เพย์ซี่เตรียมบริการใหม่ต้นปีหน้า ใช้โทรศัพท์มือถือจ่ายค่ารถไฟฟ้า


ผู้จัดการรายวัน(1 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

เพย์ซี่ ผู้ให้บริการชำระเงินผ่านทางโทรศัพท์มือถือภายใต้ชื่อบริการ "Mobile Payment" ขยายไลน์ธุรกิจเตรียมเปิดให้บริการ "คอน-แทคเลส เพย์เมนท์" ใช้โทรศัพท์มือถือจ่ายค่ารถไฟฟ้า ต้นปีหน้า ล่าสุดเปิด "A-Cash on Mobile" ที่ร่วมกับบีเอ็ม มีเดีย ช่วยผู้เล่นเกมเติมเงินผ่านทางโทรศัพท์มือถือช่องทางใหม่คุมค่าใช้จ่ายการเล่นเกม ตั้งเป้าสิ้นปีมีลูกค้ารวมกว่า 2 แสนราย

นายศิรเวท ศุขเนตร ประธานโมบาย เพย์เมนท์ คลับ บริษัท เพย์ซี่ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ที่ผ่านมาเพย์ซี่เปิดให้บริการ ชำระเงินผ่านทางโทรศัพท์มือถือภายใต้ชื่อบริการ "Mobile Payment Club" หรือ MPC โดยการใช้ซอฟต์แวร์เชื่อมโยง ระบบรวมกันให้บริการจ่าย-ชำระเงิน-โอนเงินด้วยโทรศัพท์มือถืออำนวยความสะดวกโอนเงินระหว่างผู้ใช้บริการกับร้านค้าผ่านทาง SMS และ IVR
โมบาย เพย์เมนท์ เป็นช่องทางที่พัฒนาขึ้นจากความร่วมมือของธนาคารพาณิชย์ ร้านค้า และผู้ประกอบการ โดยใช้เลขหมายโทรศัพท์มือถือผูกกับบัญชีธนาคารหรือบัญชีบัตรเครดิตเพื่อใช้ชำระ ค่าบริการสั่งซื้อสินค้าและชำระค่าสินค้าหรือบริการต่างๆ รวมทั้งสาธารณูปโภค
ปัจจุบัน โมบาย เพยเมนท์ สามารถใช้บริการได้ทั้งโทรศัพท์มือถือในระบบ ดีแทค เอไอเอส และออเร้นจ์ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณปลายปีนี้ ซึ่งนอกจากการรับส่งข้อมูลด้วย SMS แล้ว ยังพัฒนาใช้ระบบ IVR ซึ่งเป็นโทรศัพท์อัตโนมัติจากธนาคารสำหรับผู้ใช้บริการกดรหัส PIN เพื่อยืนยันการชำระเงินโดยตรงกับธนาคาร

ทั้งนี้ เพย์ซี่จะให้ชื่อ Mobile Payment Club เป็นชื่อกลางในการให้บริการ โดยทางธนาคารที่ร่วมให้บริการในปัจจุบัน 4 แห่งก็ใช้ชื่อบริการที่แตกต่าง กันออกไป ธนาคารเอเชีย ชื่อบริการ Asia-M-pay, ธนาคารไทยพาณิชย์ ชื่อบริการ SCB Easy M-Pay, ธนาคารกสิกรไทย ชื่อบริการ Mobile Playment Club by KBANK, ธนาคารกรุงไทย ชื่อบริการ KTB M-Play ส่วนธนาคารกรุง-ศรีอยุธยาและธนาคารกรุงเทพ เตรียมเปิด ให้บริการปลายปี 2548 ส่วนธนาคารนครหลวงไทยและธนาคารออมสินเตรียม เปิดให้บริการในปี 2549 และกับร้านค้าที่ให้บริการ 40-50 แห่ง

นายศิรเวทกล่าวว่า Remote Payment หรือรูปแบบการชำระค่าสินค้า และบริการที่ผู้ซื้อและผู้ขายไม่ได้อยู่ในที่เดียวกัน โดยปัจจุบันเริ่มได้รับความนิยม มากยิ่งขึ้นโดยมีมูลค่าตลาดรวม Remote Payment ประมาณ 2,000 ล้านทราน-เซกชันในแต่ละปี หรือคิดเป็นตัวเลขประมาณ 6 แสนล้านบาทต่อปี

ในส่วนของเพย์ซี่มีการเติบโต 2-3 เท่าตัวนับตั้งแต่ต้นปี 2548 หรือปัจจุบัน โดยตั้งเป้าหมายรายได้ในปี 2548 ไว้ที่ ลูกค้า 2 แสนราย หรือประมาณ 6 แสน ทรานเซกชัน ด้วยอัตราการบริการต่อ 1 ทรานเซกชัน 7 บาท ในจำนวนนี้ เพย์ซี่แบ่งรายได้กับโอเปอเรเตอร์คนละครึ่ง ส่วนธนาคารจะได้จากร้านค้าที่ร่วมให้บริการ

