STEP ที่ 2 ของการพลิกโฉมแบงก์กรุงไทย


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ตามสัญญาว่าจ้างที่ทำไว้กับคณะกรรมการ ธนาคารกรุงไทย วิโรจน์ นวลแข มีวาระทำงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ใหญ่ของธนาคารแห่งนี้ เพียง 3 ปี ซึ่งในช่วง 3 ปีนี้ เขามั่นใจว่าธนาคารกรุงไทย จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

วิโรจน์เข้ามาเริ่มงานในธนาคาร กรุงไทย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมปีก่อน ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ในการปรับเปลี่ยนระบบงานภายใน เพื่อให้ธนาคาร แห่งนี้มีความคล่องตัวในการทำธุรกิจเฉกเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ของเอกชนแห่งอื่นๆ

ธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารพาณิชย์ ที่รัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ นอกจากบทบาทในการ ทำกำไรตามปกติของธุรกิจแล้ว ธนาคารแห่งนี้ ยังถูกกำหนดบทบาทให้เป็นธนาคารผู้นำ ด้วยการนำนโยบายที่มีลักษณะเชิงนามธรรมของรัฐบาลไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ทำไปแล้วหลายเรื่อง โดยเฉพาะการกระตุ้นให้เกิดการปล่อยสินเชื่อเข้าไปในระบบ

บทบาทของธนาคารกรุงไทยที่วิโรจน์ได้รับมา จึงถือเป็นภาระใหญ่ การที่จะทำให้ภาระดังกล่าวประสบความสำเร็จได้ ธนาคารแห่งนี้จำเป็นต้องมีความคล่องตัวในการดำเนินงานเป็นอย่างมาก

แต่ภาระขาดทุนสะสมที่ธนาคารต้องแบกรับอยู่ถึง 76,988 ล้านบาท กลายเป็นตัวถ่วงให้ธนาคารไม่สามารถขยับตัวได้อย่างคล่องแคล่วนัก ความพยายามในการล้างยอดขาดทุนสะสมดังกล่าวลงให้หมดโดยเร็ว จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง

หากใช้วิธีการดำเนินงานตามปกติ ยอดขาดทุนสะสมจำนวนนี้ กว่าจะถูกล้างออกไปให้หมด อาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งช้าเกินไปเมื่อเทียบกับเป้าหมายที่วิโรจน์ตั้งไว้ กับการเปลี่ยนแปลงธนาคารแห่งนี้ให้สำเร็จภายในวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี ที่เหลืออยู่ของเขา

การลดทุนจดทะเบียนของธนาคารลงมา เป็นทางออกที่รวดเร็วที่สุด ที่เขาได้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น

ในอดีต การลดทุนหากถูกนำมาใช้กับธนาคารพาณิชย์นั้น หมายถึงสถานการณ์เลวร้ายที่ธนาคารแห่งนั้นกำลังประสบกับปัญหาสภาพคล่องอย่างหนัก จนหาทางออกไม่ได้

แต่การลดทุนที่วิโรจน์นำมาใช้กับธนาคารกรุงไทย กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม

การลดทุนของธนาคารกรุงไทยลงมาครั้งนี้ กลับจะทำให้ผู้ถือหุ้นได้ประโยชน์ แม้ว่าราคาหุ้นในช่วงแรกหลังการลดทุน อาจมีการปรับตัวลงมาบ้าง

มีการคำนวณเอาไว้แล้วว่า หากธนาคารกรุงไทยลดทุนจดทะเบียนที่มีอยู่จำนวน 1 แสนล้านบาท เหลือ 57,664 ล้านบาท โดยการลดมูลค่าหุ้นจากหุ้นละ 10 บาท เหลือหุ้นละ 5.15 บาท เมื่อรวมกับการนำเงินสำรองอื่นๆ ไปตัด ขาดทุนสะสมแล้ว ยอดขาดทุนสะสมที่เคยแบกไว้สูงถึง 76,988 ล้านบาท จะเหลือเพียง 84 ล้านบาท

ตัวเลขนี้ เมื่อดูจากผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรก ที่ธนาคารสามารถทำกำไรได้ 4,700 ล้านบาทแล้ว ผลประกอบการของธนาคารกรุงไทยในปีนี้ จะกลับมามีกำไรทันที

กำไรจำนวนนี้ สามารถนำมาแบ่งจ่ายเป็นเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น รวมถึงเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน ที่จะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอีกมาก หากจะให้เกิดผลภายใน 2 ปี ตามที่วิโรจน์ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้

ภารกิจในปีแรกของวิโรจน์ ในการจัดการกับระบบงานภายในประสบกับความสำเร็จไปแล้วระดับหนึ่ง

ขณะนี้เขาเริ่มต้นภารกิจใหม่ในปีที่ 2 ด้วยการจัดการกับโครงสร้างเงินทุน ซึ่งก็คงไม่น่าเป็นเรื่องยากในการที่จะผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น

สิ่งที่เขากำลังจะทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในแบงก์กรุงไทยต่อจากนี้ เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.