|
The stock picker
โดย
ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ช่องทางใหม่สำหรับนักลงทุนไทยได้มีโอกาสลงทุนในหุ้นของบริษัทชั้นนำในเอเชีย ที่ผ่านการเลือกเฟ้นมาแล้วจาก Aberdeen
หน้ากากที่นำมาใช้เป็นดั่งตัวแทนประเทศย่านเอเชียทั้ง 12 แห่ง ภายใต้สโลแกนที่ว่า "Asia Wears Many Faces" ซึ่งฉายเด่นอยู่บนจอภาพโปรเจกเตอร์ขนาดใหญ่ ตรงมุมห้องมณฑาทิพย์ 2 ของโรงแรมโฟร์ ซีซั่น ช่วงก่อนการแถลงข่าวเปิดตัว กองทุนเปิด Aberdeen Pacific Equity Fund แสดง ให้เห็นถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ต่างกันใน 12 ประเทศ แต่ยังมีอะไรบางอย่างที่ละม้ายคล้ายคลึงกันอยู่ในที
คอนเซ็ปต์นี้ดูจะเข้ากันได้ดีกับเหตุผลที่ปีเตอร์ เฮมส์ ผู้อำนวยการด้านการลงทุนตราสารหนี้ ภาคพื้นเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) และเป็นผู้ดูแลสินทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การบริหารกว่า 5,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือโอกาสแถลงถึงเหตุผลที่เลือกลงทุนซื้อหุ้นของในกิจการที่อยู่ในภูมิภาคนี้
การตัดสินใจเลือกลงทุนในตลาดเอเชีย ส่วนหนึ่งมาจาก Aberdeen Pacific Equity Fund เป็นฅกองทุน FIF แรกที่ Aberdeen จัดตั้งขึ้นเพื่อระดมทุนจากนักลงทุนไทยไปลงทุนในหุ้นของกิจการ ทั้ง 12 ประเทศ การใช้ความใกล้ชิดและเกี่ยวข้องกันในระดับภูมิภาคเอเชียมาผูกเป็นแนวคิด น่าจะมีส่วนช่วยให้นักลงทุนไทยเข้าใจวิธีลงทุนในต่างประเทศได้มากกว่า
แต่อีกส่วนมาจากความเปลี่ยนแปลงที่มาก มายของตัวบริษัทหลังผ่านพ้นวิกฤติเมื่อกลางปี 2540 โดยบางแห่งมีการปรับตัวค่อนข้างชัดเจนในแง่ธุรกิจ เช่นยอมตัดขาย non-core business และคืนหนี้ไปแล้วค่อนข้างมาก ตัวผู้บริหารก็เริ่มเอาใจใส่กับความรู้สึกผู้ถือหุ้นมากขึ้น และยอมจ่ายเงินปันผลเมื่อกิจการเริ่มมีกำไร
ขณะเดียวกันแนวโน้มการพึ่งพาการส่งออกเริ่มลดลง โดยแต่ละ ประเทศพยายามหาจุดเด่นในอุตสาหกรรมที่สามารถนำเงินตราเข้าประเทศมากขึ้น อีกทั้งการขยายตัวของการบริโภคที่มีมากขึ้นภายในประเทศ ได้ช่วยให้ธุรกิจ consumer product เกิดการขยายตัวอย่าง มาก
แต่กระนั้นก็ตาม แม้เศรษฐกิจแต่ละประเทศอาจดูว่ามีขนาดเล็ก แต่ก็กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจีน หรืออินเดีย ซึ่งยืนอยู่ใน ระดับ 8-9% ต่อปี ยิ่งมองในเชิงขนาดภูมิศาสตร์ที่กว้างใหญ่และขนาด ประชากรที่มี 2 ใน 3 ของโลก ก็ยิ่งชัดว่ามูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในเอเชียจะขยายตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนกลายไปเป็น driver ของ GDP โลก
"เศรษฐกิจอเมริกาใหญ่ก็จริง แต่โอกาสเติบโตกลับลดลง เอเชียอยู่ในระดับ high growth แต่ราคาหุ้นเมื่อเทียบดัชนี S&P ที่นี่ ยังถูกกว่าเยอะ P/E ratio ก็ยังเติบโตได้ดีกว่า ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ดีที่สุด แล้วเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ในความเห็นของผมเอเชียยังเป็น very good story และเป็นเรื่องของความเป็นไปได้ในการลงทุนระยะยาว" เฮมส์กล่าว
สำหรับในจีน แม้จะเป็นประเทศที่น่าสนใจอย่างยิ่งในเชิงเศรษฐกิจมหภาคที่เติบโตกว่า 9% ก็ตาม แต่การเข้าลงทุนโดยตรงในตลาดหุ้นของจีนนั้นยังค่อนข้างลำบาก เนื่องจากบริษัทส่วนใหญ่ยังเป็นของรัฐ จึงยากที่จะเจอบริษัทที่ดี
"แต่ที่เรา over-weighted ในจีน เพราะเราเจอบริษัทที่ค่อนข้างดีหลายบริษัท เช่น Survive Pacific โดย exposure ส่วนใหญ่ในจีนนั้น หลักๆ เราจะลงทุนผ่านกลุ่มที่ list อยู่ที่ฮ่องกงแล้วเข้าไป exposure ในจีน ไม่ว่าจะแบงก์ หรือ China Mobile"
ที่อินเดีย แม้เศรษฐกิจมหภาคยังดูไม่น่าตื่นเต้นเท่าจีน แต่โครงสร้างเริ่มดีขึ้น โดยสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นคือมีบริษัทที่ค่อนข้างดีอยู่มากในประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจรถยนต์ หรือการผลิตยา ซึ่งมีความลึกกว่าในจีน โดย เฉพาะอย่างยิ่งด้านซอฟต์แวร์ ซึ่งเฮมส์เห็นว่ามีอยู่หลายระดับที่สามารถทำให้เป็นธุรกิจในกลุ่ม Fortune 500 ได้
ทั้งนี้ Aberdeen Pacific Equity Fund มีมูลค่า 10 ล้านเหรียญดอลลาร์ หรือ ราว 420 ล้านบาท เน้นการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนหลัก ซึ่งเป็นกองทุนรวมตราสารทุนในสิงคโปร์ เพื่อลงทุนในหุ้นกิจการ ใน 12 ประเทศคือ จีน/ฮ่องกง เกาหลีใต้ อินเดีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ไต้หวัน ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา โดยเน้นน้ำหนักการลงทุนในจีน/ฮ่องกง 20.4% เกาหลีใต้ 15.9% อินเดีย 14.8% และสิงคโปร์ 12.7 สำหรับไทยถูกถ่วงไว้ที่ 5.6%
Aberdeen มีสไตล์การลงทุนที่เฮมส์บอกว่า "พวกเราเป็น best stock picker" การตัดสินใจลงทุน ไม่ได้อิงกับ benchmark ของ MSCI, AC Asia และ Ex-Japan แต่มาจากผลวิเคราะห์ของตัวที่เน้นเจาะเฉพาะคุณภาพธุรกิจ การบริหารงานและมุมมองผู้บริหาร ที่มีต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย รวมถึงคุณภาพหุ้นที่เลือกลงทุน
โดยเหตุผลหนึ่งในการเดินทางมาประเทศไทยของเฮมส์ครั้งนี้ ก็เพื่อเยี่ยมเยียนบริษัท พบปะผู้บริหารบริษัทต่างๆ ในไทยก่อนการลงทุน และสิ่งนี้จะยังคงดำเนินสืบไปอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง จนกว่า Aberdeen จะเลิกลงทุนในกิจการนั้นๆ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|