Lifelong Learning ชีวิตนี้เรียนได้ตลอดชีพ

โดย วิไลลักษณ์ ถิรนุทธิ
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

คุณผู้อ่านมีญาติผู้ใหญ่ใกล้ตัวท่านที่เริ่มเรียนวาดรูป หรือเรียนเต้นรำกันเมื่อตอนเกษียณแล้วบ้างไหมคะ ผู้สูงอายุในสังคมไทยนั้นโชคร้ายอยู่อย่างหนึ่ง คือแก่แล้วแก่เลย เพราะประเพณีไทยตีกรอบให้ผู้ใหญ่วัยทองทั้งหลายต้องประพฤติตนเป็นวัตถุโบราณตั้งอยู่บนหิ้งบูชา มีไว้ให้ลูกหลานเคารพกราบไหว้ หรือไม่ก็ให้เลี้ยงหลานอยู่กับบ้านเท่านั้น เพราะสังคมไทยถือว่าผู้สูงอายุนั้นไม่มีความต้องการอะไรเป็นของตัวเองอีกแล้ว ชีวิตที่เหลือจึงมีไว้อุทิศให้ลูกหลานมิได้มีไว้สำหรับตัวเอง

วัฒนธรรมการแบ่งแยกวัยวุฒิของสังคมไทยจึงเป็นประตูปิดกั้นมิให้ผู้สูงอายุ สามารถทำตัวเป็นตัวของตัวเองได้ บางคนที่อยากทำในสิ่งที่ต้องการทำมาทั้งชีวิตเช่นเรียนเต้นรำก็ทำไม่ได้ เพราะเกรงจะถูกมองว่าทำตัวไม่เหมาะกับวัย

แต่สังคมอังกฤษนั้น เปิดโอกาสในการศึกษาให้ผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ ภายใต้โครงการ "การเรียนตลอดชีวิต (Lifelong Learning)" ของหน่วยงานการศึกษาของอังกฤษ

คอนเซ็ปต์การเรียนตลอดชีวิตนั้น ก็เหมือนกับหลักสูตรศึกษาผู้ใหญ่ของบ้านเรา เพียงแต่ว่าได้รับการตอบรับจากผู้สูงอายุมากกว่าบ้านเราเยอะ อีกทั้งวิชาที่เปิดสอนก็มีให้เลือกหลากหลาย มากกว่าแค่วิชาที่เรียนแบบเอาใบประกาศฯ เพียงอย่างเดียว เพราะคอร์สที่ทางมหาวิทยาลัย วิทยาลัย และสถาบันการศึกษาทั้งเล็กและใหญ่เปิดสอนนั้น มีทั้งแบบที่มอบใบประกาศฯ สามารถนำไปประกอบอาชีพ ได้ และแบบเรียนเล่นๆ สำหรับคนที่สนใจเรียนสนุกๆ เท่านั้น

ในเมืองเล็กๆ อย่างนิวคาสเซิลนี้ มีสถาบันมากมายหลายแห่งเข้าร่วมโครงการ "การเรียนตลอดชีพ" เปิดสอนวิชาต่างๆ ให้คน ธรรมดาทั่วไปได้มีโอกาสเรียนโดยไม่เกี่ยงอายุ ทั้งมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ และวิทยาลัยเล็กๆ ทั่วท้องถิ่น รวมไปถึงห้องสมุดประชาชนที่เปิดสอน การใช้อินเทอร์เน็ต การแต่งนิทาน วิจารณ์วรรณกรรม ฯลฯ ให้ผู้สนใจได้เข้าเรียน อีกทั้งหอศิลป์ (Art Gallery) ก็มีการเสนอคอร์สวาดรูปให้บุคคลทั่วไปได้เรียนฟรีด้วย ซึ่งฉันบังเอิญโชคดี ตามองไปเห็นแผ่นโฆษณาเรียนวาดรูปฟรีคอร์สนี้เข้าพอดี ตัวเองเลยมีโอกาสได้ไปเรียนกับคุณป้าคุณยายอีกหลายชีวิต อายุ อานามของทุกคนรวมกันนั้นก็คงจะเกือบครึ่งพันได้

