|
สธ.วิจัยผลเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯคนไทยแบกค่ายาเพิ่มแสนล้าน
ผู้จัดการรายวัน(30 สิงหาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
งานวิจัย สธ.ชี้ผลกระทบ เอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นกับระบบยา ในประเทศ บริษัทผลิตยาของคนไทยต้องเลิกกิจการหรือถูกเทกโอเวอร์เรียบวุธ ตลาดยาจะถูกผูกขาดโดยต่างชาติ ดันค่าใช้จ่ายด้านยา พุ่งทะยานนับแสนล้าน
นางชุติมา อครีพันธ์ นักวิชาการประจำกระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย นำเสนอ ผลงานวิจัยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบยาในประเทศไทยหากต้องขยายสิทธิบัตรและผูกขาดข้อมูลตามข้อตกลงเปิดการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคเอเชียว่าด้วยข้อตกลงการค้าระดับทวิภาคี จัดโดยเครือข่ายโลกที่สาม (Third World Network) และรัฐบาลมาเลเซีย เมื่อวันที่ 26-28 ส.ค. ที่ผ่าน มา ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย โดยระบุว่า จาก การทำวิจัยพบว่าข้อเรียกร้องในประเด็นที่สหรัฐฯ ยื่นต่อทุกประเทศที่เจรจาเอฟทีเอมาแล้ว คือ
1) การผูกขาดข้อมูลการทดลองยา 2) ให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่ขึ้นทะเบียนยาต้องรับผิดชอบ ด้านการออกสิทธิบัตรด้วย 3) ให้ชดเชยระยะเวลาสิทธิบัตรอันเนื่องมาจากความล่าช้าในการออกสิทธิบัตรและการขึ้นทะเบียนยา 4) บังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวด 5) จำกัดมาตรการบังคับใช้สิทธิให้เหลือเพียงกรณีการบังคับใช้ของรัฐบาล 6) จำกัดหรือยกเลิกการนำเข้าซ้อน 7) จำกัดการถอนสิทธิบัตร ข้อเรียกร้องเหล่านี้ถือว่าเกินกว่าข้อตกลงทรัพย์สิน ทางปัญญาขององค์การการค้าโลก หรือเรียกว่า ทริปส์พลัส (TRIPs Plus)
จากงานวิจัยชี้ว่า หากรัฐบาลไทยต้องยอมตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ อุตสาหกรรมยา ในประเทศจะถูกจำกัดการพัฒนา โรงงานของคนไทยจะต้องเลิกกิจการหรือถูกเทกโอเวอร์ ผู้บริโภคชาวไทยจะต้องพึ่งพิงอยู่กับยาราคาแพงที่ติดสิทธิบัตร และลดจำนวนผู้เข้าถึงยาไปอีกยาวนาน ทั้งนี้ ปัจจุบันตัวเลขการบริโภคยาของคนไทยอยู่ที่ 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 52,000 ล้านบาท ซึ่งจำนวนนี้ 53.6% เป็นการใช้ยาที่ผลิตในประเทศ
การวิจัยของกระทรวงสาธารณสุขยังชี้ว่า จากตัวเลขปี 2546 ยาสามัญ (generic drug) ที่ทำขึ้นเพื่อทดแทนยาต้นแบบ (Original drug) ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดครึ่งหนึ่ง ทำให้ประเทศไทยสามารถประหยัดเงินได้มากถึง 264.3 ล้านเหรียญ สหรัฐ หากไม่มียาสามัญ ประเทศไทยจะต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อยาชนิดเดียวกันมากถึง 517 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 20,680 ล้านบาท)
งานวิจัยดังกล่าวประเมินว่า หากตลาดยาถูกผูกขาด โดยการเพิ่มอายุสิทธิบัตรและผูกขาดข้อมูลตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบด้านราคา ทำให้ยาแต่ละชนิดมีราคาแพงขึ้น 0.1-1.1 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งภายใน ระยะเวลา 10 ปีของการผูกขาด ยาแต่ละตัวจะแพงขึ้น 13.9-90.2 ล้านเหรียญสหรัฐ จากประมาณการยาขึ้นทะเบียนใหม่เฉลี่ยปีละ 60 ชนิด จะทำให้รายจ่ายของประเทศต้องเพิ่มขึ้น 6.4-65.9 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และหากบริษัทยาสามารถผูกขาดยาได้ถึง 10 ปี ค่าใช้จ่ายด้านยาจะสูงถึง 836.7-5,411.4 ล้านเหรียญสหรัฐ กระทรวงฯ จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาลให้รักษาจุดยืนการทำเอฟทีเอจะต้องไม่ส่งผลต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ
ทางด้านปีเตอร์ ดราฮอส จากมหาวิทยาลัย แห่งชาติออสเตรเลีย กล่าวว่า จากบทเรียนที่ออสเตรเลียทำเอฟทีเอกับสหรัฐฯ ภาคเกษตรที่หวังจะส่งสินค้าออกมากขึ้นไม่ได้ประโยชน์เลยแม้แต่น้อย แต่กลับต้องสูญเสียโครงการควบคุมราคายา หรือ PBS ที่ถือว่าดีที่สุดในโลก และทำให้คนออสเตรเลียตกเป็นเป้าการทำลายของสหรัฐฯ ผลกระทบเกิดขึ้นทันทีหลังเอฟทีเอ ออสเตรเลีย-สหรัฐฯมีผลบังคับใช้คือ อุตสาห-กรรมยาสามัญของออสเตรเลีย 6 บริษัทต้องย้าย ฐาน บริษัทที่เหลืออีกจำนวนมากต้องปิดกิจการ หรือต้องร่วมทุนอย่างไม่สมัครใจกับบริษัทยาแบรนด์เนมซึ่งส่วนใหญ่เป็นของสหรัฐฯ n
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|