|
ปตท.ยันรัฐไม่ได้แทรกแซงราคาน้ำมัน
ผู้จัดการรายวัน(31 สิงหาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ปตท. ชี้ราคาน้ำมันตลาดโลกผันผวนรุนแรงวันละ 2-3 เหรียญต่อบาร์เรล ทำให้ไม่สามารถขยับขึ้นราคาน้ำมันเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงได้ทัน โต้รัฐไม่ได้อาศัยปตท.แทรกแซงราคาขายปลีกน้ำมัน มั่นใจแนวโน้มราคาน้ำมันโลกจะอ่อนตัวลงมาหลังพายุ "แคตรีนา" สงบลง และหลายประเทศเริ่มลงทุนผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นในอนาคต
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงกรณีที่มีผู้ค้าน้ำมันบางรายกล่าวว่ารัฐเข้ามาแทรกแซงราคาขายปลีกน้ำมันโดยผ่านปตท.ว่า การที่ปตท. ไม่ได้ปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงนั้น ไม่ได้ถูกรัฐแทรกแซง เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกมีการแกว่งตัวเร็วมาก 2-3 เหรียญสหรัฐต่อวัน ทำให้ไม่สามารถปรับขึ้นราคาขายปลีกได้ทัน โดยปตท.เองจะขยับขึ้นราคาขายปลีกได้ที่ละ 40 สตางค์ ต่อลิตรเท่านั้น
ขณะเดียวกัน ปตท.มีกำไรจาก ธุรกิจอื่นทั้งขายน้ำมันเครื่องและน้ำมันอุตสาหกรรม มาพยุงการขาดทุนจากการค้าปลีกได้น้ำมันได้ ซึ่งธุรกิจค้าปลีกน้ำมันนั้นกล่าว ได้ว่าอยู่ได้ลำบากทั้งผู้ค้าและประชาชน แต่ต้องเข้าใจว่าราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นเรื่องชั่วคราว เพราะถ้าสูงไปกว่านี้จะทำให้กำลังซื้อหดลง สุดท้ายราคาน้ำมันก็จะอ่อนตัวลงมา
นายประเสริฐ กล่าวถึงทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกว่ายังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากเกิดความกังวลว่าการส่งน้ำมันจะหยุดชะงักจากพายุเฮอร์ริเคนแคตรีนา ในสหรัฐ ส่วนความต้องการใช้น้ำมันยังเติบโตขึ้นแม้ว่าจะมีอัตราชะลอตัวลง ทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 59 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล เบนซินสูงกว่า 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุด ซึ่งจะส่งผลให้ การใช้น้ำมันชะลอตัวลง
โดยการนำเข้าน้ำมันในช่วงเดือนส.ค. พบว่าปริมาณการนำเข้าไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าน้ำมันของไทยในเดือนส.ค.สูงอยู่ แต่อยู่ในวิสัยที่ไม่มีมผลกระทบมากนัก เนื่องจากปริมาณการนำเข้าน้ำมันไม่ได้เพิ่มขึ้น
จากราคามันดิบที่พุ่งขึ้น 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลนั้น ตนเห็นว่าราคาที่ดีดตัวสูงขึ้นมากมาจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับภัยธรรมชาติ เมื่อทุกอย่างคลี่คลายลง ราคาน้ำมันก็น่าจะปรับตัวลงไปอยู่ที่ระดับเหมาะสม แต่อย่างใดก็ตาม ราคาน้ำมันในปลายปีนี้ยังอยู่ระดับที่สูงเช่นนี้ และจะแกว่งตัวเป็นช่วงๆตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบตะวันออกจะอยู่ที่ 50 เหรียญเศษต่อบาร์เรล ส่วน น้ำมันดิบสหรัฐฯที่ 70 เหรียญสหรัฐนั้นเป็นราคาน้ำมันที่ใช้ในตลาดสหรัฐฯ แต่ต้นทุนนำเข้าน้ำมันของไทยจะอิงราคาน้ำมันที่ตะวันออกกลาง
นอกจากนี้ หลายประเทศได้ประกาศจะลงทุนเพิ่มด้านการผลิต น้ำมัน เช่น ซาอุดีอาระเบีย จะลงทุน อีก 2 แสนล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อผลิตน้ำมัน จึงคาดว่าราคาน้ำมันก็จะมีแนวโน้มลดลงได้
เซ็นสัญญาผลิตและจำหน่ายน้ำเย็นระบบCHP
วานนี้ (30 ส.ค.) นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ อธิบดีกรมธนารักษ์ เป็นประธานในพีธีลงนามบันทึกข้อตกลงผลิตและจำหน่ายน้ำเย็นด้วยระบบพลังงานร่วมความร้อนและไฟฟ้า( Combined Heat and Power : CHP)ระหว่าง บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) โดยปตท.และกฟน. จะเป็นผู้ลงทุน ก่อสร้างโรงผลิตน้ำเย็นและอุปกรณ์ ต่าง ๆ รวมทั้งสร้างท่อก๊าซธรรมชาติ เข้าสู่โครงการศูนย์ราชการกรุงเทพ- มหานคร ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อนำมา ใช้ผลิตน้ำเย็นสำหรับระบบปรับอากาศของศูนย์ราชการฯ
โครงการผลิตและจำหน่ายน้ำเย็นดังกล่าว ใช้งบลงทุนประมาณ 750 ล้านบาท ซึ่งในปลายปีนี้ ทาง ปตท. และ กฟน. จะร่วมกันจัดตั้งบริษัทจำกัด เพื่อเป็นคู่สัญญาซื้อขายน้ำเย็นกับบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด เพื่อใช้ในระบบปรับอากาศของศูนย์ราชการ โดยจะเริ่มจำหน่ายน้ำเย็นสำหรับระบบปรับอากาศได้ภายในเดือนมิถุนายน 2551
นายประเสริฐ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้โครงการลงทุนผลิตกระแสไฟฟ้า และน้ำเย็นด้วยระบบพลังงานร่วมความร้อนและไฟฟ้ามีการผลิตในประเทศรวม 200 เมกะวัตต์ คาดว่าในปี 2553 จะเพิ่มขึ้นเป็น 700 เมกะวัตต์ โดยการใช้ก๊าซธรรมชาติจาก 50 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มเป็น 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และ ประสิทธิภาพการใช้ก๊าซจะเพิ่มจาก 40% เป็น 75% ทำให้ประหยัดพลังงานของประเทศ คิดเป็นเม็ดเงินรวม 10,000 ล้านบาทต่อปี
โครงการร่วมทุน CHP ปตท. จะร่วมมือกับพันธมิตร เช่น การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และ บมจ. กฟผ. ตั้งบริษัทร่วมทุนแล้วเข้าไปผลิตป้อนแก่โรงงานต่างๆในนิคม หรือหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาค รัฐและเอกชน
อย่างไรก็ตาม ปตท.ยืนยันว่า ไม่ได้ผูกขาดธุรกิจสำรวจและผลิตธุรกิจก๊าซฯและการวางท่อก๊าซฯป้อนให้เอกชน หากเอกชนรายใดสนใจสามารถเข้ามาแข่งขันได้ เพียง แต่ปตท.เข้ามาดำเนินธุรกิจนี้มานาน ทำให้เป็นเจ้าตลาด และมีสัญญาติดพันกับลูกค้า ทำให้เอกชน รายใหม่เข้าทำธุรกิจได้ลำบาก
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|