|
2005 Edmonton Heritage Festival
โดย
วรรณปราณี ศักดิ์สราญรมย์
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
งานเทศกาลฤดูร้อนในแคนาดาถือเป็นเรื่องไม่ธรรมดา เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นมีอุณหภูมิ -20 ถึง -30 องศาในฤดูหนาว ทำให้ชาวแคนาเดียนรอคอยอากาศอันอบอุ่นในฤดูร้อน และเป็นธรรมเนียมที่พวกเขาจะพากันออกเที่ยวงานเทศกาลต่างๆ กันอย่างสนุกสนานตลอดช่วงหน้าร้อนในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมของทุกปี
ในแต่ละเมืองต่างมีการจัดกิจกรรมเป็นการเฉพาะภายในของตัวเอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของงาน เช่น เมือง Calgary มีการแสดงโชว์วิถีชีวิตของชาวคาวบอย Calgary Stampede และการแข่งขันโรดิโอ ที่เรียกว่า World Champion Blacksmith's Competition ส่วนเมือง Toronto และ Vancouver มีเทศกาลเชิญชวนนักท่องเที่ยว มาชิมอาหารและไวน์ทั่วโลก
ส่วนใหญ่งานรื่นเริงดังกล่าว ชาวแคนาเดียนให้ความสนใจกับการแสดงออกทางศิลปะและวัฒนธรรม เช่น Historic Edmonton week เป็นงานแสดงประวัติความเป็นมาของนครแห่งนี้ The Folk Festival เป็นการแสดงดนตรีกลางแจ้ง International Fringe Festival เป็นงานแสดงออกทางด้านวรรณกรรม ภาพยนตร์ และละครบนเวที
ในเมือง Edmonton Heritage Festival เป็นอีกเทศกาลหนึ่งที่ขึ้นชื่อว่าสามารถเรียกนักท่องเที่ยวเข้าชมงานได้ติดอันดับหนึ่ง ในสิบของแคนาดา เห็นได้จากสถิตินักท่องเที่ยว เมื่อปี 2004 มีจำนวน 3.5 แสนคน เพิ่มขึ้นมา ในปี 2005 มากถึงกว่า 450,000 คน จากในอดีตที่มีเพียง 20,000 คน เมื่อ 30 ปีก่อน
Heritage Festival เป็นงานการรวมตัวของชุมชนชาติต่างๆ ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศนี้ที่จะได้แสดงออกถึงมรดกวิถีชีวิตของชนชาติต่างๆ เกือบทั่วโลกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนแห่งนี้
งานนี้เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1974 จากการริเริ่มของ Horst Schmid อดีตรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของ Alberta ที่ต้องการให้ชาวเมืองนี้ได้ฉลองงานรื่นเริงทางวัฒนธรรมเทศกาลฤดูร้อน แต่เขาเริ่มต้นได้เพียงการแสดงคอนเสิร์ตเท่านั้น
ปี 1976 ความตั้งใจของ Schmid เป็นรูปร่างชัดเจนขึ้นในการเติมสีสันของคำว่า Multicultural เพื่อให้ชุมชนจากเชื้อชาติต่างๆ เข้ามาแสดงเอกลักษณ์ของชาติตนเองในงานนี้
Canadian Multiculturalism เป็นจุดหมายสำคัญอันหนึ่งที่รัฐบาลแคนาดาพยายามผสมผสานชนชาติทุกเผ่าพันธุ์ที่เข้ามาอาศัยในประเทศนี้ให้เกิดความรู้สึกถึงความผูกพัน มิตรภาพ และความสมานฉันท์ที่พึงมีต่อกัน
สถิติของผู้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในแคนาดาระบุไว้ถึงกว่า 5.5 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งประเทศที่มี 31 ล้านคน โดยกลุ่มคนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานต่างกระจายไปทั่วประเทศแคนาดา และเป็นชุมชนชาติต่างๆ ขนาดใหญ่บริเวณเมือง Toronto Vancouver และ Montreal
โดยเฉพาะปี 2005 เมือง Edmonton ได้เป็นเจ้าภาพในการแข่งขันกีฬา World Masters Games ทำให้ผู้คนหลั่งไหลมาทั่วสารทิศ รวมตัวกันมาเป็นหมู่คณะ หรือมากันแบบครอบครัว เข้าชมงานดังกล่าว จนทำให้ William Hawrelak Park นคร Edmonton Alberta สถานที่จัดงานตลอด 3 วัน ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม ถึง 1 สิงหาคม แคบไปโดยปริยาย
Jack Little Executive Director Edmonton Heritage Festival Association ผู้เป็นตัวจักรสำคัญของการจัดงานครั้งนี้บอกว่า การดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ไม่หวังผลกำไร คนที่เข้ามาช่วยงานส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัครกว่า 6,000 คน และเราตั้งเป้าหมายของงานนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกชุมชน มาแสดงเอกลักษณ์ของชาติตนเอง และผู้เข้าชมงานได้รับความรื่นเริงไปพร้อมๆ กัน
