ผลิต

ปัจจุบันประเทศไทยมีบริษัท ที่จดทะเบียนขออนุญาตทำธุรกิจจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ 200 กว่าราย เป็นบริษัทผู้ส่ง ออกราว 60 ราย บริษัทนำเข้าประมาณ 70 ราย บริษัท ที่ทำการผลิตปรับปรุงสายพันธุ์ไม่เกิน 20 ราย รายใหญ่ๆ เช่น บริษัทเจียไต๋ บริษัท East West Seed บริษัท เพื่อนเกษตร บริษัทโนวาติส บริษัทที เอส เอ บริษัทเช่ง เฮียง ฮวด บริษัทเจี่ย กวง เส็ง เป็นต้น

มุ่งงานวิจัย-พัฒนา

แม้ ที เอส เอ จะดำเนินธุรกิจเมล็ดพันธุ์มากว่า 18 ปีแล้ว แต่ดร.ชัย-ฤกษ์ บอกว่า ที เอส เอ ยังเป็นน้องใหม่ ในวงการธุรกิจนี้ ซึ่งจะต้องพัฒนากิจ-การต่อไป โดยจะให้ความสำคัญกับงาน ด้านวิจัย และพัฒนาสายพันธุ์เป็นหลัก

ดร.ชัยฤกษ์กล่าวว่า หลังจาก ที่บริษัทเข้ามาดำเนินธุรกิจด้านนี้แล้ว ได้เห็นความสำคัญ และศักยภาพของภูมิภาคเขตร้อน ที่มีความเหมาะสมต่อการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชผัก ไม้ดอก ไม้ประดับ จึงต้องการพัฒนาให้มีความต่อเนื่องทั้งด้านการปรับปรุงพันธุ์ เทคโนโลยีการผลิต บุคลากร และการตลาด

เมื่อปี 2540 ได้จัดตั้งหน่วยงานด้านการปรับปรุงพันธุ์พืช บนพื้นที่ 50 ไร่ ที่บ้านโคกหม้อ หมู่ ที่ 2 ตำบลกระเสียว อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อรับผิดชอบงานด้านวิจัยในการปรับปรุงพันธุ์พืช ผัก ดอกไม้ และไม้ดอกไม้ประดับ

ส่วนศูนย์กลางการบริหารงานนั้น ขึ้นกับสำนักงานใหญ่บริษัทที เอส เอ ที่กรุงเทพฯ คอยประสานการบริหารงานไปยังศูนย์อุดรธานี เพื่อการผลิตเมล็ดพันธุ์ ศูนย์สุพรรณบุรี เพื่อการพัฒนา และปรับปรุงพันธุ์ สถานีภูเรือ จังหวัดเลย เพื่อการผลิตไม้ตัดดอก และงานขายเมล็ดพันธุ์

เมื่อแรกเริ่มตั้งบริษัทใหม่ๆ นั้น มีเจ้าหน้าที่ไม่ถึง 10 คน ต้นทุนในการบริหารงานสูงมาก เพราะช่วงการผลิตเมล็ดพันธุ์ทำได้เพียงปีละครั้ง แต่ค่าใช้จ่ายมีทุกเดือน

ต่อมาธุรกิจได้พัฒนาขึ้น มีคู่ค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องขยายองค์กรให้สอดคล้องกับปริมาณงาน ที่เข้ามา จนกระทั่งปัจจุบันมีพนักงานเจ้าหน้าที่ทุกแผนกราว 70 คน ในระยะแรกนั้น ต้องทุ่มเทกับการสร้างพัฒนาบุคลากรอย่างหนัก โดยฝ่ายบริหารจะดูแลแนะนำการทำงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้รากฐานองค์กรมั่นคง และมีคุณภาพ

มีการจัดองค์กรให้คล่องตัวต่อการบริหารงาน โดยแบ่งเป็น 4 แผนก คือ ฝ่ายผลิต ฝ่ายการตลาด ฝ่ายวิจัย และพัฒนา และฝ่ายบริหาร โดยฝ่ายผลิตมีพนักงานสูงสุด 35 คน

มีนักวิจัยประจำแผนกวิจัย และพัฒนามีจำนวน 5 คน อนาคตอันใกล้ จะเพิ่มบุคลากรขึ้นอีก ขณะที่แผนกอื่นๆ เช่น การตลาดก็ต้องพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ละแผนกในองค์กรมีการปรับปรุงให้ทันกับสถาน-การณ์อย่างต่อเนื่อง

เป้าหมายสูงสุดของ ที เอส เอ ที่ฝ่ายบริหารจะต้องเดินไปถึงให้ได้คือ การเป็นแหล่งเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของอาหารทุกประเทศแบบครบวงจร ภายใต้การบริหารของคนไทย ที่ได้มาตรฐานที่สุด เพื่อมีส่วนในการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศ

อาจารยจำเนียน นิลประไพ ประธานกรรมการบริหาร ที เอส เอ ได้ย้ำว่าการขยายกิจการให้เติบโตได้ต้อง อาศัยปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน ทั้งคนปลูก ผู้ใช้ ผู้ซื้อ ซึ่งทั้งสามปัจจัยนี้ต้องมีความสม่ำเสมอควบคู่กัน อีกทั้งการทำงานของทีมงานทั้งหมดไม่ใช่เพียง แต่เร่งพัฒนาความก้าวหน้ากิจการของบริษัทเท่านั้น ทีมงานต้องทำหน้าที่ให้ความรู้เรื่องเทคโนโลยีในการผลิตให้กับเกษตรกรอยู่ควบคู่กันไปด้วย

เพราะประเทศไทยไม่ใช่ NICs (Newlyi Industrial Countries) แต่เหมาะ ที่จะเป็น NACs (Newly Agricultural Countries) มากกว่า เนื่องจากคนไทยมีความพร้อม ที่จะพัฒนาตนเองด้านการเกษตรมากกว่าด้านอุตสาหกรรม

การพัฒนาการทางการเกษตรให้ก้าวหน้าจะสามารถทำให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรส่งออกรายใหญ่ของโลกได้

บรรยายรูป ดร.ชัยฤกษ์ สงวนทรัพยากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที เอส เอ จำกัดกับความภาคภูมิใจในผลิตผลการขาย และพัฒนาสายพันธุ์เมล็ดพันธุ์ทั้งเมล็ดพันธุ์พืช - พันธุ์ไม้ดอกลูกผสม ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทฯ

เมล็ดพันธุ์ ไม้ดอกเหล่านี้ ที เอส เอ พัฒนาขึ้นมาเอง ขณะเดียวกันก็ได้นำเข้าเมล็ดพันธุ์ดอกไม้ลูกผสม และพันธุ์ผสมจากต่างประเทศมาเพาะพันธุ์จำหน่าย

คณะผู้บริหารบริษัท ที เอส เอ นำโดย จำเนียน นิลประไพ(นั่งเก้าอี้ซ้ายสุด) ประธานกรรมการบริหาร หนึ่งในกลุ่มผู้บุกเบิกก่อตั้งบริษัทฯ ท่ามกลางหมู่พนักงาน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.