บลจ.ฟินันซ่าภาพใหม่กองทุนรวมที่น่าจับตา


ผู้จัดการรายวัน(1 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

คนที่ติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับวงการกองทุนอยู่เป็นประจำ คงจะยังจำกันได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของบริษัทจัดการกองทุนแห่งหนึ่งในบ้านเรา นั่นก็คือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงเทพธนาทร หรือชื่อที่คุ้นหูกันในนาม บลจ.บีฟิท ที่มีกลุ่มบริษัททางการเงินที่มีชื่อเสียงอย่าง "กลุ่มฟินันซ่า" เข้ามาบริหาร แทนด้วยการซื้อใบอนุญาตการจัดการกองทุนต่อจากบลจ.บีฟิท จนกลายมาเป็นหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ฟินันซ่า จำกัด ในปัจจุบัน

สำหรับฟินันซ่าเองถือเป็นบริษัททางการเงินที่ เติบโตมากับธุรกิจกองทุนอยู่แล้ว ซึ่งในช่วงแรกของการลงทุนนั้น เป็นการระดมเงินในต่างประเทศเข้ามาลงทุนในแถบเอเชียอาคเนย์ เรื่อยมาจนกลายเป็นกลุ่มบริษัทฟินันซ่า ที่เห็นทั้งในรูปของบริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทประกันชีวิตด้วย ธีระ ภู่ตระกูล ประธานกรรมการบริหาร บลจ. ฟินันซ่ากล่าว

ธีระ กล่าวว่า หลังจากนั้น อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ว่า ฟินันซ่ามีแผนที่จะยกระดับตัวเองเป็นแบงก์โดยร่วมกับทางกลุ่มบีฟิท แต่เนื่องจากติดขัดในบางเรื่องจนต้องยกเลิกไป ซึ่งจากการมีความสัมพันธ์ในครั้งนี้เองทำให้ฟินันซ่าเห็นโอกาสในการทำธุรกิจกองทุนรวม ถึงได้เข้ามาซื้อธุรกิจกองทุนรวมต่อจาก บลจ.บีฟิท เต็ม 100% และกลายมาเป็น บลจ.ฟินันซ่าในปัจจุบัน

สำหรับบลจ.บีฟิทเดิมนั้น มีพอร์ตทรัพย์สินภายใต้การบริหารอยู่ประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นหลัก เนื่องจาก บลจ.บีฟิทเองถือเป็นผู้บุกเบิกกองทุนประเภทดังกล่าว นอกจากนั้นก็มีกองทุนรวมบ้างทั้งกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) รวมถึงกองทุนส่วนบุคคลด้วย

ซึ่งหลังจากที่ฟินันซ่าเข้ามา ประเด็นหลักๆที่เราให้ความสำคัญคือ รูปแบบการออมเพื่อวัยเกษียณ หรือ Employee's Choice ในรูปของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นรูปแบบการออมที่ยังไม่มีในตลาด

ธีระกล่าวว่า การลงทุนในรูปแบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น ส่วนใหญ่จะมีอยู่ในองค์กรขนาดใหญ่ และมีพนักงานเป็นจำนวนมาก โดยพนักงานแต่ละคนนั้นความต้องการทางการลงทุนก็แตกต่างกันออกไปตามวัยที่แตกต่างกัน ซึ่งรูปแบบการลงทุนผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปัจจุบัน ผู้บริหารกองทุนจะจัดสรรเงิน ลงทุนนั้นไปลงทุนเพียงรูปแบบเดียวเท่านั้น เช่น การไปลงทุนในพันธบัตรหรือลงทุนในหุ้น โดยที่ไม่มีการกระจายสัดส่วนการลงทุนออกไป ทำให้ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการตามรูปแบบการลงทุนของแต่ละคนได้
ดังนั้น เราจึงหาทางเลือกให้แก่พนักงานมากขึ้น เพื่อให้ตรงตามรูปแบบการลงทุนและความต้องการในแต่ละช่วงอายุ ด้านการจัดสรรการลงทุนแบบกระจายออกไป ทั้งการลงทุนในตราสารหนี้ กองทุนรวมประเภทกองทุนหุ้น หรือกองทุน LTF และ RMF รวมไปถึงการลงทุนต่างประเทศด้วย ซึ่งปัจจุบันสามารถลงทุนผ่านกองทุนที่ลงทุนต่างประเทศ (FIF) ได้

ทั้งนี้ ในการกระจายการลงทุนออกไปนั้น จะพิจารณา ตามความต้องการของผู้ออมในแต่ละช่วงอายุเป็นหลัก เช่น คนที่เริ่มทำงานใหม่ๆ อาจจะยังรับความเสี่ยงจากการลงทุน ได้ สัดส่วนการลงทุนก็อาจจะให้ความสำคัญกับการลงทุนในหุ้นเป็นหลัก ที่เหลือบางส่วนก็กระจายไปลงทุนในกองทุน LTF และ RMF หรือ FIF ด้วย

