|
Saitama Super Arena
โดย
ภก.ดร. ชุมพล ธีรลดานนท์
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
เพียงก้าวแรกที่เดินออกจากเครื่องเก็บตั๋วอัตโนมัติของสถานีรถไฟ Shintoshin เสียงเพลงเบาๆ ของ Ken Hirai ก็ลอยตามสายลมต้นฤดูร้อนมากระทบโสตประสาทพานให้เร่งก้าวเท้าเดินเร็วขึ้น
ที่บริเวณลานกว้างหน้า Saitama Super Arena ในบ่ายแก่ๆ ของวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา คลาคล่ำด้วยผู้คนและสื่อมวลชนหลายกลุ่มที่มารอทำข่าว บ้างก็กำลังต่อแถวซื้อ Ken Hirai Goods บ้างก็กำลังใจจดใจจ่อรอเวลาประตู Arena เปิดในอีกไม่กี่อึดใจ
เป็น Combination ที่ลงตัวของสองสิ่งที่จัดว่ายอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่มีอยู่ในญี่ปุ่น ในขณะนี้ หนึ่งคือ Ken Hirai (อ่านเพิ่มเติม : ผู้จัดการฉบับสิงหาคม 2548) และสองคือ Saitama Super Arena ทำให้คอนเสิร์ต Ken Hirai 10th Anniversary Tour รอบสุดท้ายได้รับการกล่าวขวัญจากนักวิจารณ์เพลงให้เป็นหนึ่งใน perfect live concert แห่งปี
หากเปรียบเทียบกันเพลงต่อเพลงแล้วจะเห็นได้ชัดว่าเสียงร้องของ Ken Hirai ที่ร้องสดจากไมค์หน้าเวทีผ่านระบบเสียงภายใน Super Arena ถ่ายทอดอรรถรสดนตรีได้ดีกว่าฟังจาก CD ซึ่งผ่านการปรุงแต่งเสียงใน studio เป็นไหนๆ
มองดูจากภายนอกแล้วรูปลักษณ์ของ Arena แห่งนี้ไม่น่าจะมีความแตกต่างไปจากสนามกีฬาสมัยใหม่แห่งอื่นที่มีอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกสักเท่าใดนัก แต่ในความเป็นจริงด้วยคอนเซ็ปต์ของการออกแบบอย่างชาญฉลาด ระบบกลไกที่ซ่อนอยู่ภายในอาคารช่วยให้ Saitama Super Arena สามารถ "แปลงร่าง" ได้ราวกับเป็น "ของเล่นไฮเทค"
อัฒจรรย์ทรงกระบอกสูง 5 ชั้นภายใน complex ของ Saitama Super Arena เนรมิตขึ้นมาเป็นการเฉพาะกิจจากสนามกีฬามาตรฐานโอลิมปิกโดยการเคลื่อน moving block ขนาดยักษ์ที่มีน้ำหนัก 15,000 ตัน สูง 41.5 เมตร หดเข้ามา 70 เมตร จากขนาดสนามกีฬาปกติและเมื่อติดตั้งระบบแสงสี และเสียง พร้อมด้วยจอ monitor ขนาดใหญ่ทั้งสองข้างเวทีเข้าไป สนามกีฬาดังกล่าวก็มีศักยภาพเป็น concert hall ขนาด 18,000 ที่นั่งที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น
การปรับโครงสร้างมาอยู่ใน arena mode นี้เพียงแค่ปูสนามหญ้าสังเคราะห์รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสและติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมเข้าไปก็จะมีขนาดที่พอเหมาะกับการใช้เป็นสนามแข่งขันเบสบอลในร่มชั้นดีที่รองรับการแข่งขันได้ในทุกฤดูกาล
ผลจากการเคลื่อน moving block ยังก่อให้เกิดพื้นที่รูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวที่เหลืออยู่ในฝั่งตรงข้ามซึ่งมีขนาดเพียงพอที่จะสร้างเป็น Community Arena สำหรับจัดงานแสดงผลงานวิชาการหรืองานแสดงสินค้าทั่วไปได้ ทำให้ Saitama Super Arena สามารถรับงานได้พร้อมกัน 2 งานภายในเวลาเดียวกัน
Saitama Super Arena ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของ Tokyo ซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาทีโดยรถไฟจากทั้งสถานี Tokyo และ Shinjuku หรือเพียง 2 นาทีจากสถานี Omiya จากทำเลทองของ Super Arena แห่งนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ทำให้องค์กรต่างๆ มักจะเลือก Saitama Super Arena ใช้เป็นสถานที่สำหรับจัดงานในอันดับต้นๆ
