|
ผ่าทางตันเมกะโปรเจกต์ ระดมเงินวายุภักษ์2-ภาษี
ผู้จัดการรายวัน(31 สิงหาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ผ่าทางตันแผนลงทุนเมกะโปรเจกต์ระบบราง คณะทำงานศึกษาการระดมทุนแนะทางออกลดภาระหนี้สาธารณะ เสนอเลื่อนลงทุนในสายสีม่วง และสีส้ม ตั้งกองทุนวายุภักษ์ 2 มูลค่า 1 แสนล้าน พร้อมโยกรายได้ในอนาคตจากการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม และการตั้งพร็อพ- เพอร์ตี้ฟันด์บริเวณรอบสถานีรถไฟฟ้ามาทำ ซีเคียวริไทเซชัน "พงษ์ศักดิ์" เผยนายกฯเร่งประมูลเมกะโปรเจกต์ภายในปีนี้ แจงปรับแนวรถไฟฟ้าและเปลี่ยนเป็น BRT เพื่อลดเงินลงทุนทำได้เร็วขึ้น บ้านจัดสรรหนีตาย เตรียมขายลดราคาบ้าน ครม.ไฟเขียวตั้ง "เทิดศักดิ์-คำรบลักข์" นั่งรองปลัดคมนาคม
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งองค์กรเพื่อระดมทุนและบริหารจัดการในการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชน (Mass Transit) เปิดเผยว่า คณะทำงานได้สรุปผลการศึกษาเพื่อลดต้นทุนในการลงทุนระบบราง 7 สาย ซึ่งจากการปรับตัวเลขผลกระทบที่เกิดขึ้นจากราคาน้ำมันทำให้ต้นทุนการก่อสร้างขยับเพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่ที่ 4.2 แสนล้านบาท เป็น 5.5 แสนล้านบาท
สำหรับผลการศึกษาที่เสนอให้แก่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แนวทางการระดมทุน เพื่อเป็นการลดภาระหนี้สาธารณะ คณะทำงานได้เสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ 2 มูลค่าโครงการประมาณ 1 แสนล้านบาท เพื่อระดมทุนจากนักลงทุนเข้าไปซื้อหุ้นที่กระทรวงการคลังถือในรัฐวิสาหกิจ รูปแบบคล้ายกับกองทุนวายุภักษ์ 1 ซึ่งคาดว่าจะได้รับการตอบรับจากนักลงทุน เนื่องจากให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในระดับที่น่าสนใจ
ส่วนแนวทางที่สองจะมีการทำการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (ซีเคียวริไทเซชัน) รายได้ในอนาคตที่จะเกิดขึ้นจากการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม และภาษีป้ายรถยนต์ เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ได้รับประโยชน์จากการลงทุนในเมกะโปรเจกต์
นอกจากนี้ จะมีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รอบบริเวณทางรถไฟ ซึ่งเป็นพื้นที่ของกรมธนารักษ์ ซึ่งจุดนี้จะมีการจัดตั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (พร็อพเพอร์ตี้ฟันด์) ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของกรมธนารักษ์
แหล่งข่าวกล่าวว่า การตั้งกองทุนวายุภักษ์ 2 และการทำซีเคียวริไทซ์รายได้ที่เกิดขึ้นในอนาคต คาดว่าจะสามารถระดมทุนได้ประมาณ 2 แสนล้านบาท ซึ่งจะลดปัญหาหนี้สาธารณะที่หลายฝ่ายมีความกังวลได้ ส่วนวงเงินที่เหลือจะมาจากการกู้ การใช้งบประมาณ และการเปิดให้สัมปทานภาคเอกชน
"เส้นทาง 7 สาย จากผลการศึกษาพบว่ามี 3 สายที่ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ การศึกษารูปแบบการระดมทุนของเราจะเน้นถึงความสมเหตุสมผลการลงทุน ดูว่าเส้นทางแต่ละเส้นทางมีความทับซ้อนกันหรือไม่ มีทางเลือกการระดมทุนที่ต่ำกว่านี้หรือไม่ โดยการลงทุนอาจแบ่งเป็นช่วง ไม่จำเป็นต้องลงทุนทั้งระบบพร้อมกัน และเลือกลงทุนในเส้นทางที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจก่อน" นายกฯเร่งนำร่องก่อนสิ้นปี
นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้เร่งรัดให้นำโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) ประมูลในปีนี้ ซึ่งในส่วนของกระทรวงคมนาคมนั้นจะเร่งนำโครงการรถไฟฟ้าประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้าง ทั้งรถไฟฟ้าสายสีแดง ( หัวลำโพง-บางซื่อ-รังสิต) สายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-ท่าพระ-บางแค) และรถ BRT สายสีม่วง โครงการใดพร้อมก็ให้นำออกประมูลได้เลย ซึ่งคาดว่าปลายเดือนกันยายนนี้จะสามารถบอกได้ว่าโครงการใดมีความพร้อม
ส่วนการซื้อหุ้นจากบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีเอ็มซีแอล 25% ในราคาพาร์ 1 บาท จะต้องหารือกับกระทรวงการคลังก่อน อย่างไรก็ตาม เห็นว่า หุ้นราคาพาร์น่าจะดีและน่าสนใจ แต่ยังบอกไม่ได้เพราะเป็นขั้นตอนการพิจารณา และไม่จำเป็นต้องเร่งรีบอะไร