สโลแกนของปีนี้มีว่า "Come Join Our Family" เพื่อต้องการให้ทุกชุมชน ไม่ว่าจะเป็นชาติใดก็ตามก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคนในครอบครัวเดียวกันที่จะเข้ามาร่วมเฉลิมฉลองความสุขกัน
ปะรำการจัดงานแบ่งเป็นซุ้มของแต่ละประเทศ ซึ่งปีนี้มีถึง 52 ชาติ เช่น การแสดงศิลปะการตีกลองของชาวอินเดียน คองโก เกาหลี ฟิจิ และจีน การเต้นระบำพื้นเมืองของชาวเอธิโอเปีย ไฮติ แอฟริกัน ไนจีเรีย มองโกเลีย เนปาล บอสเนีย การเต้นรำตามจังหวะภาคพื้นสแกนดิเนเวียและยุโรปของชาวสวีเดน โรมาเนีย แคริบเบียน ฝรั่งเศส เยอรมนี ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีสินค้าพร้อมทั้งอาหารพื้นเมืองของชาติต่างๆ เกือบทั่วโลกที่คุณสามารถลิ้มลองได้ในราคาประหยัด โดยไม่ต้องเดินทางไปถึงถิ่นกำเนิด
กลิ่นอายของบรรยากาศภายในงานนี้สามารถสัมผัสได้ถึงความแตกต่างของแต่ละเชื้อชาติที่มาจากแต่ละพื้นเพของตนเอง เช่น เนื้อย่างพร้อมผักดองกิมจิของชาวเกาหลีหรืออาหารของชาวโปรตุเกส มีปลาซาร์ดีนเป็นตัวเรียกน้ำย่อย ขณะที่ซุ้มของชาวไทยมีก๋วยเตี๋ยวผัดไทย และแกงเขียวหวานไก่ พร้อมกล้วยแขกทอดเป็นตัวชูโรง ระบำของสาวๆ ชาวนิการากัวและเม็กซิโก เรียกกลุ่มผู้ชมเข้ามายลโฉมชมความงามของเธอได้ไม่น้อย
ผู้เข้าชมงานต่างตื่นตากับการแต่งกายชุดประจำชาติ ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ ในวัยต่างๆ เดินเที่ยวชม และอวดความเป็นเอกลักษณ์ของชาติตนเองไปทั่วงาน ไม่ว่าแต่ละชาติจะมีสีผิว หรือมีที่มาจากเผ่าพันธุ์ใด ต่างต้องการแสดงออกถึงความเป็นตัวตนของตนเองโดยไม่ลดละ
การจัดงานของชุมชนไทยใน Edmonton ปีนี้มีการแสดงกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรม การฟ้อนรำ อาหารไทย สินค้า OTOP การส่งเสริมการท่องเที่ยวของ ททท. ซึ่งได้รับการชื่นชม จนได้รับรางวัล The Management Top Trophy Award จากงานดังกล่าว
รัชนันท์ ธนนันท์ รองกงสุลไทย นครแวนคูเวอร์ บอกว่า ถือเป็นสิ่งน่าภาคภูมิใจที่เราแสดงออกถึงความสามัคคีของชุมชนไทย ส่วนสินค้า OTOP และการท่องเที่ยวของไทย เป็นสิ่งที่เราโปรโมตให้นักท่องเที่ยวเกิดความสนใจและต้องการเดินทางไปเมืองไทยในอนาคต
ขณะที่ Maurice Rousseau ผู้ประสานงานของ Alberta Thai Association (ATA) บอกว่า งานดังกล่าวมิได้เป็นเพียงการแสดง ออกศิลปวัฒนธรรมเท่านั้น แต่เป็นการแสดงออกถึงพลังของชุมชนไทยที่เป็นชุมชนเล็กๆ ที่เราสามารถมีกิจกรรมต่างๆ ที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ชุมชนชาติอื่นที่มีขนาดใหญ่มากกว่าเราหลายเท่า และเราทำได้ดีจนได้รับรางวัลครั้งนี้
Food Bank เป็นองค์กรการกุศลที่ได้รับผลพลอยได้จากการรับบริจาคจากผู้เข้าชมงานเป็นเครื่องอุปโภคบริโภคที่ได้รับจำนวนมากถึง 29,000 กิโลกรัม ที่จะส่งผ่านไปยังผู้ด้อยโอกาสในสังคมตามชุมชนต่างๆ
Lan Taylor President From Heritage Festival ได้ตั้งเป้าหมายและแผนงานไว้ล่วงหน้าว่า งานดังกล่าวจะต้องเป็น The Largest Multicultural Festival in North America
รายได้ของการจัดงานครั้งนี้คงไม่พ้นเรื่องการจำหน่ายอาหารประมาณ 1.5 ล้านแคนาเดียน (51 ล้านบาท) ทั้งนี้ไม่รวมสินค้าพื้นเมืองของชาติต่างๆ อีกประมาณมากกว่า 2 แสนแคนาเดียน (7 ล้านบาท) แม้จะเป็นตัวเลขที่ไม่สูงนัก หากเปรียบเทียบกับการจัดงานอื่นๆ แต่เจตนารมณ์สูงสุดที่ทุกคนยอมรับ คือการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และอยู่ร่วมกันได้บนพื้นฐานของความแตกต่างกัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|