ส่วนผู้ออมที่ทำงานมาแล้วระยะหนึ่งรวมทั้งผู้ออมที่อยู่ในวัยใกล้เกษียณอายุการทำงาน รูปแบบการลงทุนก็จะให้ความสำคัญกับการลงทุนในตราสารหนี้เข้ามาด้วย เนื่องจากความเสี่ยงจากการลงทุนน้อยกว่า แต่ก็จะมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นด้วย

ธีระ บอกกับเราว่า รูปแบบการลงทุนดังกล่าว ถือเป็น จุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการบริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในบ้านเรา เนื่องจากที่ผ่านมากองทุนประเภทนี้ไม่ได้มีการพัฒนาสักเท่าไหร่ แต่การที่เห็นธุรกิจ มีการแข่งขันสูงนั้นมาจากการแข่งขันในเรื่องของค่าธรรมเนียม มากกว่า

นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่เราต้องการพัฒนากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ การที่พนักงานหรือผู้ออมสามารถถือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นติดตัวไปด้วย ภายหลังออกจากที่ทำงานเดิมหรือมีการเปลี่ยนงาน แทนที่จะจ่ายคืนให้ทั้งหมดอย่างเช่นในปัจจุบัน นอกเหนือ จากนั้น หากผู้ออมออกไปทำงานอิสระ ก็สามารถนำเงินออม นั้นโอนเข้าไปในพอร์ตการลงทุน LTF และ RMF ได้ด้วย
ซึ่งธีระบอกว่า รูปแบบการออมดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทำกันอยู่แล้วในต่างประเทศ ซึ่งสำหรับไทยเองขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อกำหนดแนวทางว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังติด ปัญหาเรื่องภาษีกับกรมสรรพากรอยู่ ซึ่งหากหลักเกณฑ์ ดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากทุกหน่วยงานแล้ว เชื่อว่าจะช่วยให้กองทุนรวมสำรองเลี้ยงชีพทั้งอุตสาหกรรมพัฒนาขึ้นมาได้ ซึ่งต่อไปในอนาคต อาจจะไม่จำเป็นต้องตั้งกองทุนประเภทดังกล่าวขึ้นมา แต่สามารถนำเงินออมนั้นไปลงทุนโดยตรงได้เลย

ทั้งนี้ จากการนำเสนอรูปแบบการลงทุนดังกล่าว ให้ลูกค้าที่มีอยู่ปัจจุบัน ได้รับการตอบรับค่อนข้างดี ซึ่งแผนในอนาคตก็จะขยายฐานไปสู่ลูกค้าใหม่หรือองค์กรอื่นๆ ต่อไป แต่การที่องค์กรใหญ่ๆ มีการจับคู่หรือมีผู้บริหารจัดการแล้ว ซึ่งการที่จะเพิ่มสัดส่วนลูกค้าใหม่เข้ามาคง จะใช้รูปแบบการลงทุนของเราไปแบ่งสัดส่วนจากตรงนั้นเข้ามา

"เราโชคดีตรงที่เราเป็นบริษัทที่ไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ เพราะเรามีลูกค้าเดิมอยู่แล้วประมาณ 9 หมื่นราย ซึ่งสิ่งที่เราจะสานต่อคือ การจัดการข้อมูลของลูกค้า เพื่อนำเสนอ รูปแบบการลงทุนให้เหมาะสมกับลูกค้าต่อไป"

สำหรับการทำธุรกิจการจัดการด้านกองทุนรวม ภาพของฟินันซ่าจะไม่เน้นการออกกองทุนแต่จะเน้นการสะสมความมั่งคั่ง (Wealth Management) ของผู้ลงทุนเป็นหลัก ด้วยการเป็นตัวแทนจำหน่ายกองทุนจากทุกบลจ.

ธีระกล่าวว่า รูปแบบดังกล่าวมีอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ ซึ่งสำหรับการจัดการของฟินันซ่านั้นจะใช้หลักสำคัญ 3 ขั้นตอนด้วยกันคือ การสะสมความมั่งคั่ง การเก็บรักษาความมั่งคั่ง และการส่งต่อความมั่งคั่ง

โดยในขั้นตอนแรกจะเป็นการแนะนำรูปแบบการลงทุนให้เหมาะสมกับโพรไฟล์ของผู้ลงทุนนั้นๆ ด้วยการดูประวัติการลงทุนที่ผ่านมา รวมไปถึงการคำนวณสินทรัพย์ที่มีอยู่บวกลบกับภาระหนี้ของผู้ลงทุนที่มีอยู่ด้วย ทั้งนี้ เพื่อกำหนดรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมตามความต้องการ ของแต่ละคนได้ หลังจากนั้น ก็จะคัดเลือกกองทุนที่เราคัดสรรมาอย่างดีแล้ว แนะนำให้แก่ผู้ลงทุนไป

