เมื่อหน่วยงานรัฐคิดแบบเอกชน


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ความที่โรงพยาบาลบ้านแพ้ว เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่ได้ออกจากระบบราชการ แปรสภาพเป็นองค์การมหาชน ทำให้ในแต่ละเดือนหมอวิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาล จำเป็นต้องเดินทางจากสมุทรสาครเข้ามาประชุมในกรุงเทพฯ บ่อยครั้ง

ทุกครั้งคุณหมอจะใช้เส้นทางถนนพระราม 2 เพื่อมาขึ้นทางด่วนที่ดาวคะนอง

และทุกครั้งอีกเช่นกัน ที่ก่อนขึ้นทางด่วน คุณหมอจะต้อง เห็นตึกสูงประมาณ 25 ชั้น ที่มีป้ายเขียนไว้ว่าโรงพยาบาล เวชสวัสดิ์ ตั้งตระหง่านอยู่ด้านซ้ายมือ

แต่ตึกแห่งนี้กลับถูกปล่อยทิ้งร้างเอาไว้ จากพิษวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อ 5 ปีก่อน สร้างความรู้สึกหดหู่ใจให้กับคุณหมอเป็นอย่างยิ่ง

รพ.เวชสวัสดิ์ เป็นโครงการของสมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล ที่ต้องประสบปัญหาทางการเงินภายหลังการลอยตัวค่าเงินบาททำให้ต้องปิดกิจการ โดยตัวอาคารถูกโอนมาอยู่ในความดูแลของ บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.)

หากเป็นในสมัยที่ รพ.บ้านแพ้ว ยังเป็นหน่วยงานรัฐ คุณหมอก็คงทำอะไรไม่ได้ นอกจากมองแล้วเมินผ่าน แต่การที่รพ.บ้านแพ้วกลายเป็นองค์การมหาชน ทำให้คุณหมอมีความกล้าในการคิด และตัดสินใจทำในสิ่งที่หน่วยราชการโดยทั่วไปไม่อาจทำได้

รพ.บ้านแพ้ว ได้เสนอซื้อตึกแห่งนี้จาก บบส. โดยให้ราคา 300 ล้านบาท

การเสนอซื้อครั้งนี้ ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา และเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการบริหาร บบส.

ในระบบธุรกิจ การเสนอซื้อตึกที่ติดภาระจำนองอยู่กับสถาบันการเงินในราคาขนาดนี้ ถือเป็นเรื่องปกติ แต่กรณีที่เกิดขึ้น กับ รพ.เวชสวัสดิ์ ซึ่งถูกเสนอซื้อโดย รพ.บ้านแพ้ว โรงพยาบาลชุมชนขนาดเพียง 180 เตียง มีงบประมาณดำเนินการปีละ 150 ล้านบาท ย่อมเป็นเรื่องไม่ธรรมดา และเรื่องนี้คงไม่อาจเกิดขึ้นได้ หาก รพ.บ้านแพ้ว ยังมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ

การออกจากระบบราชการ คือ กระบวนการปฏิรูปการทำงานของหน่วยราชการ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้มากขึ้น โดยหน่วยงานที่ออกจากระบบราชการจะถูกแปรรูปเป็นองค์การมหาชน การควบคุมดูแลจะอยู่ในรูปแบบของคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนภาครัฐ ตัวแทนของชุมชนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิ

คณะกรรมการชุดนี้ จะมีบทบาทในการกำหนดกรอบการ ดำเนินงาน โดยยึดหลักที่ไม่ขัดกับนโยบายของรัฐบาล ไม่แสวงหากำไร และอยู่ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ส่วนบทบาทในการบริหาร ตำแหน่งผู้อำนวยการจะถูกแปรสภาพจากข้าราชการ มาเป็นมืออาชีพ ที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการ เปรียบเสมือนลูกจ้างที่มีระยะเวลาการจ้างตามสัญญาคราวละ 4 ปี

ผู้อำนวยการเปรียบเสมือนเป็น CEO (Chief Executive Officer) มีอำนาจเต็มในการบริหารงาน การดูแลบุคลากร รวม ถึงรายรับรายจ่าย โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการจัดทำงบประมาณ เหมือนหน่วยราชการ ทำให้การดำเนินงานมีอิสระทั้งทางด้านการลงทุน การจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงมีอำนาจในการทำนิติกรรม แม้แต่การกู้เงินจากสถาบันการเงิน

รพ.บ้านแพ้ว เริ่มออกจากระบบราชการ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2543

นอกจากจะเป็นโรงพยาบาลที่เป็นองค์การมหาชนแห่งแรกแล้ว รพ.บ้านแพ้วยังเป็นต้นแบบของโครงการ 30 บาท รักษา ทุกโรคของรัฐบาลชุดนี้

