"Thailand's Brand"กระหึ่ม หวังไกลทั้งใน-ต่างประเทศ


ผู้จัดการรายวัน(2 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ปัจจุบัน นอกจากตราสัญลักษณ์สินค้าไทย หรือ Thailand's Brand จะเป็นที่รู้จักและเล็งเห็นคุณค่าอย่างกว้างขวางของผู้ประกอบการผลิตและส่งออกสินค้าไทยแล้ว สัญลักษณ์ Thailand's Brand ยังยึดหัวหาดในต่างประเทศเพิ่มขึ้นล่าสุด บริษัท Kreyenhop & Kluge Gmbh & Co Food Import ประเทศเยอรมนี ได้ขออนุญาตใช้สัญลักษณ์ตราสินค้าไทย ติดประดับบนรถบรรทุกสินค้าของบริษัทฯ อีกด้วย

ลองไปย้อนดูกันหน่อยว่า Thailand's Brand มีความเป็นมาอย่างไร และกรมส่งเสริมการส่งออก ได้สนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการส่งออกไทยหันมาใช้ Thailand's Brand กันด้วยวิธีใดบ้าง

ย้อนหลังไปเมื่อเดือน มี.ค.2542 คณะ กรรมการรัฐมนตรีว่าด้วยนโยบายเศรษฐกิจได้มีมติเห็นชอบแผนพัฒนาและส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้เสนอกลยุทธ์สำคัญ ได้แก่ การเร่งสร้างขีดความสามารถทางการค้าของไทยในตลาดโลก ด้วยการสร้างภาพลักษณ์ประเทศไทยและสินค้าไทย

นางจันทรา บูรณฤกษ์ อธิบดีกรมส่งเสริม การส่งออก กล่าวว่า ในการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยและสินค้าไทย มุ่งเน้นการสร้างทัศนคติและภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยโดยรวม (Country Image) และของสินค้าไทย (Product Image) ผ่านการผลิตด้วยฝีมือที่ประณีตพิถีพิถัน ซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษและถือเป็นจุดเด่นของสินค้าไทย

โดยใช้สัญลักษณ์ "ตราประเทศไทย" หรือ Country Logo ซึ่งมีคำว่า "Thailand : Land of Diversity & Refinement" และสัญลักษณ์ "ตราสินค้าไทย" หรือ Product Logo ซึ่งมีคำว่า "Thailand : Diversity & Refinement" เป็นสื่อในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์

วัตถุประสงค์ของโครงการฯ ก็เพื่อสร้างภาพลักษณ์ประเทศไทยให้เกิดเป็นภาพที่ชัดเจนในใจของผู้ซื้อ ผู้บริโภคทั่วโลกว่า ไทยเป็นแหล่งผลิตสินค้าและบริการที่มีความหลากหลาย และพิถีพิถันในการผลิตและให้บริการ ส่งเสริมให้บริษัทผู้ส่งออกไทยใช้สัญลักษณ์ตราสินค้าไทย หรือ Thailand's Brand กับสินค้าและบรรจุภัณฑ์ในการส่งออกอย่างกว้างขวางและแพร่หลาย

อีกทั้งเพื่อเป็นการผลักดันให้สัญลักษณ์ตราสินค้าไทย หรือ Thailand's Brand เป็นที่รู้จักและนิยมของผู้นำเข้า ผู้ซื้อ และผู้บริโภค ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อมุ่งให้ Thailand's Brand เป็น Citizen Brand ในที่สุด และเพื่อช่วยรับรองแก่ผู้ซื้อ ผู้บริโภคว่าสินค้าที่มีสัญลักษณ์ตราสินค้าไทยเป็นสินค้าที่มีความพิถีพิถันในทุกขั้นตอนการผลิต