สาเหตุที่ต้องมีการปรับแนวเส้นทางและ รูปแบบจากรถไฟฟ้ามาเป็นรถเมล์ด่วนพิเศษ (BRT) ในสายสีม่วง ช่วง บางใหญ่-บางซื่อ เป็น และสาย สีส้ม (บางกะปิ-บางบำหรุ) เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน ใช้เงินลงทุนน้อยลง และไม่เป็นหนี้สาธารณะ ซึ่งการทำในรูปแบบเดิมที่เป็นรถไฟฟ้าทุกเส้นทางนั้น มีแนวคิดภายใต้หลักการว่าจะเก็บค่าโดยสารที่ 10 บาทโดยใช้เงินรายได้จากการขึ้นภาษีน้ำมัน มาลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่ขณะนี้ราคาน้ำมันสูงเกินกว่าที่จะใช้แนวคิดนี้ได้
นอกจากนี้ จากตัวเลขผลตอบแทนการลงทุน (IRR) เดิมที่มีรถไฟฟ้าทั้งหมด ภายใต้เงื่อนไขเก็บค่าโดยสารเฉลี่ยที่ 25.4 บาท ต่อคนต่อเที่ยว IRR สายสีน้ำเงิน(บางซื่อ-หัวลำโพง-ท่าพระ-บางแค) อยู่ที่ 14.9% สายสีแดงเข้ม (รังสิต-บางซื่อ-หัวลำโพง-ศูนย์ตากสิน-มหาชัย) IRR อยู่ที่ 8.2% สายสีแดงอ่อน (สุวรรณภูมิ-พญาไท-บางซื่อ-ตลิ่งชัน) IRR อยู่ที่ 9.4% สายสีเขียวเข้ม (หมอชิต-สะพานใหม่, สะพานตากสิน-เพชรเกษม) IRR อยู่ที่ 13.1% สายสีเขียวอ่อน (อ่อนนุช-สำโรง-สมุทรปราการ, พระราม 1-พรานนก) IRR อยู่ที่ 13.6 %
แต่หลังปรับปรุงแผนใหม่ ภายใต้เงื่อนไขเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าเฉลี่ย 20 บาทต่อคนต่อเที่ยวและรถ BRT 8 บาทต่อคนต่อเที่ยว สายสีน้ำเงิน IRR อยู่ที่ 14.7% สายสีแดงเข้ม IRR อยู่ที่ 8.2% สายสีแดงอ่อน IRR อยู่ที่ 9.2% สายสีเขียวเข้ม IRR อยู่ที่ 12.7% สายสีเขียวอ่อน IRR อยู่ที่ 13.5% ส่วนรถ BRT ทุกสาย IRR อยู่ที่ 12.77% ซึ่งผลศึกษายังระบุว่าใน 30 ปี รัฐจะมีรายได้จากการเดินรถ BRT 1,110 ล้านบาท รายได้จากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 25,500 ล้านบาท สายสีเขียวเข้ม 3,460 ล้านบาท และสายสีเขียวอ่อน 21,300 ล้านบาท จัดสรร "หนีตาย" ลดราคาขายบ้าน
นายวสันต์ คงจันทร์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัทเอเจนซี ฟอร์เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด บริษัทที่ปรึกษาและประเมินราคาชั้นนำ กล่าวว่า ในกรณีถ้ารัฐบาลยกเลิกโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วงและปรับรูปของโครงการ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อราคาที่ดินและราคาบ้านตลอด เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงพาดผ่าน เนื่องจาก ถือเป็นโครงการที่รัฐบาลมีความชัดเจนมากที่สุด จะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมา ราคาที่ดินและราคาบ้าน ตามเส้นรถไฟฟ้าสายสีม่วงเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6% เช่น ทำเลบางใหญ่ ราคาขึ้นไปถึง 13% และราคาขายบ้านเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 5-10% ตรงกันข้ามนั่นหมายความว่า หากโครงการล้มเลิกไป ราคาที่ดินและราคาบ้านจะปรับราคาลงมาก เนื่องจากจะมีผู้บริโภคจำนวนมาก ที่กำลังตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในโซนดังกล่าวชะลอการตัดสินใจออกไปนานขึ้น
นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ระบบบีอาร์ทีแทนรถไฟฟ้านั้น เชื่อ ว่าจะเป็นผลกระทบด้านจิตวิทยาในระยะสั้นๆ ที่เกิดจากความเข้าใจผิดว่ารัฐบาลจะยกเลิกระบบรถไฟฟ้าแล้วเปลี่ยนมาใช้ระบบ บีอาร์ที อย่างถาวร ซึ่งระยะแรกผู้บริโภคและผู้ประกอบการอาจจะมีการชะลอการซื้อและการก่อสร้างโครงการออกไป สำหรับผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากคือผู้ประกอบการ ในช่วงพระนั่งเกล้า-บางซื่อซึ่งถูกยกเลิกและย้ายเส้นทางไปก่อสร้างในเส้นทางพระนั่งเกล้า-บางเขนแทน โยก "คำรบลักขิ์" เป็นรองปลัดคมนาคม
รมว.คมนาคมเปิดเผยด้วยว่า ที่ประชุม ครม. วานนี้ได้อนุมัติโยกย้าย นายเทิดศักดิ์ เศรษฐมานพ จากอธิบดีกรมทางหลวงมาเป็นรองปลัดกระทรวงคมนาคม เพื่อดูแลงานด้านโครงสร้างพื้นฐาน และโยกย้ายนายคำรบลักขิ์ สุรัสวดี จากผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มาเป็นรองปลัดกระทรวงคมนาคม ดูแลงานด้านขนส่ง
""คุณคำรบลักขิ์เคยดูงานขนส่งและจราจร ที่ สนข. มาแล้ว เมื่อเราจะทำงานแบบเป็นคลัสเตอร์ ก็ให้ท่านมารับผิดชอบ ท่านก็ทำงานมานาน อยากให้ขึ้นมาดูงานนโยบายบ้าง ไม่มีเหตุผลอะไรอื่น" นายพงษ์ศักดิ์กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|