|

Bromsgrove School
โดย
วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
โรงเรียนนานาชาติแห่งใหม่ พัฒนาความคิดที่ซับซ้อนมากขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งศึกษาบทเรียนของผู้มาก่อนมากขึ้น เป็นตัวอย่างของโรงเรียนนานาชาติที่เกิดขึ้นอย่างมหัศจรรย์ในสังคมไทยในช่วงปลายของความเฟื่องฟู
ความจริงโรงเรียนแห่งนี้เปิดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการมาแล้วเกือบปี ในช่วงการเปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนเดิมไปใช้ชื่อโรงเรียนชั้นนำของอังกฤษ แต่การเปิดอย่างเป็นทางการด้วย การเปิด Campus ใหม่เกิดขึ้นต้นเดือนกันยายนนี้ ซึ่งถือเป็นการเปิดเทอมปีการศึกษาใหม่ของโรงเรียนนานาชาติ
โรงเรียนนานาชาติที่อาศัยความมีชื่อเสียงของโรงเรียนชั้นนำอังกฤษ เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยนั้น มีพัฒนาการที่มีรายละเอียดแตกต่างกันพอสมควร
Dulwich มาเมืองไทยก่อนใคร และจากไปเร็วกว่าที่คิดไว้ (ผมเคยเขียนเรื่องนี้แล้ว โปรดอ่านจากฉบับก่อนๆ) Harrow และ Shrewsbury ตามมาด้วยแบบเดียวกัน เป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงและมีความสัมพันธ์กับชนชั้นนำไทยในอดีตที่ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน เน้นการใช้ชื่อเป็นหลัก แม้ว่าโรงเรียนอังกฤษจะมีเงื่อนไขในการดูแลมาตรฐานของเขาพอประมาณ แต่มาเมืองไทยบางด้านก็เป็นประสบการณ์ใหม่ของฝ่ายอังกฤษด้วย
ทั้ง Harrow และ Shrewsbury ในอังกฤษ เป็นโรงเรียนชายล้วนที่สอนระดับอายุ 13-18 ปี แต่มาเมืองไทยต้องสอนระดับอนุบาลเป็นต้นไป กลายเป็นโรงเรียนสหศึกษาด้วย ดังนั้นโรงเรียนเป็นทั้งที่รับการถ่ายทอด know-how ขณะเดียวกันก็เป็น Lab แห่งหนึ่งให้โรงเรียนในอังกฤษด้วย
ขณะที่ Bromsgrove มิใช่โรงเรียนที่มีชื่อเสียงมาก เท่ากับสองโรงเรียนข้างต้น แต่ก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่าคนไทยเชื่อถือระบบการศึกษาของอังกฤษเช่นเดียวกัน แต่ที่น่าสนใจ พวกเขาเชื่อว่าจะถ่ายทอดองค์ความรู้ในเชิงบริหารโรงเรียนและการเรียนการสอนระบบอังกฤษมาสู่เมืองไทยอย่างเต็มรูปสำคัญมากทีเดียว
เรื่องนี้ต้องยอมรับว่า นักลงทุนในเมืองไทยทั้งสองกลุ่มมี Profile ที่แตกต่างกันพอสมควร
Harrow ในเมืองไทยเกิดขึ้นจากนักลงทุนหลักเชื้อสายเอเชีย ที่มิใช่คนไทย มองโอกาสธุรกิจนี้ที่สัมพันธ์กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างชัดเจน ส่วน Shrewsbury เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจของชาลี โสภณพนิช แม้จะเป็นนักเรียนอเมริกัน แต่มองธุรกิจ ออก จากบทเรียนที่ Harrow เคยเช่าที่ดินของเขามาก่อน ขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงเข้ากับธุรกิจอื่นๆ โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์บ้าง เพราะในบริเวณนั้นพื้นที่ค่อนข้างจำกัด ซึ่งทั้งสองรายถือเป็นผู้มาก่อน จึงประสบความสำเร็จทางธุรกิจพอสมควร
Bromsgrove เกิดขึ้นจากนักลงทุนต่างชาติเช่นเดียวกัน หัวเรือใหญ่เป็นชาวอังกฤษ ที่เคยเป็น CFO บริษัทที่เคยรับผิดชอบ ในย่านเอเชีย ร่วมทุนกับชาวฟิลิปปินส์ที่มีครอบครัวในเมืองไทย และเคยทำธุรกิจด้วยกันมาก่อน โดยมีหุ้นส่วนใหญ่คนไทยเข้ามาเกี่ยวข้องภายหลัง เป็นเจ้าของธุรกิจการนำเข้าผลิตภัณฑ์เคมีเพื่ออุตสาหกรรม ซึ่งพวกเขาต้องติดต่อกับเครือข่ายผู้ผลิตทั่วโลก
กลุ่มนี้มาทีหลัง ที่มาในช่วงปลายของความรุ่งโรจน์ของโรงเรียนนานาชาติในช่วงนี้ พวกเขาจำต้องมองตลาดที่ฐานกว้างขึ้น มองความสำเร็จที่ไกลออกไปพอสมควร ขณะเดียวกันมองรายละเอียดของระบบโรงเรียนมากขึ้นด้วย Bromsgrove School UK เป็นโรงเรียนสหศึกษา (ที่สอนตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงมัธยมปลาย เป็น โมเดลเดียวกับเมืองไทย โดยพยายามใช้ know-how ของระบบโรงเรียนอังกฤษอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะพยายามจะสร้างระบบโรงเรียนประจำขึ้น ที่สำคัญอีกประการหนึ่งต้องมองตลาดที่กว้างขึ้นกว่าเมืองไทย โรงเรียนแห่งนี้จึงปักหลักในย่านเชื่อมโยงสนามบิน สุวรรณภูมิ
ขณะเดียวกันพยายามพัฒนาโมเดลธุรกิจเฉพาะของตนเอง เชื่อมโยงกับไลฟ์สไตล์ของคนไทยและเอเชียที่เชื่อว่าจะเกี่ยวกันกับ กีฬากอล์ฟมากขึ้น Bromsgrove ในเมืองไทย ตั้งอยู่ริมสนามกอล์ฟ ที่มีสถาบันกอล์ฟขึ้นมาควบคู่โรงเรียน ซึ่งว่าตามจริงแล้ว มีการลงทุนพอสมควร ขณะที่ผลตอบแทนย่อมใช้เวลามากกว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง กระนั้นก็ตามเข้าใจว่า นักลงทุนกลุ่มนี้ คงมีที่ดินใกล้ๆ โรงเรียนเก็บไว้อีกพอสมควร หากเมืองขยายตัวมากขึ้น กิจการโรงเรียนและสนามกอล์ฟสร้างปฎิสัมพันธ์เชิงบวกมากแล้ว โครงการอสังหาริมทรัพย์ก็จะเกิดขึ้น แต่คงไม่รวดเร็ว เช่น Harrow ซึ่งใช้เวลาเพียง 2-3 ปีของการเปิด Campus เท่านั้นเอง
ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในบ้านเรา เดินทางมาถึงช่วงการเดิมพันที่เข้มข้นแล้ว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|