|
ดันไทยเป็นศูนย์กลางไฟฟ้า-อิเล็กฯ5ปี
ผู้จัดการรายวัน(5 กันยายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
บอร์ดบีโอไอ ถกวางบทบาทอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ ฝันไกลสู่ศูนย์กลางภูมิภาคในอีก 5 ปีข้างหน้า ไทยเตรียมยกเครื่องทั้งสิทธิประโยชน์ โครงสร้างภาษี ระบบลอจิสติกส์ ประเคนให้สุดลิ่ม ปรับโฉมเน้นลงทุนเป็นแพคเกจหวังดึงลงทุนตั้งแต่ชิ้นสว่นยันสำเร็จรูป พร้อมให้สิทธิพิเศษกับผู้ที่ลงทุนนิคมฯที่รองรับลงทุนอุตสาหกรรมนี้โดยเฉพาะ สุริยะบอกเป็นนัยยักษ์ใหญ่สหรัฐเล็งย้ายฐานมาไทย “คลัง”พร้อมปรับโครงสร้างภาษีเหล็ก-ปิโตรฯหนุน
วานนี้( 4 ก.ย.) คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งนำโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในฐานะประธานบอร์ดบีโอไอ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.อุตสาหกรรม นายทนง พิทยะ รมว.คลัง และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล รมว.คมนาคม ในฐานะกรรมการ ได้ร่วมแถลงข่าวหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการ”ยุทธศาสการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า”กับภาคเอกชน
นายสมคิด กล่าวว่า ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมานักลงทุนจากต่างชาติเริ่มย้านฐานการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์(Electronics&Electrical) หรือ E&E มายังไทยมากขึ้นและเมื่อไทยเริ่มทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรือ FTA โดยเฉพาะกับญี่ปุ่นจะทำให้ศักยภาพไทยมีมากขึ้น ดังนั้นไทยจำเป็นจะต้องปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมดังกล่าวเพื่อรองรับการขยายตัวทางการค้าและการลงทุนใหม่ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลาง E&E ในภูมิภาคอีก 5 ปีข้างหน้า
สำหรับการหารือได้พิจารณา 4 หัวข้อในการปรับโครงสร้างรวมได้แก่ 1. การส่งเสริมที่จะต้องปรับให้เป็นการพิจารณาการลงทุนแบบเป็นแพคเกจ(Package) จากเดิมที่จะอนุมัติให้เป็นโครงการๆ ไป เพื่อให้เกิดการลงทุนเป็นลักษณะของกลุ่มอุตสาหกรรมหรือ Cluster เพื่อเป็นการสร้าง Value Creation หรือมูลค่าทางความรู้ให้มากขึ้นและทำอย่างไรให้ส่งเสริมการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(SMEs) ของไทยให้เข้มแข็งไปพร้อมๆ กัน โดยในรายละเอียดทั้งหมดบีโอไอจะต้องสรุปแผนงานให้เสร็จภายใน 1-2 เดือนจากนี้
2.การปรับโครงสร้างภาษีอากรที่ปัจจุบันยังเหลื่อมล้ำให้เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม E&E มากขึ้น โดยเรื่องดังกล่าวทางกระทรวงการคลังจะรับไปพิจารณาโดยให้เวลาเอกชนไปรวบรวมข้อเสนอดังกล่าวกลับมาภายใน 1-2 เดือนเช่นกัน 3. การวิจัยและพัฒนา(R&D) การส่งเสริมการลงทุนจะต้องมุ่งเน้น R&D เป็นสำคัญซึ่งจะต้องให้สิทธิประโยชน์จูงใจเอกชนในการลงทุนด้านนี้ และ 4. การดูแลโครงสร้างพื้นฐานให้เหมาะสมโดยเฉพาะคงจะต้องพิจารณาในการให้ส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรมที่จะรองรับอุตสาหกรรมดังกล่าวขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อให้เกิดการลงทุนที่เชื่อมโยงกัน
“หลักการคงจะต้องดูภาพรวมคงไม่ใช่ให้ภาษีต่ำๆ เพื่อดึงดูดการลงทุน เพราะบางครั้งศักยภาพอื่นๆที่เรามีก็น่าจะเพียงพอ และภาษีก็น่าจะดูอัตราที่เหมาะสม ปัจจุบันไทยส่งออกอุตสาหกรรมดังกล่าวอยู่ 1.3 ล้านล้านบาทในปี 2547 การปรับยุทธศาสตร์ครั้งนี้ มีเป้าหมายที่จะดึงการลงทุนเพื่อเพิ่มการส่งออก ไม่ต่ำกว่าอีก 50%ในอีก 4-5ปีข้างหน้า ”นายสมคิดกล่าว
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า หลักการที่จะให้เป็นแพคเกจ อาทิ เอกชนยื่นเสนอลงทุนมารวม 5 เฟส ปกติบีโอไอจะอนุมัติทีละโครงการหรือให้ทีละเฟสและสิทธิประโยชน์สูงสุด 8 ปีซึ่งของใหม่ยื่นมาทั้งหมดก่อนแล้วเฟสแรกลงทุนไปก่อนพอเฟส 2 ขึ้นทีหลังเฟสแรกก็จะได้รับการขยายให้เท่ากับ 8 ปีซึ่งโดยรวมโครงการแรกจะได้รับมากกว่า 8 ปี แต่ในรายละเอียดทางบีโอไอจะต้องไปดูความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนี้แล้วยังจะต้องไปพิจารณาให้การส่งเสริมการลงทุนนิคมอุตสาหกรรมเฉพาะอุตสาหกรรมดังกล่าวไปพร้อมๆ กันด้วยเพื่อที่จะทำให้การลงทุนมีศักยภาพเพราะจะสามารถดึงการลงทุนที่เป็น Cluter ได้ ซึ่งจะทำให้ลดต้นทุนรวม และที่สำคัญการลงทุนจะต้องมีหลักการในการส่งเสริมการพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนให้กับคนไทยด้วย
นายทนง พิทยะ รมว.คลังกล่าวว่า สำหรับโครงสร้างภาษีที่เหลื่อมล้ำระหว่างวัตถุดิบกับสินค้าสำเร็จรูปยังมีหลายประเภทที่คลังกำลังพิจารณาอยู่โดยเฉพาะเหล็ก และปิโตรเคมี ที่มีการปกป้องทางภาษีไว้สูงทำให้สินค้าสำเร็จรูปที่ใช้เหล็กและปิโตรฯเป็นวัตถุดิบมีต้นทุนสูงไปด้วยก็คงจะต้องไปพิจารณาในจุดนี้อย่างเหมาะสมต่อไป
นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.คมนาคมกล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาการพัฒนาระบบโลจิสติกส์รองรับเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงและผลักดันให้เกิดนิคมอุตสาหกรรม Sciene & Technology Industrial Park ที่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญเพราะปัจจุบันการลงทุนอุตสาหกรรมนี้ในไทยยังกระจายอยู่ไปทั่วทำให้ไม่รวมตัวเป็น Cluster
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|