คลังลดเป้าจีดีพีเหลือ4.1% ผวาขาดดุลบัญชี5พันล.$


ผู้จัดการรายวัน(31 สิงหาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

คลังปรับลดจีดีพีอีกรอบ ทั้งปีหดเหลือ 4.1-4.6% จากเดิมประมาณการไว้ที่ระดับ 4.6-5.1% ปัจจัยเสี่ยงราคาน้ำมันยังพุ่งสูงต่อเนื่อง และจีดีพีไตรมาสแรกชะลอตัว เกิดจากหลายปัจจัยที่เป็นซัปพลายช็อก ขณะที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอาจสูงถึง 4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2.8% ของจีดีพี ด้านแบงก์ชาติ หนุนกระทรวงการคลังปรับประมาณการเศรษฐกิจใหม่ เพื่อสอดคล้องกับความเป็นจริง

นายสมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึง ผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2548 ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2548 จะขยายตัวได้ 4.1-4.6% ต่อปี เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ขยายตัวเพียง 3.3% ต่อปี

โดย MPI ในไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ 7.7% เพิ่มขึ้นจาก 3.8% ในไตรมาสแรก API อยู่ที่ -2.9% เพิ่มขึ้นจาก -7.8% ในไตรมาสแรก จำนวน นักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ที่ 1.9% เพิ่มขึ้นจาก -8.6% ในไตรมาสแรก และตัวเลขจีดีพีของประเทศคู่ค้า เช่น จีน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ไตรมาส 2 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากไตรมาสแรก โดยเพิ่มขึ้นจาก 9.4% เป็น 9.5%, 2.7% เป็น 3.3% และ 2.7 เป็น 5.2% ตามลำดับ

นอกจากนี้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีจะสูงกว่าครึ่งแรกของปีเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายบริหาร การส่งออก การท่องเที่ยว และการนำเข้า ซึ่งจะช่วยให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดดีขึ้นด้วย รวมทั้งรัฐบาลยังมีการตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นและมีเม็ดเงินลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (เมกะโปรเจกต์) และปัจจัยลบต่างๆ ในประเทศเริ่มคลี่คลายลง เช่น สึนามิ ภัยแล้ง ไข้หวัดนก

ดังนั้น สศค. จึงประมาณการด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจในกรณีสูง คือ สามารถกระตุ้น ให้มูลค่าสินค้าส่งออกในครึ่งหลังของปีขยายตัวได้ 20% ต่อปีตามเป้าหมาย และควบคุมสินค้านำเข้าไม่ให้มูลค่าสินค้านำเข้าขยายตัวเกินกว่า 26.4% หรือทำให้การส่งออกทั้งปีขยายตัวระดับ 16.4% และควบคุมสินค้านำเข้าทั้งปีไม่ให้ขยายตัวเกิน 28.7% จะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจครึ่งปีหลังโตระดับ 5.5% และเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 4.6%

ส่วนในกรณีต่ำ คือ สามารถมูลค่าสินค้าส่งออกในครึ่งหลังของปีขยายตัวได้ 18% ต่อปี มูลค่าสินค้านำเข้าขยายตัวไม่เกิน 26% หรือผลักดันให้ การส่งออกทั้งปีอยู่ที่ 15.4% และควบคุมการนำเข้าไม่ให้ เกิน 28.5% จะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ครึ่งปีหลังโต 4.5% และเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 4.1%

ทั้งนี้ ผลการประมาณการด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ในกรณีสูงดังกล่าว จะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งปีขาดดุลประมาณ 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 2.2% ของจีดีพี ส่วนในกรณีต่ำดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งปี จะขาดดุลประมาณ 4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 2.8% ของจีดีพี ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงครึ่งหลังของปีจะกลับมาเกินดุลได้ประมาณ 1.2-2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากที่ขาดดุลถึง 6.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในครึ่งแรกของปี ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปีจะอยู่ที่ 4.5% ต่อปี เร่งตัวขึ้นตามการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

นายสมชัย กล่าวว่า ผลการประมาณดังกล่าว อยู่บนสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 48.3 เหรียญต่อบาร์เรล หรือในช่วงครึ่งปีหลังเฉลี่ยประมาณ 55 เหรียญต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นสมมติฐานในคราวก่อนที่ใช้ 42.5 เหรียญต่อบาร์เรล และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 11 ประเทศคู่ค้า โตระดับ 3.4% เท่ากับสมมติฐานที่ใช้ประมาณการเดิม หม่อมอุ๋ยหนุนคลังลดจีดีพี

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวว่า การที่กระทรวงการคลังปรับประมาณการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ลงเหลือ 4.1-4.6 % ว่า เป็นเรื่องดีเพราะเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ธปท.จะมีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของเดือนกรกฎาคมในวันนี้ (31 ส.ค.) ซึ่ง ธปท.จะปรับประมาณการเศรษฐกิจหรือไม่ คงจะต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะดุลบัญชีเดินสะพัดอีก 1-2 เดือน ทั้งนี้ จะมีการประเมินเศรษฐกิจเบื้องต้นในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 กันยายนที่จะถึงนี้

สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทได้ปรับตัวอ่อนค่าลง ตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น ส่วนการที่ค่าเงินรูเปียห์ของประทศอินโดนีเซีย อ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบ 4 ปี มีสาเหตุมาจากปัญหาราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ซึ่งประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีการนำเข้าน้ำมันเป็นจำนวนมาก รวมทั้งปัญหาภัยแล้งภายในประเทศอินโดนีเซียเอง

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บีที จำกัด เปิดเผยว่า ในครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะมีการขยายตัวมากว่า 4% เนื่องจากตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการค้าปรับตัวขึ้น แต่ก็มีความเป็นห่วงเรื่องของอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากการที่รัฐบาลมีการประกาศลอยตัวราคาน้ำมัน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้ประชาชนมีการประหยัดการใช้น้ำมัน แต่เฉลี่ยทั้งปีจะไม่ถึง 4% จากที่ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจมีการขยายตัวน้อย จากได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ราคาน้ำมันถ้าขึ้นไม่เกิน 80 ดอลลาร์ยังไม่น่าห่วง ถือว่ายังอยู่ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังรับไหว ดุลการค้าในช่วงที่ผ่านมาก็เริ่มที่จะดีขึ้น แต่ถ้าราคาน้ำมันที่สูงขึ้น อาจส่งผลต่อดุลการค้าในครึ่งปีหลังของไทย ซึ่งทางภาครัฐต้องมีการดูแลในการนำเข้าสินค้าบางประเภทมากขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.