คอร์สที่ทางมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ซันเดอร์แลนด์ และเดอร์แร็ม นำเสนอให้กับประชาชนนั้น มีตั้งแต่คอร์สภาษาต่างๆ (ทั้งอารบิก ญี่ปุ่น จีน ฝรั่งเศส กรีก ละติน เยอรมัน สเปน แม้แต่ภาษาไทยก็มีให้เรียนเมื่อปีก่อน) คอร์สศิลปะ ทั้งปูนปั้น วาดรูป เพนต์สี ทำเครื่องประดับจากแก้ว ฯลฯ หรือไม่ว่าจะเป็น การเรียนวรรณกรรม ปรัชญา ศาสนา ประวัติ ศาสตร์ (ทั้งของอังกฤษ โรม กรีก อียิปต์ และ เยอรมนีสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง) สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ที่เปิดสอนก็เช่นจิตวิทยา ธรณีวิทยา พฤกษศาสตร์ ฯลฯ แต่ถ้าเป็นวิทยาลัย (college) ก็จะเน้นไปทางวิชาชีพมาก หน่อย ไม่ว่าจะเป็นการเรียนทำอาหาร คหกรรม ศาสตร์ วิชาบำบัดด้วยกลิ่น (Aromatherapy) นวดแผนโบราณ ตัดเย็บ จัดดอกไม้ แต่งสวน เล่นกีตาร์ หรือแม้แต่วิชาเต้นย้ายส่ายสะโพกแนวละติน อย่างซัลซ่า (salsa) ก็ยังมีสอน

ซึ่งนักเรียนซัลซ่านี้ใช่ว่าจะมีแต่รุ่นเล็กเท่านั้น ดาราเท้าไฟหลายต่อหลายคนที่ฉันเห็นตามผับที่เปิดสอนซัลซ่า ก่อนจะเปิดฟลอร์ ให้แขกได้เต้นกันอย่างหนำใจนั้น ก็มีคู่ของคุณลุงคุณป้าวัยสี่ห้าสิบอยู่หลายคู่ เต้นกันเก่งขนาดที่หนุ่มๆ สาวๆ เห็นแล้วต้องอายม้วนเลยทีเดียว

สำหรับใครที่เคยคิดว่าเด็กเท่านั้นที่จะเรียนภาษาได้ อาจจะต้องกลับไปคิดใหม่ เพราะนักเรียนส่วนใหญ่ในคอร์สภาษาสเปนที่ฉันเรียนเมื่อปีก่อนนั้น มีเลข 5 นำหน้าอายุอยู่ด้วยกันหลายคน แอนนี่ เพื่อนชาวอังกฤษซึ่งเป็นครูสอนภาษาญี่ปุ่นภาคค่ำให้กับวิทยาลัยเกทส์เฮด ก็ยังอดชื่นชมนักเรียนตายายวัยหกสิบกว่าๆ ของเธอไม่ได้ ที่มุมานะเรียนภาษาญี่ปุ่นกันอย่างไม่ย่อท้อ

การเป็นผู้สูงอายุในสังคมของประเทศที่ (เศรษฐกิจ) พัฒนาแล้ว น่าอิจฉาอยู่ตรงที่ เมื่อแก่เฒ่าลง ส่วนใหญ่ก็ไม่ต้องมากังวลกับเรื่องปากท้องอีกต่อไป ซึ่งถ้าไม่ใช่เพราะมีเงินเก็บเหลือเฟือ ก็เป็นเพราะมีรัฐคอยเลี้ยงดูไปตลอดชีวิต คนวัยทองกลุ่มนี้จึงมีความพร้อมสูงทั้งในเรื่องทุนทรัพย์และเวลา ทำให้สามารถ หันมาใส่ใจกับคุณภาพชีวิต หาความสุขเล็กๆ น้อยๆ ให้กับตัวเองในช่วงบั้นปลายชีวิตได้ เช่น นัดดื่มชาคุยกับเพื่อนฝูง (ซึ่งเป็นภาพที่พบได้บ่อยมากในญี่ปุ่นและอังกฤษ) เดินทางท่องเที่ยว ไปกับคู่ชีวิตของตนกันสองคนตายาย หรือไม่ก็ไปลงเรียนคอร์สต่างๆ ดูแล้วน่ามีความสุข

ครั้งหนึ่งในคอร์สเรียนวาดรูป ฉันได้เพื่อนร่วมชั้นเป็นคุณตาคุณยายสองราย ทั้งสอง ขับรถจากบ้านมาเรียนด้วยกันทุกเช้าวันเสาร์ หลังเลิกเรียนก็ขับรถไปเที่ยวกันสองต่อสองดูช่างเป็นชีวิตในบั้นปลายที่น่าอิจฉาเสียจริงๆ ส่วนรุ่นพี่รายหนึ่งซึ่งเคยเรียนด้วยกันมา ก็เพิ่งจะได้เป็นดอกเตอร์เมื่อตอนอายุห้าสิบกว่าแล้ว และขณะนี้กำลังทำปริญญาโทใบที่สองอยู่ เพราะความที่เป็นโสด ไม่มีภาระทางครอบครัว ให้ห่วงกังวล เขาจึงสามารถทุ่มเวลาและเงินทองไปกับสิ่งที่ตนอยากทำได้อย่างเต็มที่ ซึ่งใน ที่นี้ก็คือการเรียน