นายศิรเวท กล่าวว่า เพย์ซี่ เตรียมเปิดให้บริการ "คอนแทคเลส เพย์เมนท์" บริการชำระเงินผ่านทางโทรศัพท์มือถือใน ลักษณะเพย์แอดพอยท์ ในลักษณะการใช้บริการที่ผู้ใช้บริการนำโทรศัพท์มือถือผ่านเครื่องอ่านที่สถานีรถไฟฟ้าเพื่อการตัดเงินเป็นค่าบริการ แทนการซื้อบัตรโดยสาร ซึ่งปัจจุบันกำลังประสานกับทั้งรถไฟฟ้าใต้ดินและ BTS เพื่อนำมาเปิดให้บริการในต้นปีหน้า

"คอนแทคเลส เพย์เมนท์" จะเหมาะ การทำทรานเซกต์ที่มีมูลค่าไม่มากนักครั้งละ 50-100 บาท เพื่อแทนการจ่ายเงิน อาจกำหนดให้มีการใส่เงินไว้ในธนาคารไม่เกินครั้งละ 2,000 บาท ส่วนการใช้จ่าย ในวงเงินสูงอย่างการซื้อสินค้าตามซูเปอร์ มาร์เกตก็จะอยู่ในวงเงินจำกัด โดยปัจจุบัน อยู่ในระหว่างการพัฒนาซอฟต์แวร์ร่วมกับ โนเกีย ซัมซุง โมโตโรล่า เบนคิว และ ซัปพลายเออร์รายอื่นๆ
ผู้บริหารเพย์ซี่กล่าวว่า กับบริการใหม่ที่จะเปิดให้บริการนี้ มองว่าไม่ได้เป็น คู่แข่งกับใคร หรือแม้แต่เอไอเอส ด้วยบริการของเพย์ซี่จะมีธนาคารเป็นผู้ให้บริการเป็นหลัก ธนาคารเป็นผู้ทำการตลาดเอง เพย์ซี่ไม่ได้เป็นผู้เก็บเงิน แต่จะเป็นเหมือนบุรุษไปรษณีย์รับส่งข้อมูล เป็นผู้อยู่เบื้องหลังหรือเป็นดาต้าโปรเซสซิ่ง ในการทำทรานเซกชัน จึงไม่ได้แข่งขันบริการ M-Pay ของเอไอเอส แต่มองว่าเป็นการเสริมกันมากกว่า

รวมทั้งบริการอี-เพย์ของค่ายฮาตาริ ซึ่งเป็นการชำระค่าสินค้าและบริการพรีเพด ทุกชนิดที่เพิ่งเปิดให้บริการ ทำให้ผู้ใช้บริการที่ต้องการซื้อสินค้าพรีเพดอย่าง บัตรเติมเงิน ค่าบริการอินเทอร์เน็ต และเกมออนไลน์สามารถซื้อบริการได้ผ่าน ตู้บริการอี-เพย์โดยจะได้รหัสใช้บริการเหมือนกับการซื้อบัตรเติมเงิน ซึ่งก็ไม่ได้เป็นคู่แข่งกับเพย์ซี่เช่นกัน เพราะเพย์ซี่เป็นการทำทรานเซกชันผ่านธนาคาร ผ่านทางโทรศัพท์มือถือผู้ใช้บริการจึงไม่ต้องนำเงินติดตัวมาใช้จ่าย แต่จะโอนเงินเข้าไว้ในบัญชี

เพย์ซี่ตั้งเป้าว่าในปี 2548 จะมีลูกค้า ประมาณ 2 แสนราย หรือประมาณ 6 แสน ทรานเซกชัน รายได้ก่อนหักจากโอเปอ- เรเตอร์ประมาณ 4-5 ล้านบาท หรือรายได้เฉพาะของเพย์ซี่ประมาณเดือนละ 1-3 ล้านบาท

"ธุรกิจนี้มีช่องทางทำเงินได้อีกมาก เพียงแต่เป็นธุรกิจในระยะยาว 1-2 ปีแรก เป็นการลงทุน และต้องใช้เวลาอีกสัก 2-3 ปีจึงจะคุ้มทุน"

ล่าสุดเพย์ซี่จับมือกับบริษัท บีเอ็ม มีเดีย (ประเทศไทย)ผู้นำในธุรกิจเกมออนไลน์ เช่น Ragnarok เปิดให้บริการ "A-Cash on Mobile" โดยลูกค้าสามารถ ซื้อบัตร A-Cash ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ โดยใช้วิธีการส่ง SMS ช่วยให้ผู้ใช้เติมเวลาเล่นเกมออนไลน์ได้สะดวกทันใจในทุกที่ ทุกเวลา ทั้งผู้ปกครองสามารถคุมการใช้จ่ายเงินในการเล่นเกมได้ เพราะเป็นการตัดเงินจากบัญชีธนาคาร


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.