ซึ่งในเกณฑ์การคัดเลือกกองทุนนั้น จะพิจารณาจากการจัดอันดับกองทุนของลิปเปอร์เป็นหลัก โดยจะพิจารณา ดูทั้งขนาดของกองทุน การกระจายความเสี่ยง ผลการดำเนิน งานระยะยาว ความต่อเนื่องในการให้ผลตอบแทนของ กองทุนนั้นๆ เพื่อคัดเลือกกองทุนที่เราเห็นว่าดีที่สุดให้แก่ผู้ลงทุนไป โดยจะแบ่งออกเป็นกองทุนแต่ละประเภท ทั้งกองทุนหุ้น LTF และ RMF กองทุนต่างประเทศ รวมทั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ด้วย

โดยในเบื้องต้น จากการพูดคุยกับหลาย บลจ. ได้รับการตอบรับค่อนข้างดี และยินดีที่จะให้เราเป็นคนจัดการให้ ซึ่งการเป็นตัวแทนจำหน่ายหน่วยลงทุน ดังกล่าว จะคิดค่าจัดการในอัตรา 25-40% ของค่าฟี (ค่าธรรมเนียม) ที่บลจ.นั้นได้รับต่อปี

"เราเรียกการลงทุนนี้ว่าเป็นการลงทุนสายพันธ์ุแท้ ซึ่งเปรียบเสมือนเราเป็นห้างสรรพสินค้าทางการลงทุน ที่มีสินค้าให้เลือกหลายอย่าง เป็นศูนย์รวมการลงทุนที่ได้สินค้าที่ถูกและดีที่สุดกลับไปในครั้งเดียว"

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่สำคัญของเราคือการ พัฒนาบุคลากร ที่จะต้องมีเจ้าหน้าที่วางแผนการลงทุนคอยทำหน้าที่แนะนำการลงทุนให้แก่ลูกค้า ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 7-8 คน โดยจะต้องพัฒนาบุคลากรในส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

สำหรับการจัดตั้งกองทุนรวมนั้น ธีระกล่าวว่า เราเป็นบริษัทจัดการกองทุน การออกกองทุนเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ลงทุนคงทิ้งไปไม่ได้ ซึ่งตั้งแต่เปลี่ยนเป็น บลจ.ฟินันซ่า ที่ผ่านมาเรามีกองทุนใหม่ออกมา 1 กองทุน คือ กองทุนกองเปิดฟินันซ่า SET 50 ปันผล พลัส มูลค่า 5,000 ล้านบาทในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งกองทุน ดังกล่าวถือเป็นกองทุนกองแรกภายใต้การจัดการของฟินันซ่า โดยหลังปิดขายช่วงไอพีโอไปแล้ว กองทุนสามารถระดมทุนได้ประมาณ 200 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะจัดตั้งกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) โดยจะเป็นความร่วมมือของบลจ.ฟินันซ่า กับ UBS Global Asset Management ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยบริษัทจะทำการระดมทุนในประเทศแล้วนำไปลงทุนกับกองทุนภายใต้การบริหารของ UBS Global Asset Management ซึ่งปัจจุบันมีลักษณะเป็นโกลบอล อิควิตี้ฟันด์ ที่มีการลงทุนทั่วโลก ทั้งการลงทุนในหุ้นและการลงทุนในตราสารหนี้ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปัจจุบันเป็นกองทุนที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยจากการลงทุนทั้งในตลาดหุ้นและตราสารหนี้ทั่วโลกประมาณ 12% ต่อปีและมีมูลค่ากองทุนประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในส่วนของกองทุนตราสารหนี้ ขณะนี้ยังไม่มีแผนการจัดตั้งกองทุนประเภทดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า เป็นกองทุนที่ให้ผลตอบแทนน้อย ซึ่งการที่บลจ.ส่วนใหญ่ ให้ความสำคัญและมีการเปิดขายหน่วยลงทุนเดือน ละกองในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากต้องการเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ฝากเงิน อีกทั้งผู้ฝากเงินเองก็ต้องการหา ผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงินขึ้นมาในระดับหนึ่ง เท่านั้น

"เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจัดตั้งกองทุนใหม่มากสักเท่าไหร่ ซึ่งสำหรับเราแล้วสินค้าถือเป็นเรื่องรอง แต่การบริหารจัดการถือเป็นเรื่องใหญ่และเราให้ความสำคัญมากกว่า" ธีระกล่าวปิดท้าย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.