|
ดีมานด์แฟลชเมมโมรีพุ่ง ราคาดิ่งสวนทาง
ผู้จัดการรายวัน(2 กันยายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
คาดว่าปริมาณความต้องการ แฟลชเมมโมรีจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่สิ้นปีนี้ ไปจนถึงปี 2007 ตามกระแสความนิยมในกล้องดิจิตอลและเครื่องเล่นเพลงดิจิตอลตรงกันข้ามกับราคา ที่คาดว่าจะปรับตัวลดลงสวนทางดีมานด์ อันเป็นผลจากกลยุทธ์ราคาของผู้นำตลาด อย่างซัมซุงฯ ตามการรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานเมื่อวันพุธที่ 31 สิงหาคม 2005 ว่า บริษัทซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ (Samsung Electronics) ผู้ผลิตแฟลชเมมโมรีอันดับ 1 ของโลกด้วยส่วนแบ่ง ทางการตลาดแฟลชเมมโมรีขนาด 60% มีแผน ใช้กลยุทธ์ราคาเพื่อเรียกความสนใจจากบรรดาผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำให้หันมาใช้แฟลชเมมโมรีแทนฮาร์ดดิสก์ ขณะเดียวกันก็เป็น การขุดหลุมดักผู้ผลิตรายย่อยเล็กๆ ที่ไม่มีกำลังในการแข่งขันด้านราคา กันไม่ให้เข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดด้วย
"ดีมานด์สำหรับแฟลชเมมโมรีชนิดแนน (NAND) จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะช่วยคริสต์มาสสิ้นปี ตามปริมาณความต้องการเครื่องเล่น MP3 และกล้องดิจิตอล" นัม ฮุง คิม (Nam Hyung Kim) นักวิเคราะห์จากไอซัปพลาย (iSuppli) กล่าว
ไอซัปพลายเชื่อว่า ตลาดแนนแฟลชจะมีการขยายตัวมากกว่า 65% ในปี 2007 โดยมีมูลค่า เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 10.9 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 449,625 ล้านบาท) เทียบกับอัตราการเติบโตขนาด 24% ของตลาดไมโครชิปรวม ตามข้อมูลจากสำนักงานสถิติการค้าอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์โลก หรือดับเบิลยูเอสทีเอส (World Semiconductor Trade Statistics; WSTS)
แนนแฟลชมักถูกใช้ในกล้องดิจิตอล เครื่องเล่น เพลงดิจิตอล และเครื่องเล่น MP3 แต่เนื่องจากปัจจุบันผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือได้กำหนดให้ความสามารถในการเล่นเพลงดิจิตอลเป็นคุณลักษณะหนึ่งของโทรศัพท์มือถือด้วย ดังนั้น โทรศัพท์มือถือจึงกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระตุ้นความต้องการแฟลชเมมโมรี
บริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ (Apple Computer) ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์และเจ้าของแบรนด์เครื่องเล่นเพลงดิจิตอลชื่อดัง iPod และ iPod Shuffle มีแผนซื้อแฟลชเมมโมรีจากบริษัทซัมซุงฯมากถึง 40% ของกำลังการผลิต เพื่อใช้กับเครื่องเล่นเพลงดิจิตอลรุ่นใหม่ iPod Mini รุ่น 4GB ที่มีกำหนดวางตลาดในสิ้นปีนี้