กว่าสามปีที่ได้ไปเรียนวาดรูปตามโครงการ Lifelong Learning ที่สถาบันต่างๆ ฉันสังเกตว่านักเรียนส่วนใหญ่มักเป็นหญิงชายวัยกลางคนหรือไม่ก็ผู้สูงอายุทั้งนั้น ส่วนใหญ่เพิ่งจะเริ่มจับดินสอกับพู่กันเอาก็เมื่อเกษียณแล้วนี่เอง หลายคนฝีมือดีเยี่ยม บ่อยครั้งที่ผลงาน ของพวกเขาถูกนำไปแสดงที่ห้องสมุดประชาชน ให้บุคคลทั่วไปได้ชื่นชม ซึ่งทางห้องสมุดนี้ก็มีจัดนิทรรศการภาพเขียนกันอยู่เสมอ

ว่ากันถึงเรื่องการเรียนแล้ว การเรียนนอกห้องเรียนก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าในห้องเรียน ซึ่งการสร้างบรรยากาศอันเอื้อ อำนวยต่อการเรียนนั้น เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องคอยกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความใฝ่รู้ห้องสมุดของอังกฤษถือเป็นสถานที่ให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้แก่ชุมชน มุมหนึ่งของห้องสมุดประชาชนในตัวเมืองนิวคาสเซิลนี้ ถูกจัดให้เป็นมุมแนะแนวการศึกษาสำหรับผู้ที่ต้องการ ศึกษาผู้ใหญ่ อีกมุมหนึ่งให้ข้อมูลด้านธุรกิจแก่ผู้ที่ต้องการเริ่มลงทุนทำธุรกิจของตัวเอง

นอกจากนี้ทางห้องสมุดยังคอยจัดสนทนาวรรณกรรมอยู่เสมอ บางครั้งเชิญนักเขียนในท้องถิ่นมาอ่านงานเขียนของตนให้ผู้สนใจฟัง แม้แต่วันเปิดตัวแฮรี่ พ็อตเตอร์ เล่ม ล่าสุด ห้องสมุดก็ยังจัดงานต้อนรับหนังสือดังของ เจ เค โรว์ลิ่ง อย่างสนุกสนาน บรรณารักษ์ ทุกคนพร้อมใจกันแต่งชุดดำและสวมหมวกแม่มด คอยทักทายเด็กๆ ที่มาขอยืมหนังสือแฮรี่ พ็อตเตอร์ ซึ่งตนจองไว้กับทางห้องสมุดแล้วตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่เพียงเท่านั้นทางห้องสมุดยังร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับหนังสือตามรายการโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นรายการจัดอันดับหนังสือ ยอดนิยมตลอดกาล หรือรายการแนะนำนิยายใหม่ๆ น่าอ่าน โดยลงทุนซื้อหนังสือติดอันดับเหล่านั้นมาไว้บริการประชาชนเรื่องละหลายๆเล่ม อีกทั้งยังจัดบูธโปรโมตหนังสือเหล่านั้น ทำราวกับว่าห้องสมุดเป็นร้านหนังสือเสียเองก็ไม่ปาน การสร้างบรรยากาศเช่นนี้เป็นการกระตุ้นให้ประชาชนและเด็กๆ มีนิสัยรักการอ่าน หันมาใช้บริการของห้องสมุดกันมากขึ้น

การสร้างสังคมการเรียนรู้จำเป็นต้องได้รับแรงกระตุ้นจากภาครัฐ แต่นิสัยการใฝ่รู้นั้นคงต้องเริ่มกันที่บ้านปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็ก สื่อเองก็สามารถมีบทบาทในด้านนี้ได้ โดยอาจหันมาช่วยกันโปรโมตทำการอ่านให้เป็นเรื่องเท่ไป แต่สำหรับผู้สูงอายุแล้ว อุปสรรคการเรียนรู้ของคนวัยนี้อยู่ที่วัฒนธรรมไทย ซึ่งขีดเส้นให้ผู้สูงอายุต้องทำ ตัวให้เหมาะสมกับวัย กลายเป็นการกีดกันการเรียนรู้ของคนวัยทองไปโดยปริยาย เพราะชีวิตไม่ได้หยุดอยู่ที่อายุสี่สิบหรือห้าสิบ แต่นั่นเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.