"เราไม่ใช่ผู้ต้องหา"


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

โครงการ "ซูเปอร์ 10" เป็นกิจกรรมทางการตลาดที่สยาม แม็คโครเปิดตัวขึ้นมาท่ามกลางกระแสโจมตีอย่างกว้างขวาง ต่อการรุกเข้ามาขยายสาขาในประเทศไทย ของดิสเคาท์สโตร์จากต่างชาติ จนทำให้ธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิมประเภทร้านโชวห่วย ต้องล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก

สยามแม็คโคร ได้ติดเป็น 1 ใน 4 ผู้ต้องหาทางสังคม ต่อข้อกล่าวหาดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ก่อนหน้านี้ สยามแม็คโครพยายามอย่างหนัก ในการสร้างภาพลักษณ์ว่าตนเองมิใช่เป็นตัวการที่ทำให้ร้านค้าปลีกดั้งเดิมต้องล่มสลายลง ในทางตรงกันข้ามก็พยายามชี้ว่าธุรกิจของสยาม แม็คโคร เป็นธุรกิจค้าส่งขนาดใหญ่ ที่จะช่วยสนับสนุนให้ร้านโชวห่วยสามารถดำเนินธุรกิจของตนเองต่อไปได้

สยามแม็คโครเน้นย้ำเสมอว่าคนที่จะเข้ามาใช้บริการในห้างแม็คโคร ไม่ใช่ลูกค้าทั่วไป เหมือนกับดิสเคาท์สโตร์รายใหญ่อีก 3 แห่ง คือ บิ๊กซี คาร์ฟูร์ และเทสโก้ โลตัส เพราะจะต้องเป็นสมาชิกถือบัตรของสยามแม็คโคร และเงื่อนไขการออกบัตร สยามแม็คโครจะออกให้กับร้านค้า หรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนเท่านั้น มิได้ออกบัตรให้กับคนธรรมดาทั่วไปโดยง่าย

ปีที่แล้ว สยามแม็คโครพยายามตอกย้ำความใกล้ชิดกับคนไทย ด้วยการเปลี่ยนตัวกรรมการผู้จัดการ จากอาร์โนลด์ โทบัค ซึ่งเป็นชาวต่างชาติมาเป็นสุชาดา อิทธิจารุกุล

แต่ดูเหมือนกระแสสังคม ก็ยังไม่ตอบรับการแสดงจุดยืนเหล่านั้นเท่าใดนัก สยามแม็คโครยังคงตกเป็นผู้ต้องหา ถูกเรียกตัวแทนเข้าไปชี้แจงกับกระทรวงพาณิชย์ และกรมทะเบียนการค้ายังเข้าไปตรวจสอบการลงบัญชีรายรับรายจ่ายว่า อาจมีรายการซ่อนเร้นในลักษณะที่เข้าข่ายการค้าที่ไม่เป็นธรรม

กิจกรรม "ซูเปอร์ 10" จึงถูกจัดขึ้นมา เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์ที่แตกต่างของสยามแม็คโครกับดิสเคาท์สโตร์อีก 3 แห่ง

โครงการนี้ระบุชัดถึงกลุ่มเป้าหมายว่าได้แก่ ร้านค้าขนาด เล็ก ประเภทโชวห่วย ร้านขายของชำ หรือมินิมาร์ท ซึ่งเป็นสมาชิกผู้ถือบัตรของสยามแม็คโคร

"บริษัทสยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ศูนย์ธุรกิจค้าส่งระบบเงินสดที่ให้บริการเฉพาะสมาชิก สนับสนุนนโยบายรัฐ ช่วยอุ้มร้านค้าปลีกเปิดตัวโครงการ "ซูเปอร์ 10" เนื้อหาที่ระบุไว้ในเอกสารข่าวเน้นย้ำ

"โครงการนี้ได้เริ่มทำขึ้นในประเทศแถบอเมริกาใต้ และแอฟริกาใต้ และประสบความสำเร็จอย่างมาก สำหรับประเทศไทย นั้น เราถือว่าร้านค้าปลีกทั้งหลายเป็นพันธมิตรทางการค้า ดังนั้น การสนับสนุนให้ร้านค้าปลีกมีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของเราเช่นกัน" เป็นอีกตอนหนึ่งของเนื้อหาในเอกสาร

ตามรายละเอียดของโครงการ สยามแม็คโครจะเข้าไปช่วยจัดกิจกรรมสนับสนุนทางด้านการตลาดให้กับร้านค้าเหล่านี้ ด้วยการจัดพิมพ์ใบปลิวโฆษณาสินค้า ป้ายแสดงราคาสินค้า และถุงใส่ของเพื่อให้ร้านค้านำไปใช้ในการขายที่ร้านของตนเอง

ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการจะได้สิทธิ์เป็นผู้คัดเลือกรายการ สินค้าที่จะนำไปขาย และสามารถกำหนดราคาขายปลีกของตนเองได้ โดยสยามแม็คโครมีเงื่อนไขเพียงว่าร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ไม่ควรจะตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันกันเอง

สยามแม็คโครได้ใช้ห้างแม็คโคร สาขาลาดพร้าว เป็นสาขานำร่อง โดยเริ่มโครงการมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา มีร้านค้าที่ตั้งอยู่ในบริเวณลาดพร้าวเข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น 10 แห่ง

คงต้องดูต่อกันไปว่า กิจกรรมที่เข้าไปจับกลุ่มร้านค้าปลีกโดยตรงครั้งนี้ จะทำให้ภาพลักษณ์ของสยามแม็คโครเปลี่ยน แปลงไปหรือไม่

หรือยังคงต้องตกเป็นจำเลยทางสังคมเช่นเดิม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.