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้มีการสำรวจถึงความเข้าใจของประชาชนในกรุงเทพมหานคร ต่อโครงการดังกล่าว ซึ่งกระทำโดย นักศึกษาปริญญาโท คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ผลการสำรวจนอกจากจะพบว่า คนกรุงเทพฯ เริ่มมีความเข้าใจในโครงการนี้มากขึ้นแล้ว ยังพบว่ามีพื้นที่บางแห่งในกรุงเทพฯ ที่ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการของโครงการ ได้แก่ พื้นที่ในเขตบางขุนเทียน ทุ่งครุ ราชบูรณะ และจอมทอง รวมถึงบางบอนบางส่วน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ไม่มีโรงพยาบาลของรัฐตั้งอยู่ และโรงพยาบาลของเอกชนที่เข้าร่วมกับโครงการ 30 บาท อยู่ในจุดที่ห่างไกลต่อการเดินทาง

คนที่อาศัยอยู่ในเขตเหล่านี้ จำเป็นต้องเข้าไปใช้บริการของโรงพยาบาลเอกชน ที่มีอยู่ประมาณ 5-6 แห่ง ซึ่งคิดค่าบริการ ในราคาที่สูงกว่า

98.9% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่ถูกกระจายออกไปประมาณ 2,000 ชุด เรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาตั้งโรงพยาบาลภายในบริเวณนี้ แต่การลงทุนสร้างโรงพยาบาลขึ้นใหม่ จำเป็นต้องใช้งบประมาณนับพันล้านบาท และกระบวนการจัดทำงบประมาณ ตลอดจนการก่อสร้าง อาจกินเวลาหลายปี จนไม่ทันต่อการขยายตัวของชุมชน

ด้วยความที่ต้องมองเห็นตึกร้างของ รพ.เวชสวัสดิ์ทุกครั้งที่เดินทางเข้ากรุงเทพฯ หมอวิทิตจึงคิดว่า ถ้านำตึกนี้มาปรับปรุงใหม่ให้เป็นองค์การมหาชน ในลักษณะของโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่ง และให้บริการกับผู้ป่วยในโครงการ 30 บาทโดยเฉพาะ น่าจะเป็น ทางออกที่ลงตัวมากที่สุด

การเสนอซื้อ รพ.เวชสวัสดิ์ รพ.บ้านแพ้วเสนอเงื่อนไขการ ชำระเงิน โดยจะผ่อนจ่ายกับ บบส.ภายในระยะเวลา 1 ปี

แนวคิดนี้ หมอวิทิตได้ปรึกษา และได้รับการเห็นชอบจาก นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยกระทรวงจะนำงบประมาณเหลือจ่ายของโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในปีงบประมาณ 2544 จำนวน 49.6 ล้านบาทมาเป็นงบสนับสนุนเบื้องต้น ส่วนที่เหลือถือเป็นหน้าที่ของรพ.บ้านแพ้ว

ตามแผนงาน หากคณะกรรมการ บบส.อนุมัติให้ขายอาคารแห่งนี้ รพ.บ้านแพ้วก็จะเข้าไปปรับปรุงสภาพตัวอาคาร จัดเตรียมบุคลากร และอุปกรณ์การแพทย์ รวมทั้งทีมงานบริหาร เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการได้ภายใน 1 ปี

และเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณในการดำเนินงาน หมอวิทิตได้ขอความร่วมมือจาก รพ.อื่นในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านต่างๆ เข้ามาช่วยงานในโรงพยาบาล โดยโรงพยาบาลที่ได้มีการพูดคุยกันเบื้องต้นแล้วประกอบด้วย รพ.เลิดสิน จะให้ความร่วมมือทางด้านศัลยกรรมทั่วไป และศัลยกรรมกระดูก รพ.เมตตาประชารักษ์ วัดไร่ขิง ให้ความร่วมมือทางด้านจักษุแพทย์ และรพ.นพรัตน์ ราชธานี จะเข้ามาร่วมทางด้านอาชีวเวชศาสตร์ ฯลฯ

เป็นการดำเนินงานในลักษณะของพูล โดยบทบาทของรพ.บ้านแพ้ว เป็นผู้ลงทุน และบริหารงานทั่วไป

ความเคลื่อนไหวของ รพ.บ้านแพ้วครั้งนี้ ได้ก่อให้เกิดความตื่นตัวในหมู่โรงพยาบาลเอกชนที่ตั้งอยู่ในบริเวณดังกล่าว มีการเสนอซื้ออาคารหลังเดียวกันเข้ามายัง บบส.ทันที โดยบวกราคาเพิ่มขึ้นไปอีกประมาณ 30 ล้านบาท แต่เรื่องนี้ คณะกรรมการ บบส.ยังไม่มีข้อสรุป

สิ่งที่ รพ.บ้านแพ้วกำลังดำเนินการ ถือเป็นมิติใหม่ของระบบราชการไทย ที่กล้านำวิธีคิดแบบเอกชนมาใช้ในการทำงาน

และหากประสบความสำเร็จ โครงการนี้ก็จะถือเป็นรูปแบบการบริหารงาน ที่โรงพยาบาลอื่นๆ ที่กำลังจะออกจากระบบราชการ ต้องนำไปศึกษา และเป็นแบบอย่างในการพัฒนาการให้บริการทางด้านสาธารณสุขมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.