ยุคสายลมแสงแดด

โดย ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

จำได้ว่า สามเดือนก่อนผมมีโอกาสเข้าร่วมในขบวนนักศึกษาที่รวมตัวกันไปประท้วงรัฐบาลออสเตรเลียในมหาวิทยาลัย ในตัวเมืองบริสเบน และต่อด้วยการเดินขบวนไปตามท้องถนนใจกลางเมือง เนื่องจากรัฐบาลต้องการจะแก้กฎหมายบางอย่างเกี่ยวกับการไม่บังคับให้นักศึกษาที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยต้องสมัครเป็นสมาชิกของสโมสรนักศึกษา แต่กฎหมายนี้จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของสโมสรนักศึกษาโดยตรง เพราะจะขาดเงินอุดหนุนจากมหาวิทยาลัย

ประเด็นนี้กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่กฎหมายฉบับนี้จะเข้าสู่สภา เช่นเดียวกับการประท้วงโดยเหล่านักศึกษาทั่วประเทศที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง และเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

VSU หรือ Voluntary Student Unionism เป็นแนวคิดที่มีมานานพอสมควรแล้ว และประเด็นนี้ก็เป็นที่ถกเถียงกันมาตลอดเวลาเกือบ 15 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 1990 และมาเป็นประเด็นอีกครั้งนับจากการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศออสเตรเลียเมื่อปีกลาย

การไม่มี VSU ทำให้นักศึกษาที่เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยจะต้องเป็นสมาชิกสโมสรนักศึกษาโดยอัตโนมัติและเงินค่าเล่าเรียนที่นักศึกษาจ่าย ส่วนหนึ่งจะเป็นค่าบริการนักศึกษาซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งทางมหาวิทยาลัยจะนำมาใช้เพื่อจัดหาบริการให้แก่นักศึกษาเอง ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะเป็นเงินที่มหาวิทยาลัยส่งต่อไปยังสโมสรนักศึกษา ซึ่งสโมสรนักศึกษาจะนำเงินงบประมาณส่วนนี้ไปบริหารจัดการกันเอง โดยสโมสรนักศึกษาก็จะจัดหาบริการต่างๆ ให้แก่นักศึกษาในมหาวิทยาลัย เช่น บริการถ่ายเอกสาร, บริการขายอาหาร, เครื่องดื่ม, โรงภาพยนตร์, หนังสือ, ตำราเรียน, และกิจกรรมอื่นๆ รวมถึงงบประมาณที่จะมอบให้แก่ชมรม หรือกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ด้วย

มหาวิทยาลัยแห่งรัฐควีนส์แลนด์ (UQ) ที่ผมศึกษาอยู่ 57% ของเงินค่าบริการนักศึกษาที่นักศึกษาแต่ละคนจ่าย (คิดเป็นประมาณ 78 เหรียญออสเตรเลีย โดยหนึ่งเหรียญออสเตรเลียประมาณ 31-32 บาทไทย) จะส่งตรงไปยังสโมสรนักศึกษา (UQ Union) เงินเหล่านี้จะถูกใช้ในการจัดสรรบริการ, สิ่งอำนวยความสะดวก, เจ้าหน้าที่ และจ้างงานพนักงานเพื่อช่วยในกิจการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านขายของ, บริการให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย, หน่วยให้บริการเกี่ยวกับที่พักอาศัย, โรงภาพยนตร์, ผับ, ก่อสร้างอาคารต่างๆ, ปรับปรุงสถานที่ รวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ

เงินที่เหล่านักศึกษาบริหารนี้จึงค่อนข้างมากพอสมควร ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยแห่งรัฐควีนส์แลนด์ที่ผมศึกษาอยู่ ก็มีเงินบริหารกว่าหนึ่งล้านเหรียญออสเตรเลีย อย่างไรก็ดี ปริมาณเงินจะขึ้นอยู่กับขนาดของมหาวิทยาลัยด้วยเช่นกัน

แต่การบริหารเงินของสโมสรนักศึกษาก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน บางส่วนเห็นว่าบริการต่างๆ ที่จัดโดยสโมสรศึกษาไม่ค่อยคุ้มค่ากับเงินค่าบริการที่นักศึกษาต้องจ่ายในแต่ละปี ในขณะที่บางส่วนก็นำไปลงทุนในโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือไม่คุ้มทุน

VSU จึงเป็นแนวคิดที่จะให้นักศึกษาที่เข้ามหาวิทยาลัยสามารถเลือกที่จะสมัครเป็นสมาชิกสโมสรนักศึกษาหรือไม่ก็ได้ตามความสมัครใจ โดยเมื่อเป็นสมาชิกก็จะสามารถใช้บริการต่างๆ ที่ทางสโมสรนักศึกษาจัดสรรไว้ได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกก็อาจจะต้องเสียค่าบริการเพิ่มเติมตามแต่กำหนด

