แบงก์ชาติเผยเศรษฐกิจก.ค.ชะลอตัว เกินดุลบัญชีเดินสะพัด169ล้านดอลลาร์


ผู้จัดการรายวัน(1 กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์ชาติเผยตัวเลขเศรษฐกิจเดือน ก.ค. ชะลอตัวลง เหตุหลายปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า แต่เสถียรภาพยังอยู่ในเกณฑ์ดี ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเป็นบวก 169 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการปรับตัวดีขึ้นทั้งดุลการค้าและดุลบริการ คาดเศรษฐกิจครึ่งปี หลังขยายตัวได้ดีกว่าครึ่งปีแรกจาก การส่งออกและการลงทุนที่เพิ่มขึ้น พร้อมเผยขอเวลาอีก 1-2 เดือน ก่อนจะพิจารณาทบทวนตัวเลข จีดีพีใหม่

นางสุชาดา กิระกุล ผู้อำนวย การอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตัวเลขเศรษฐกิจ ของเดือนกรกฎาคมโดยรวมชะลอลงจากเดือนก่อนหน้านี้ โดยมีหลายปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบ เช่น ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงมากทะลุ 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ไทยประกาศลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลเริ่มเห็นผลชัดเจนขึ้น การปรับระบบค่าเงินหยวนของ จีนและค่าเงินริงกิตของมาเลเซีย การเร่งกำลังการผลิตในภาคตะวันออก และเหตุการณ์ระเบิดที่กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ 2 ครั้ง

จากการลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลและราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้นต่อเนื่องทำให้ราคาขายปลีก น้ำมันเบนซิน และดีเซลในประเทศเพิ่มขึ้น 3 บาทภายใน 1 เดือน ทำให้ราคาสินค้าวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นทุกรายการส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจชะลอการใช้จ่ายและการลงทุนลง โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนลดลงมาอยู่ที่ระดับ 0.1% จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 3.9%Ž

ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวมาอยู่ที่ 8.3% ลดลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 9.8% ซึ่งสอดคล้องกับการนำเข้าที่ชะลดตัวลง โดยการนำเข้าในเดือนกรกฎาคมมีมูลค่าทั้งสิ้น 9,687 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 22.4% ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 34.6% จากการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนที่ชะลอลง ซึ่งมูลค่าการ นำเข้าดังกล่าวเป็นน้ำมันดิบจำนวน 1,530 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจาก เดือนก่อน 484 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่การส่งออกมีมูลค่าการส่งออกมีจำนวนทั้งสิ้น 9,349 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้น 16.8% ซึ่งสินค้าส่งออกที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ แผงวงจรรวม ชิ้นส่วนที่ปรับตัวดีขึ้นตามวัฏจักรขาขึ้นของอุตสาห-กรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วนเป็นต้น ทั้งนี้ จากปริมาณการนำเข้าและส่งออก ดังกล่าวจึงทำให้ดุลการค้าขาดดุลเพียง 338 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนที่ขาดดุล 1,854 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 169 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และดุลบริการเกินดุล 507 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนดุลการชำระเงินเกินดุล 268 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยหนี้ต่างประเทศลดลงเล็กน้อย อยู่ที่ 48,700 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาภาคการส่งออก จะเห็นว่าการส่งออกในภาคเกษตรยังคงลดลง 8.6% เนื่องจากไม่มีสินค้าที่จะส่งออกจากภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามภาคการเกษตรยังคงมีรายได้เพิ่มขึ้น 21.6% จากราคาผลิตผลที่เพิ่มขึ้น 21.7% ตามราคาตลาดโลกในขณะที่ผลผลิตลดลง 0.1%

ทั้งนี้ ในส่วนรัฐบาลเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ 12.1% ลดลงจากเดือน ก่อน 18.5% จากการชะลอลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวเป็นอีกภาคที่อัตราการขยายตัวยังลดลงต่อเนื่องโดยในเดือน ก.ค.การท่องเที่ยวลดลง 2.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากเทียบกับเดือนก่อนหน้าการท่องเที่ยวดีขึ้นเล็กน้อยโดยการท่องเที่ยวที่ลดลงนั้นมาจากผลจากระเบิดที่ลอนดอนและความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้รวมทั้งการเตือนภัยสึนามิครั้งใหม่

นางสุชาดากล่าวต่อว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจาก การส่งออกและการลงทุนที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการใช้จ่ายของภาครัฐที่ยังมีงบกลางเหลืออยู่ 50,000 ล้านบาทที่ นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นทาง ธุรกิจใน 3 เดือนข้างหน้านักลงทุนมีความมั่นใจในการขยายตัวของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นซึ่งอาจจะทำให้การลงทุนเพิ่มขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม ธปท. ต้องรอพิจารณาตัวเลขอีกประมาณ 1-2 เดือนก่อนที่จะทบทวนตัวเลขการประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้ง โดยขณะนี้ยังใช้ประมาณการภายใต้ราคาน้ำมันเฉลี่ยในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้อยู่ที่ 54 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งจากรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ ระบุว่าโอกาสความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 4% ขึ้นไป โดยมีความเป็นไปได้ 29.2%

"แม้ว่าภาพรวมของเศรษฐกิจ เดือนกรกฎาคมจะชะลอตัวลงเล็กน้อย แต่เชื่อว่าครึ่งหลังของปี 2548 เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 3.5-4.5% ตามเป้าที่ ธปท.ตั้งไว้ โดยมีแรงสนับสนุนมาจากการลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน บรรยากาศการลงทุนและกำไรในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไตรมาส 1-2 ก็ยังดีอยู่ นอกจากนี้ยังเชื่อว่ารายได้ภาคการท่องเที่ยว ในไตรมาสที่ 4 จะเพิ่มขึ้น เพราะเป็นช่วงฤดูการท่องเที่ยว" นางสุชาดา กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.