หากขยาย moving block ออกไปเต็มพิกัดใน stadium mode แล้ว Saitama Super Arena มีขนาดเท่ากับสนามฟุตบอลพร้อมลู่วิ่ง 8 ลู่ตามมาตรฐานกรีฑาสถานที่สามารถรับจัดงานกีฬาได้อย่างสบาย นอกจากนี้ยังมักใช้เป็นสถานที่จัดการแข่งขันมวยปล้ำนัดสำคัญๆ ได้อีกเช่นกัน
ที่สำคัญการปรับเปลี่ยนโครงสร้างในแต่ละ mode กระทำได้ง่ายและใช้เวลาแปลงร่างเสร็จสมบูรณ์ได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง
ความพิถีพิถันในการออกแบบครอบคลุมไปถึงแนวคิดในส่วนของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่เพียงแค่ "แปลงร่าง" เพื่อรองรับการใช้งานใน mode ที่แตกต่างกันซึ่งยังผลให้เกิดความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้ามีความแตกต่างกันไปด้วย บนส่วนของหลังคา Saitama Super Arena ติดตั้งด้วยแผง solar cells ซึ่งสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เปลี่ยนเป็นพลังงานสำรองไว้ใช้ภายในอาคารและมั่นใจได้ว่าจะไม่มีเหตุการณ์ไฟดับกะทันหันในทุกๆ event ที่จัดภายใน Super Arena แห่งนี้
การเลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติเป็นส่วนประกอบของผนังภายนอกอาคารช่วยลดการสะสมความร้อนภายในอาคารได้ ซึ่งถือเป็นมาตรการประหยัดพลังงานและค่าไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศได้ในฤดูร้อน
นอกจากนี้น้ำฝนที่รองมาจากหลังคาจะไหลผ่านไปยังระบบกลั่นกรองสิ่งสกปรกแล้วนำน้ำบริสุทธิ์ไปเก็บไว้ใต้ดินของอาคารสำหรับเป็นแหล่งน้ำใช้ภายในห้องน้ำทั้ง 29 แห่งทั่วสนามกีฬา
ในขณะเดียวกันยังมี facility อื่นๆ ภายในอาคารที่สอดคล้องไปกับแนวคิดที่โดดเด่นของ super arena ว่าด้วยเรื่องของความเป็นอาคารอเนกประสงค์ ยกตัวอย่างเช่นบนชั้น 6 ของ Saitama Super Arena มี Gold's Gym ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของ fitness training ที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากอเมริกา นอกจากนี้ยังมี NHK Culture Center กับหลากหลายกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่มีต่อเนื่องตลอดปี, John Lenon Museum, ร้านอาหารหลายแห่งและ shopping mall ขนาดย่อมรวมกันเป็นอีกส่วนประกอบที่อำนวยความสะดวกภายในอาคาร
ก่อนหน้านี้ทางจังหวัด Saitama ได้รับงบประมาณก้อนใหญ่ในการจัดสร้างสนามฟุตบอลใหม่ล่าสุดเพื่อใช้เป็นสนามแข่งขันสำหรับ FIFA World Cup Korea-Japan 2002 ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณไม่ไกล จาก Saitama Super Arena เท่าใดนัก แต่หลังจากนั้น Saitama Stadium 2002 ถูกใช้เป็นสนามสำหรับแข่งขันฟุตบอล J. League เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นการวาง position ของสนามทั้งสองที่แยกส่วนออกจากกันอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ดี Saitama Super Arena ยังคงทำหน้าที่รองรับงานต่างๆ ในหลายกิจกรรมทั้งดนตรี กีฬา ศูนย์ประชุม งานแสดงสินค้าและศูนย์วัฒนธรรม ซึ่งหมุนเวียนมาใช้งานกันอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1997
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|