ปี 1998 คณะกรรมการเกี่ยวกับนโยบายการศึกษาระดับสูง ได้มีแนวคิดที่จะนำ VSU มาใช้ในภาคการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ในปี 1999 รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของออสเตรเลียจึงได้เสนอญัตติแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาระดับสูงเข้าไปในสภา อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านบางส่วนในขณะนั้นแสดงความไม่เห็นด้วย ซึ่งทำให้หลายคนไม่แน่ใจว่าชะตากรรม ของกฎหมายนี้จะเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ดี VSU ถูกใช้ในรัฐออสเตรเลียตะวันตกมาตั้งแต่ปี 1995 โดยให้นักศึกษาสามารถเลือกได้ว่าต้องการจะเป็นสมาชิกของสโมสรนักศึกษาหรือไม่ ในขณะที่รัฐวิกตอเรียนำมาใช้ในปี 1993 แต่ในรูปแบบอื่น กล่าวคือ ไม่บังคับให้เป็นสมาชิกของสโมสรนักศึกษา แต่นักศึกษายังคงจะต้องจ่ายค่าบริการนักศึกษา แต่เงินส่วนนี้จะนำไปใช้เพื่อจัดหาบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ส่งผลโดยตรงต่อสถาบันการศึกษาและนักศึกษาเท่านั้น โดยมิใช่บริการที่เกิดจากการเป็นสมาชิกสโมสรนักศึกษา ดังนั้น นักศึกษาจึงยังสามารถได้รับบริการและใช้สิ่งอำนวยความสะดวกที่สถาบันจัดหาให้ แต่อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่าเมื่อไปใช้บริการที่จัดหาโดยสโมสรนักศึกษา

VSU กลายมาเป็นหัวข้อถกเถียงอีกครั้งหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว หลังจากรัฐบาลพรรค Liberal นำโดยนายกรัฐมนตรีจอห์น โฮเวิร์ด ซึ่งสามารถยึดกุมอำนาจการบริหารได้อีกครั้ง มีความเห็นว่า กลุ่มสโมสรนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ มีเจตจำนงที่จะต่อต้านการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งของนายจอห์น โฮเวิร์ด

ซึ่งจะเห็นได้จากการพยายามรณรงค์อย่างต่อเนื่องของกลุ่มสโมสรนักศึกษาร่วมกับองค์กรที่มีแนวคิดแบบซ้าย หรือ สังคมนิยม นอกจากนี้ยังมีกลุ่มทั้งทางการเมือง, สังคม และวิชาการ อีกหลายๆ กลุ่มทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มีเหล่านักศึกษาเป็นแกนกลางของการดำเนินกิจกรรม ได้จัดกิจกรรมในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปลายปีที่แล้ว แสดงการสนับสนุนพรรคฝ่ายค้านสองถึงสามพรรคอย่างออกหน้าออกตา และประกาศว่าจะไม่มีวันเลือกนายจอห์น โฮเวิร์ดให้กลับมาเป็นนายรัฐมนตรีใหม่อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ต้องสืบสาวราวเรื่องไปถึงช่วงที่รัฐบาลจอห์น โฮเวิร์ด ตัดสินใจส่งกองทหาร ไปร่วมกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ในการบุกประเทศอิรักในช่วงที่ผ่านมา

ความขัดแย้งในเรื่องการเข้าร่วมสงครามอิรักระหว่างกลุ่มนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับฟากรัฐบาลที่เห็นถึงข้อดีหลายๆ อย่างของการเข้าร่วม กอปรกับการเคลื่อนไหวของพรรคฝ่ายค้านอย่าง Labour นำโดยอดีตหัวหน้าพรรค (ซึ่งปัจจุบันลาออกแล้ว) คือ Mark Latham ที่อาศัยประเด็นนี้ในการโจมตีพรรครัฐบาลอย่างแข็งขัน ทำให้ประเด็นเรื่อง VSU ถูกจุดขึ้นมาอีกครั้งหลังการเลือกตั้งใหญ่ผ่านพ้นไป

รัฐบาลอ้างเหตุผลว่า เงินที่สโมสรนักศึกษาต่างๆ ได้ไป โดยมากนำไปใช้ในกิจกรรมทางการเมือง ไม่ได้ใช้เพื่อบริการนักศึกษาด้วยกันเอง รัฐบาลจึงเห็นว่าจะต้องนำ VSU มาใช้เพื่อให้นักศึกษาสามารถเลือกได้ว่า จะเป็นสมาชิกและใช้บริการที่มีอยู่หรือไม่ เพราะถ้านักศึกษาไม่เห็นว่าบริการที่สโมสรนักศึกษาจัดไว้เป็นธรรมหรือเหมาะสมกับเงินที่จ่ายให้แต่ละปี ก็สามารถเลือกที่จะไม่เป็นสมาชิกได้

