หรือเกมกำลังจะเปลี่ยน?


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

การประกาศลาออกจากคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบอันเกิดจากการดำเนินงาน ตามแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท ปิโตรเคมีกัลไทย (ทีพีไอ) ของสิปปนนท์ เกตุทัต ทำให้ดูเหมือนว่าการฟื้นฟูกิจการของทีพีไอ ซึ่งแผนการฟื้นฟูได้ผ่านความเห็นชอบจากศาลล้มละลายกลางไปเกือบ 2 ปีมาแล้ว อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้น

สิปปนนท์ เป็นประธานคณะกรรมการ บริษัทเอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส ที่คณะกรรมการเจ้าหนี้มีมติเห็นชอบให้เป็น ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ

คณะกรรมการชุดที่สิปปนนท์เพิ่งลาออก เป็นคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นโดยกระทรวงยุติธรรม หลังจากเกิดการชุมนุมประท้วงอย่างหนักของพนักงานทีพีไอ ที่ต่อต้านการขายโรงไฟฟ้าของทีพีไอให้กับบริษัทบ้านปูพาวเวอร์

คณะกรรมการชุดนี้มี จาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน คณะกรรมการประกอบด้วยตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ ทั้งเจ้าหนี้ ผู้บริหารแผน รวมถึงตัวแทนของพนักงาน และตัวแทนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง

สิปปนนท์ได้อ้างเหตุผลในการลาออกครั้งนี้ว่า การมีคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา อาจเป็นการหมิ่นเหม่ต่อการก้าวก่ายอำนาจตุลาการ และแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนข้าราชการประจำ

ประเด็นเรื่องการขายโรงไฟฟ้า เป็นประเด็นที่มีการต่อสู้ในข้อกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ตลอดตั้งแต่ต้นปี 2545 เป็นต้นมา เพราะเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดอยู่ในแผนการขายทรัพย์สินรองมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในแผนฟื้นฟูกิจการ ได้ถูกกำหนดไว้ว่าจะต้องกระทำให้เสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2544

แต่เอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส ผู้บริหารแผนไม่สามารถเจรจาขายโรงไฟฟ้าได้ทันตามกำหนด

มีการประชุมเจ้าหนี้ถึง 2 ครั้งเพื่อขอให้มีการแก้ไขสาระสำคัญของแผนฟื้นฟูกิจการ โดยจะเลื่อนระยะเวลาการขายทรัพย์สินรองออกไปจากกำหนดเดิมในวันที่ 31 ธันวาคม 2544 เป็น 31 มีนาคม 2545 แต่มีเจ้าหนี้บางรายที่ไม่เห็นด้วย เท่ากับเปิดช่องว่างกฎหมายให้ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ นำมาใช้ต่อสู้คัดค้าน จนล่าสุดเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งไม่ให้เลื่อนกำหนดการขายทรัพย์สินรองออกไป ตามที่ผู้บริหารแผน และคณะกรรมการเจ้าหนี้เสนอ

ประชัยเป็นอดีตผู้บริหารทีพีไอที่คัดค้านการเข้ามาเป็น ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของเอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์สมาตั้งแต่ต้น ตลอดเวลาเขาพยายามหาช่องทางกฎหมายมาเล่นงานเอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์สหลายประเด็น มีคดีฟ้องร้องขึ้นศาลมากกว่า 30 คดี

แต่ประเด็นเรื่องการเลื่อนกำหนดเวลาขายทรัพย์สินที่เขานำมาต่อสู้ครั้งนี้ ดูเหมือนจะเป็นประเด็นที่ได้ผลมากที่สุด

หากเอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส ไม่สามารถขายทรัพย์สินรองได้สำเร็จ จะมีผลต่อการบริหารแผนฟื้นฟูเพื่อให้ผลประกอบการ และการลดมูลหนี้ของทีพีไอ ซึ่งปัจจุบันได้เหลืออยู่ประมาณ 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ ซึ่งประชัยอาจนำไปใช้เป็นข้ออ้าง ในการเรียกร้องขอเปลี่ยนตัวผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการได้อีกครั้งหนึ่ง

เรื่องนี้คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.