หลังจากที่กรมส่งเสริมการส่งออก ได้มีการเปิดตัวโครงการฯ เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 มี.ค.2542 จากนั้นได้มีการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยและสินค้าไทยสู่สายตาชาวโลก รวมทั้งการเปิดตัวในต่างประเทศที่ประเทศญี่ปุ่น และในประเทศอื่น ๆ ตามมา

ขณะเดียวกัน กรมส่งเสริมการส่งออกยังได้เผยแพร่สัญลักษณ์ตราประเทศไทยและตราสินค้าไทย ควบคู่ไปกับการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ในงานแสดงสินค้าที่กรมส่งเสริมการส่งออกจัดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการอื่นๆ ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ตราสัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นอย่างดี

ในส่วนของการจัดงานแสดงสินค้าที่กรมส่งเสริมการส่งออกจัดขึ้น ก็ได้มีการเผยแพร่ตราสัญลักษณ์ประเทศไทยและสินค้าไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น เช่น การจัดงานแสดงสินค้าสัญลักษณ์ตราสินค้าไทย การเปิดบูทตอบข้อซักถามของผู้ส่งออกและประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ ในงานต่างๆ เช่น งานวันส่งเสริมการส่งออกไทย งานบีโอไอแฟร์ งานอะเมซิ่งไทยแลนด์ แกรนด์เซลส์ รวมทั้งการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ทั้ง โทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ อินเทอร์เน็ต สถานีโทรทัศน์ต่างประเทศ เช่น CNN, CNBC, Discovery สื่อสิ่งพิมพ์ต่างประเทศ เช่น Forbe. Fortune เป็นต้น

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการส่งออก เห็นว่าธุรกิจร้านอาหาร/ภัตตาคารไทย เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการพัฒนาให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั่วโลกได้ จึงได้จัดทำโครงการให้ตรารับรอง Thailand's Brand แก่ร้านอาหารไทยทั่วโลกที่ได้มาตรฐานตามที่กรมฯ กำหนด รวมทั้งได้ขอความร่วมมือจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศ ในการคัดเลือกร้านอาหาร/ภัตตาคารไทยในต่างประเทศที่ได้มาตรฐาน เข้าร่วมโครงการใช้ Thailand's Brand อีกด้วย

นับตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบันมีผู้ส่งออกไทยที่ได้รับอนุญาตให้ใช้สัญลักษณ์ตราสินค้าไทยจำนวน 948 ราย ใน 20 หมวดสินค้า ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องสำอางและเครื่องมือแพทย์ ของขวัญและของตกแต่งบ้าน ของใช้ในบ้าน เฟอร์นิเจอร์ ของเล่น เคหะสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์พลาสติกและยาง เครื่องเขียนและสิ่งพิมพ์ วัสดุก่อสร้างและเครื่องมือบรรจุภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องหนังและรองเท้า เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ และ สินค้าอื่นๆ

นอกจากการดำเนินกิจกรรมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สัญลักษณ์ประเทศไทยและสินค้าไทยอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้ว กรมส่งเสริมการส่งออก ยังมีแผนที่จะประชาสัมพันธ์สัญลักษณ์ "แบรนด์ประเทศไทย" และ "ตราสินค้าไท" ผ่านสื่ออื่นๆ และประสานงานกับการสื่อสารแห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำแสตมป์รูปสัญลักษณ์ Thailand's Brand และพิมพ์ลงในไปรษณียบัตร

รวมทั้งร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดตั้งสมาคมสร้างตราผลิตภัณฑ์ไทย และคาดว่าจะมีมาตรการส่งเสริมอื่นๆ แก่ผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาตในการสร้างและพัฒนา "ตราสินค้าของเอกชน" หรือ Individual Brand สู่ตลาดต่างประเทศต่อไป

กรมส่งเสริมการส่งออก ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างภาพลักษณ์ประเทศไทยและตราสินค้าไทยขนาดนี้ Thailand's Brand ไม่กระหึ่มไปทั่วโลกก็ให้มันรู้ไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.