ดี.เจ. ยุค (D.J. Yook) นักวิเคราะห์จากดอยช์แบงก์ (Deutsche Bank) คาดว่า การเซ็นสัญญาระหว่างแอปเปิลฯกับซัมซุงฯจะทำให้แฟลชเมมโมรีขาดตลาดอย่างแน่นอน เริ่มตั้งแต่ไตรมาสนี้เป็นต้นไป ไปจนถึงกลางปี 2006 ขณะที่ซัมซุงฯเผยว่าเริ่มมีปัญหามาตั้งแต่ไตรมาส 2
"สำหรับตลาดแนนแฟลช เชื่อว่าดีมานด์จะสูงกว่าซัปพลายไปจนถึงปี 2006 ตามการมาของเครื่องเล่นเพลงดิจิตอลรุ่นใหม่ที่ใช้หน่วยความจำขนาด 2GB และ 4GB รวมไปถึงการ์ดหน่วยความจำความจุสูงและโทรศัพท์ 3G" ประชาสัมพันธ์ ของซัมซุงฯกล่าว
ซัมซุงฯเป็นผู้นำในตลาดแฟลชเมมโมรี ตาม มาด้วยบริษัทโตชิบา (Toshiba) ด้วยมาร์เกตแชร์ ขนาด 28% และบริษัทไฮนิกซ์เซมิคอนดักเตอร์ (Hynix Semiconductor) เป็นอันดับ 3 และบริษัทไมครอนเทคโนโลยี (Micron Technology) เป็นอันดับ 4
ปัจจุบันเราสามารถตอบสนองดีมานด์ได้แค่ ประมาณ 70% และคาดว่าจะเป็นเช่นนี้ไปอีกจนถึง ไตรมาส 4 อัตสึโตชิ นิชิดะ (Atsutoshi Nishida) ประธานบริษัทโตชิบา กล่าว ตัดราคา
แม้ดีมานด์จะสูงขึ้น แต่นักวิเคราะห์ว่าราคาจะลดลง ตามความเคลื่อนไหวของซัมซุงฯซึ่งเป็นผู้นำตลาด
"ซัมซุงฯมีแผนเร่งผลิตแนนแฟลชรุ่นความจุสูงออกสู่ตลาดอันส่งผลให้ราคาแนนแฟลชในปัจจุบันปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วโดยอัตโนมัติ"
เราคาดว่าราคาแนนแฟลชจะปรับลดลงอย่าง ต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี โดยคาดว่าไตรมาส 3 จะลดลงประมาณ 15% และไตรมาส 4 ลดลงประมาณ 30% หรือรวมๆ ประมาณ 50% สำหรับปี 2005 ประชาสัมพันธ์ของซัมซุงฯกล่าวและว่า "รุ่นความจุสูง ลำพังตัวมันเองก็มีต้นทุนผลิตต่ำกว่ารุ่นปัจจุบัน 30% อยู่แล้ว"
ซัมซุงฯสามารถลดต้นทุนการผลิตแนนแฟลช (ไม่รวมค่าการตลาด) ได้มากถึง 40% จากการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีจาก 90 นาโนเมตร ไปเป็น 70 นาโนเมตร
นักวิเคราะห์มองว่า ซัมซุงฯยังใช้กลยุทธ์ราคาในการดึงผู้ผลิตเครื่องเล่นเพลงดิจิตอลชั้นนำ เช่น แอปเปิลฯ ให้หันมาใช้แนนแฟลชแทนฮาร์ดดิสก์ด้วย ที่ระดับ 4GB แนนแฟลชจะแพงกว่าฮาร์ดดิสก์ประมาณ 2 เท่า
"เพราะมาร์จิ้นกำไรที่สูง เชื่อว่าซัมซุงฯจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการเซ็นสัญญากับแอปเปิลฯ" คิมจากไอซัปพลายกล่าว
เมื่อผู้นำลดราคา คนอื่นก็ต้องลดตาม
ไอซัปพลายระบุว่า ภายในไตรมาส 2 ปี 2006 ราคาแนนแฟลชขนาด 1 กิกะบิตจะลดลงจาก 7 ดอลลาร์ (ประมาณ 289 บาท) มาอยู่ที่ระดับ 4.5 ดอลลาร์ (ประมาณ 186 บาท)
ซัมซุงฯและไฮนิกซ์ นอกจากจะผลิตแนนแฟลชแล้ว พวกเขายังผลิตดีแรม (DRAM) สำหรับพีซีด้วย ตรงกันข้ามกับโตชิบาที่ผลิตแต่แฟลชเมมโมรีเพียงอย่างเดียว
"ซัมซุงฯและไฮนิกซ์สามารถปรับไลน์การผลิต ไปที่ดีแรมได้หากแนนแฟลชมีปัญหา นั่นหมายถึง ความเสี่ยงที่ต่ำกว่าปัญหาจึงตกอยู่ที่โตชิบา เพราะพวกเขาไม่มีทางเลือก" โยชิฮิระ โตโยซากิ (Yoshihisa Toyosaki) ประธานบริษัทไอซัปพลาย กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|