สั่งถอยBRTแทนสายสีม่วง-ส้ม


ผู้จัดการรายวัน(5 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

คมนาคมแย้ม 90% ไม่เอาบีอาร์ทีแทนรถไฟฟ้าสายสีม่วง-สีส้ม หลังกระแสความไม่พอใจของมวลชนที่ไม่ต้องการเมล์ด่วนพิเศษแทนรถไฟฟ้าแรงกว่าที่คิด "เฮียเพ้ง" แก้เกี้ยวสั่งสนข. ศึกษารูปแบบใหม่เทียบโนโนเรล-ไลท์เรล อย่างไหนคุ้มค่ากว่า ด้าน "คำรบลักขิ์" ยันเดินหน้า สายสีแดง บางซื่อ-รังสิต ก่อนสายแรก พร้อมเปิดประมูลได้ทันปีนี้ ตามด้วยสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ

แหล่งข่าวจากการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ผลการศึกษารูปแบบการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนทดแทนรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ช่วงบางซื่อ-ราษฎร์บูรณะ และสายสีส้ม ช่วงบางกะปิ-บางบำหรุ มีความเป็นไปได้ 90%ที่จะไม่ใช่รถเมล์ด่วนพิเศษ (บีอาร์ที) แต่อาจจะมีระบบรางประเภทอื่นที่มีความเหมาะสมมากกว่า โดยจะเพิ่มงบประมาณไม่มาก แต่ใกล้เคียงกับรถไฟฟ้าเฮฟวี่ เรล ซึ่งเป็นรูปแบบการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงเดิม

ทั้งนี้ หลังจากรัฐบาลประกาศเปลี่ยนแปลงรูปแบบการลงทุนรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสีล้ม โดยจะลดขนาดลงเหลือเพียงเป็นรถบีอาร์ทีได้ก่อให้เกิดกระแสไม่พอใจของประชาชนและเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่อิงอยู่กับเมกะโปรเจกต์ ขณะเดียวกันในซีกฝ่ายค้านโจมตีรัฐบาลอย่างหนักหน่วงว่าหลอกลวงประชาชน

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปศึกษารูปแบบการก่อสร้างใหม่ ว่าจะมีแนวทางใดอีกบ้าง เพื่อให้มีความคุ้มค่ากับการลงทุน โดยให้เปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย งบประมาณในการก่อสร้าง งบประมาณในการบริหารจัดการในการเดินรถ โดยให้สนข.ส่งผลการศึกษากลับมาภายใน 3 สัปดาห์นี้

สำหรับรูปแบบการก่อสร้างอื่นที่ สนข. จะต้องไปศึกษาเพื่อมาเปรียบเทียบกับระบบบีอาร์ที คือ รถไฟฟ้าขนาดเบา(โมโนเรล) และรถไฟฟ้าไลท์เรล

ข้อดีของรถโมโนเรลนั้น คือ การก่อสร้างรวดเร็ว เพราะโครงสร้างพื้นฐานไม่ซับซ้อน ขนาดตอม่อไม่ใหญ่นัก ซึ่งทำให้ประหยัดงบประมาณในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้วย แต่มีข้อด้อยคือ ต้นทุนตัวรถไฟฟ้าค่อนข้างสูง ใกล้เคียงกับรถไฟฟ้าที่วิ่งในรางเฮฟวี่ เรล อย่างไรก็ตามหากกระทรวงคมนาคมเลือกแผนการก่อสร้างแบบโมโนเรล คาดว่างบประมาณซึ่งเดิมปรับลดเหลือ 3.43 แสนล้านบาท จะเพิ่มขึ้นเป็น 4 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขงบประมาณที่ปรับเพิ่มขึ้นไม่สูงนัก

ขณะที่รถไลท์เรลนั้น มีข้อดี คือ การลงทุนไม่สูงมาก เพราะโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็ก แต่มีข้อด้อย คือการเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าแบบที่ให้บริการในปัจจุบันทำได้ยาก เพราะตัวโครงสร้างพื้นฐานและระบบรางแตกต่างกัน

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว่า การที่รัฐบาลปรับลดขนาดโครงการระบบขนส่งมวลชนให้เล็กลงกว่าเดิม เพื่อใช้งบประมาณน้อยลงนั้น ไม่ใช่มาจากสาเหตุว่าประชาชนที่อาศัยย่านเตาปูน บางซื่อ และ ถ. กรุงเทพ-นนท์ ออกมาประท้วงรูปแบบการก่อสร้างจากรถไฟลอยฟ้า ให้เปลี่ยนเป็นรถใต้ดิน แต่เป็นเหตุผลมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเดิมรัฐบาลมีนโยบายเดิมจะใช้เงินภาษีน้ำมันเข้ามาอุดหนุนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แต่เมื่อราคาน้ำมันแพงขึ้น แผนการลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าจึงเปลี่ยนไป

นายคำรบลักขิ์ สุรัสวดี ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า หลังจากการปรับแผนโครงการขนส่งมวลชนใหม่ ทำให้ สนข. ต้องมาพิจารณาด้วยว่ารถไฟฟ้าสายใดจะเริ่มก่อสร้างได้เป็นสายแรก โดยขณะนี้เห็นว่ารถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าสายเหนือ จะเริ่มก่อสร้างได้เป็นลำดับแรก เนื่องจากรถไฟฟ้าสายดังกล่าวจะออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จในเดือน ก.ย. นี้ และประมูลได้ภายในปีนี้

"รมว. คมนาคม สั่งให้เร่งเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าให้ได้โดยเร็วที่สุด เพราะเป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้แต่ละหน่วยงานเร่งประมูลเมกะโปรเจ็กต์ภายในสิ้นปี ส่วนรถไฟฟ้าสายอื่นๆ หากออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ จะทยอยก่อสร้างตามมาเป็นลำดับ ขณะที่บีอาร์ทีนั้น หากรัฐเลือกที่จะก่อสร้างรูปแบบนี้ จะต้องใช้เวลาศึกษาและออกแบบรายละเอียดประมาณ 4-5 เดือน คงเริ่มก่อสร้างไม่ทันปีนี้ แต่จะดำเนินการควบคู่ไปกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆ" นายคำรบลักขิ์ กล่าว

สำหรับรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ที่จะทยอยก่อสร้างตามมา คือ สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หลังจากนั้นจึงเป็นรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม และสีเขียวอ่อน ซึ่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้รับผิดชอบ มีส่วนที่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้คือ ส่วนต่อขยายบีทีเอส อ่อนนุช-สำโรง และสถานีตากสิน-ถนนตากสิน แต่ขณะนี้ กทม. อยู่ระหว่างยื่นเรื่องถึงกระทรวงมหาดไทย ให้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการลงทุน จากเดิมเอกชนลงทุน 100% เป็นขอให้รัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และเอกชนลงทุนระบบเดินรถ โดยจะต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.