ด้วยเหตุนี้ การเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลกับนักศึกษาจึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฝ่ายหนึ่ง คือ รัฐบาลที่คิดว่าตัวเองเสียผลประโยชน์จากเงินของตัวเองที่นำไปสนับสนุนการศึกษา แต่นักศึกษากลับเอาไปต่อต้านพวกตน

ในขณะที่นักศึกษามองว่า พวกเขาถูกลิดรอนเสรีภาพ โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งความเห็นทางการเมืองก็เป็นเสรีภาพในการแสดงออกเช่นกัน นอกจากนี้ VSU คือ การพยายามขัดขวางบทบาทของสโมสรนักศึกษา

นักศึกษาเห็นว่า VSU เป็นแผนการต่อเนื่องของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษา Brendan Nelson ที่จะปฏิรูปการศึกษาระดับสูง ซึ่งเริ่มต้นเมื่อปีกลายโดยการขึ้นค่าเล่าเรียน และพยายามให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ โดยรัฐบาลอ้างว่าเหตุที่ต้องให้มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาระดับสูงออกนอกระบบ เพราะว่ารัฐบาลไม่มีเงินมากพอที่จะสนับสนุนการศึกษาแล้ว

แต่นักศึกษาให้ความเห็นว่า เป้าหมายของการปฏิรูป คือ การทำให้มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาระดับสูงออกนอกระบบ เพื่อที่รัฐบาลจะไม่ต้องให้เงินสนับสนุน นั่นหมายความว่า สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในเรื่องการศึกษาที่ประชาชนควรจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพถูกลิดรอนไป ระบบการศึกษาชั้นสูงจะเก็บเอาไว้ให้คนที่มีฐานะร่ำรวยเท่านั้น คนยากจนไม่มีสิทธิ์ศึกษาต่อระดับสูง

VSU จึงมิใช่แค่ทำให้ความสามารถของนักศึกษาในการต่อต้านการปฏิรูปการศึกษาหมดไปเท่านั้น แต่จะทำให้การรณรงค์ทางการเมืองของนักศึกษาหมดไปด้วยเช่นกัน เพราะที่ผ่านมานักศึกษามีการรณรงค์ทางการเมืองในหลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านการเข้ายึดครองประเทศอิรัก, ต่อต้านเรื่องสีผิว และการเข้าแย่งชิงทรัพยากรและที่ดินของชาวพื้นเมือง

เหตุผลที่รัฐบาลอ้างว่าไม่มีเงินนั้น ไม่จริง เพราะรัฐบาลเอาเงินส่วนใหญ่ไปสนับสนุนการส่งทหารเข้าไปยังประเทศอิรัก และทำให้หนึ่งในข้อความรณรงค์ของเหล่านักศึกษา คือ "Money for education not war" หรือให้สนับสนุนเงินเพื่อการศึกษา มิใช่สงคราม

อย่างไรก็ดี การที่พรรครัฐบาลสามารถครองที่นั่งทั้งสองสภาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมาได้ น่าจะทำให้ข้อเสนอเรื่อง VSU ซึ่งสอดแทรกเข้าไปในการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาระดับสูงในช่วงปลายเดือนสิงหาคมปีนี้ จะสามารถผ่านสภาได้โดยไม่ยากเย็นนัก

ขณะที่ผมกำลังเขียนบทความยังไม่มีความเคลื่อนไหวที่เด่นชัดนักจากภาคการเมือง แต่เหล่านักศึกษา พวกเขาจัดไฮด์ปาร์ก และเดินขบวนบนท้องถนนอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา เช่นเดียวกับที่พวกเขาเคยจัดเมื่อสามเดือนก่อน

แต่ครั้งนี้หนักแน่นขึ้นและเข้มข้นขึ้น

ส่วนหนึ่งเพราะมีแนวโน้มว่า VSU จะถูกเสนอเข้าสู่สภาในไม่ช้า แต่อีกส่วนหนึ่ง นี่อาจจะเป็นโอกาสสุดท้ายแล้ว สำหรับการรณรงค์ทางการเมืองของเหล่านักศึกษา

และเมื่อนั้นเหล่านักศึกษาออสเตรเลียก็จะเข้าสู่ยุคสายลมแสงแดด

อ่านเพิ่มเติม
1. Kenny, Z. (2005), 'VSU : an attack on democracy', Green Left Weekly, April 13, 2005.

2. Collins, K-A (1999), Voluntary Student Unionism : Protecting the Rights of Australian Students?, Research Bulletin No.7/99, Brisbane: Queensland Parliamentary Library.

3. Hastings, G. (2004), VSU Legislation Experiences in WA, Victoria and Federally, NUS (National Union of Students), http://www.nus.asn.au

4. Kenny, Z. (2005), 'No VSU! Students won't be silenced', Green Left Weekly, April 27, 2005.

5. NUS (2005), Anti-VSU Bullentin, Number 4, April 26, 2005.

6. NUS (2005), Anti-VSU Bullentin, Number 5, April 27, 2005.

7. http://www.uqunion.uq.edu.au/stopvsu


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.