|
คุมเข้มโฆษณาขายกองทุน ก.ล.ต.ปิดปากบลจ.แจ้งข้อมูลก่อนให้ข่าว
ผู้จัดการรายวัน(1 กันยายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
วงการกองทุนสะเทือน ก.ล.ต.สั่งคุมเข้ม "โฆษณา" ขายหน่วยลงทุน สั่งปิดปากผู้บริหารกองทุนก่อนการให้สัมภาษณ์ที่มีการเตรียมคำตอบล่วงหน้า ข้อความนั้นต้องขอความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ก่อน แถมยังห้ามไปถึงการประมาณการผลตอบแทนของ กองทุน "ผู้จัดการกองทุน" โวยเผยฉุดแผนประชาสัมพันธ์ ธุรกิจกองทุน แถมนักลงทุนที่เตรียมโยกเงินฝากเข้ามาลงทุนผ่านกองทุนรวมยังขาดข้อมูลในการตัดสินใจลงทุน เพื่อเปรียบเทียบผลตอบแทน
แหล่งข่าวจากวงการกองทุนรวมเปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ส่งหนังสือเวียนไปถึงบริษัทหลักทรัพย์ จัดการกองทุน (บลจ.) ทุก บลจ. เพื่อซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจัดตั้ง และจัดการกองทุน โดยประเด็นที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ กองทุนรวมคือ ก.ล.ต.กำหนดให้บลจ.ที่จัดทำเอกสารเผยแพร่ทุกประเภทที่มีข้อความทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่าเป็นการโฆษณาจะต้องมีข้อความที่เป็นคำเตือนตาม ที่ประกาศโฆษณากำหนดและได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
โดยในกรณีที่เป็นการให้สัมภาษณ์ หรือการตอบข้อซักถามโดยผ่านสื่อมวลชนที่มีลักษณะเป็นการโฆษณา กล่าวคือ เป็นการให้สัมภาษณ์ที่มีเจตนาเพื่อส่งเสริมการขาย และต้องการสื่อข้อความถึงสาธารณชน
ผู้ให้สัมภาษณ์ไม่จำเป็นต้องพูดคำเตือน แต่การให้สัมภาษณ์หรือตอบข้อซักถามดังกล่าวต้องกระทำอย่างกว้างขวาง และผ่านสื่อ ที่มีการกระจายในวงกว้าง ซึ่งในการ ประชาสัมพันธ์การขายหน่วยลงทุน ที่เป็นกองทุนในลักษณะเดียวกัน หรือมีกลุ่มลูกค้า เป้าหมายเหมือนกัน บริษัทจัดการต้องแสดงให้เห็นว่ามีการใช้แนวทางการประชาสัมพันธ์ในลักษณะเดียวกัน เว้นแต่กองทุนนั้นมีลักษณะ ซับซ้อน หรือต้องอาศัยการอธิบายมากกว่ากองทุน รวมทั่วไป บริษัทจัดการอาจใช้ช่องทางการประชาสัมพันธ์ที่แตกต่างออกไปได้
สำหรับการตอบข้อซักถามหรือการสัมภาษณ์ ที่มีการเตรียมคำตอบล่วงหน้า ข้อความนั้นต้องขอความเห็นชอบจากสำนักงานก.ล.ต.ก่อน
แหล่งข่าวกล่าวถึงประเด็นการให้สัมภาษณ์ว่า ในการให้สัมภาษณ์ที่มีการเตรียมคำถาม หรือ เตรียมคำตอบล่วงหน้า บริษัทจัดการผู้ให้สัมภาษณ์ จะต้องส่งคำถามและคำตอบนั้นไปให้ ก.ล.ต. พิจารณาก่อน ซึ่งภายหลังจากที่ ก.ล.ต.พิจารณาแล้ว หากจะต้องเผยแพร่ผ่านสื่อ ต้องทำตามที่ ก.ล.ต. ได้เห็นชอบแล้วด้วย
นอกจากนี้ หนังสือเวียนดังกล่าวยังรวมไปถึงการห้ามประมาณการผลตอบแทนในกรณีที่มิใช่กองทุนรวมมีประกัน ยกเว้นบริษัทจัดการนั้นมี port การลงทุนที่ชัดเจน สามารถระบุรายละเอียดได้ และ port การลงทุนดังกล่าวไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดอายุโครงการ ทำให้สามารถคาดการณ์ผลตอบแทนของกองทุนได้
โดยบริษัทจัดการต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงของกองทุนอย่างละเอียด เช่น ลักษณะของกองทุน ประเภทหลักทรัพย์ที่กองทุนจะลงทุน ระยะเวลาการลงทุน เป็นต้น
สำหรับกรณีของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1) ต้องเป็นกองทุนที่มีทรัพย์สินที่ลงทุนชัดเจน และทรัพย์สินดังกล่าวต้องมีการทำสัญญาเช่า ซึ่งระบุระยะเวลาและอัตราค่าเช่าอันจะทำให้บริษัทจัดการสามารถประมาณการรายได้ของกองทุนได้ และการประมาณการรายได้นั้นจัดทำโดยผู้ประเมินที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
แหล่งข่าวกล่าวว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวอาจจะส่งผลต่อการเร่งการประชาสัมพันธ์ของบริษัท จัดการกองทุนรวมในปัจจุบัน ทำให้เกิดการสะดุด ขึ้นได้ เนื่องจากปัจจุบันการแข่งขันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้บลจ.ต่างๆ ต้องอาศัยการประชาสัมพันธ์ เพื่อเข้าถึงลูกค้าได้อย่างทั่วถึง ซึ่งในกรณีที่มีการจำกัดการเปิดเผยผลตอบแทนของกองทุนนั้น อาจจะสร้างความไม่ชัดเจนให้แก่ผู้ลงทุนและสร้าง ความไม่มั่นใจในการลงทุนด้วย เนื่องจากการลงทุน ส่วนใหญ่แล้ว สิ่งที่ผู้ลงทุนต้องการทราบคือ การได้มาซึ่งผลตอบแทนจากการลงทุนนั้นๆ
ทั้งนี้ เชื่อว่าหลังจากที่ก.ล.ต. มีหนังสือเวียนดังกล่าวออกมา เร็วๆ นี้น่าจะมีการประชุมระหว่างสมาคมบริษัทจัดการลงทุน และบริษัทสมาชิกเพื่อหารือถึงประเด็นดังกล่าวต่อไป นอก จากนี้ หนังสือเวียนที่ ก.ล.ต.ออกมายังมีข้อกำหนด เพิ่มเติมถึงการตั้งชื่อกองทุนโดยเนื้อหาระบุว่ากองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ที่ประสงค์จะใช้คำว่า "พันธบัตรรัฐบาล หรือตั๋วเงินคลัง" ในชื่อของกองทุนรวมซึ่งแสดงถึงเป็นกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงต่ำกว่ากองทุนรวมตราสารหนี้ทั่วไปกองทุนรวมนั้นจะต้องมุ่งลงทุนในพันธบัตรหรือตั๋วเงินคลังไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของ กองทุนรวม
แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า การประกาศหลักเกณฑ์ เกี่ยวกับการโฆษณากองทุนจะส่งผลกระทบโดยตรงกับการขยายตัวของธุรกิจจัดการกองทุน เนื่องจากทุกฝ่ายต่างระมัดระวังเรื่องการเปิดเผยผลตอบแทนคาดการณ์อยู่แล้ว แต่หลักเกณฑ์ที่ประกาศจะทำให้บลจ.แต่ละแห่งให้ความระมัดระวัง เรื่องการเผยแพร่ข้อมูลมากยิ่งขึ้น ซึ่งจุดนี้ถือเป็นข้อจำกัดในการลงทุนของนักลงทุน เพราะจะไม่สามารถเปรียบเทียบข้อมูลของกองทุนของแต่ละบลจ.ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร เพราะปัจจุบันสินค้าที่บลจ.แต่ละแห่งออกมามีรูปแบบที่คล้ายๆกัน
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ชี้แจงว่า วัตถุประสงค์ของเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการโฆษณาจะเป็นเรื่องการป้องกันไม่ให้มีการโฆษณาที่อาจทำให้ผู้ลงทุนเข้าใจผิดได้ ทั้งนี้ ไม่น่าเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะที่ผ่านมาเคยมีกรณี เร่งด่วน ก.ล.ต.ก็สามารถพิจารณาได้เสร็จทันเวลา
ส่วนหลักเกณฑ์เรื่องการห้ามประมาณการผลตอบแทนจากการลงทุนของกองทุน แหล่งข่าวกล่าวว่า หากพิจารณารายละเอียดตามประกาศของ ก.ล.ต. จะมีความยืดหยุ่นมากกว่าเดิม ซึ่งแต่เดิมนั้นห้ามประมาณการผลตอบแทนทุกกรณี ยกเว้นกองทุนรวมมีประกัน แต่ในหนังสือซักซ้อมความเข้าใจนี้ ยกเว้นให้สำหรับกรณีที่มี port การลงทุนที่ชัดเจน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดอายุโครงการ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|