|
พิษเศรษฐกิจทำสินเชื่อบ้านโตแค่10%ธ.กสิกรไทยอัดแคมเปญเพิ่มยอดขาย
ผู้จัดการรายวัน(30 สิงหาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
สินเชื่อบ้านทั้งระบบปีนี้หดตัวเหลือ 10% จากเดิมที่คาดการณ์เติบโต 16% เหตุราคาน้ำมันพุ่ง เศรษฐกิจชะลอลง รายได้ประชาชนไม่เพิ่ม ส่งผลกำลังซื้อลด "กสิกรไทย" เน้นออกแคมเปญกระตุ้นยอดสินเชื่อต่อเนื่อง ล่าสุดแคมเปญซื้อบ้านแถมบ้าน 3 เดือน เพิ่มยอดสินเชื่อกว่า 7 พันล้านบาท คาดทั้งปีสินเชื่อจะขยายตัวตามเป้า แย้มเดือนตุลาคมอาจจะทบทวนปรับดอกเบี้ยบ้านเพิ่มตามกลไกตลาด
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์และการตลาดสินเชื่อผู้บริโภค ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มลดลง จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยคาดว่าสิ้นปีสินเชื่อบ้านทั้งระบบน่าจะขยายตัวลดลงเหลือ 10% จากปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตประมาณ 16% เนื่องจาก ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลง ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น รายได้คงที่ ทำให้ กำลังซื้อของประชาชนลดลง
ในส่วนของธนาคารกสิกรไทยนั้น ยังคงมีอัตราการเติบโตที่ดีต่อเนื่อง ทั้งปีสินเชื่อบ้าน ของธนาคารตามเป้าหมาย โดยสามารถปล่อยสินเชื่อทั้งปีประมาณ 71,000 ล้านบาท เป็นสินเชื่อใหม่สุทธิประมาณ 22,000-23,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นสุทธิ 11,000 ล้านบาทธนาคารได้ออกแคมเปญอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นยอดสินเชื่อ
โดยจากการออกแคมเปญซื้อ บ้านได้บ้าน ปรากฏว่าระยะเวลา 3 เดือน สามารถเพิ่มยอดสินเชื่อได้ประมาณ 7,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่นๆ เช่น ซื้อบ้านแถมแจ๋ว นับเป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับลูกค้านอกเหนือจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับที่ต่ำ เชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากลูกค้าของธนาคาร โดยขณะนี้ตัวเลขส่วนแบ่งการตลาดของธนาคารขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง
"ขณะนี้หากนับมาร์เกตแชร์ของทั้งหมด ที่จะรวมธนาคารอาคารสงเคราะห์และธนาคารออมสิน แล้วธนาคารกสิกรไทยมีมาร์เกตแชร์ที่ระดับ 6% หากนับเฉพาะธนาคารพาณิชย์มาร์เกตแชร์อยู่ที่ระดับ 12-13% การออกแคมเปญอย่างต่อเนื่อง นับว่าประสบความสำเร็จที่จะช่วยกระตุ้นยอดสินเชื่อเป็นอย่างดี"
สำหรับแนวโน้มภาวะ ดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น การที่จะใช้ลูกเล่นแคมเปญของอัตราดอกเบี้ยนั้น คงจะอยู่ในทิศทางของอัตราดอกเบี้ยคงที่อยู่ เพื่อชี้ชัดถึงภาระของการผ่อนชำระลูกค้าได้อย่างชัดเจน รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้นลูกค้าต้องการที่จะลดความเสี่ยงเรื่องของอัตราดอกเบี้ยด้วย จึงมีความต้องการอัตราดอกเบี้ยคงที่อยู่ แต่ระยะเวลาของการคงที่ดอกเบี้ยจะสั้นลง จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2 ปี หรือหากเป็นระยะยาวกว่านี้ อาจจะต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นสูงกว่าช่วงปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคง เข้าไปแข่งขันในรูปแบบของราคาบ้าง เพื่อให้อยู่ในกลุ่มของอัตราดอกเบี้ยขนาดใหญ่ ซึ่งภาวะขณะนี้ทิศทางดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น ธนาคารอาจจะมีการทบทวน อัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายน และภายในเดือนตุลาคมหากมีธนาคารพาณิชย์อื่นๆปรับดอกเบี้ย ขึ้น ธนาคารคงจะพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้บ้านขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ส่วนจะเป็นเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับภาวะตลาดด้วย
"ตอนนี้มีหลายแบงก์ทยอยปรับดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านขึ้นบ้างแล้ว ซึ่งจะสังเกตได้จากแคมเปญสินเชื่อคงที่ จะเหลือประมาณ 1-3 ปี หลังจากนั้นจะคิดอัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ บวกที่เพิ่มขึ้นจากเดิม หรือบางรายมีการประกาศดอกเบี้ยคงที่แต่อัตราดอกเบี้ยจะปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับต้นปีที่ผ่านมา" นายชาติชาย กล่าว
ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยว่า ปัจจุบันส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงกับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์เริ่มขยับขึ้นแล้ว ซึ่งแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้นนี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการออม ได้ อย่างไรก็ตามจะดูดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.อย่างเดียวไม่ได้ต้องดูอัตราดอกเบี้ยในตลาดด้วย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ธปท. ยังคงหารือกับกระทรวงการคลัง ในเรื่องของมาตรการการออมเพื่อช่วยลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งจะมีหลายมาตรการออกมา ข้อเสนอแนะส่วนใหญ่ มีความเห็นตรงกัน แต่มาตรการที่กระทบกับภาษีนั้นทางกระทรวงการคลังจะเป็นผู้ชี้แจงเอง ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นการออมจะเน้นการออมภาคประชาชนเป็นหลัก เนื่องจาก ในส่วนการออมของภาครัฐบาลและภาคธุรกิจเอกชนอยู่ในระดับดีอยู่แล้ว
ด้านนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคาร กสิกรไทย กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นการออมว่า ถือว่าเป็นมาตรการที่ดีควรจะทำมานาน แล้ว โดยในส่วนของธนาคารกสิกรไทยเองก็มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมา เพื่อเป็น แรงจูงใจในการออม อย่างไรก็ตามการออมควรทำในระยะยาวไม่ใช่เกิดปัญหาแล้วจึงจะดำเนินการ n
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|