One Card Pays All

โดย ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

บัตรพลาสติกใบเล็กๆ ที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งมี ปัจจุบันได้พัฒนาจนกลายเป็นรูปแบบการชำระเงินค่าสินค้าและบริการในชีวิตประจำวันที่สะดวกไม่แพ้เงินสด และกำลังจะเป็นเครื่องมือในการบริหารค่าใช้จ่ายประจำเดือนของครอบครัวในที่สุด

หากทุกสิ้นเดือนคุณได้รับใบแจ้งรายการชำระเงินที่รวบรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดของครอบครัว ตั้งแต่ค่าประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์มือถือ ทุกเครื่อง ค่าอินเทอร์เน็ตของลูก ค่าน้ำมันรถ เคเบิลทีวี ซูเปอร์มาร์เก็ต เสื้อผ้า และค่าใช้จ่ายอื่นๆ จิปาถะ แล้วคุณไปชำระเงินเพียงที่เดียว ไม่ต้องวุ่นวายไปทางโน้นทีทางนี้ที ไม่ต้องจำว่ารายการไหนครบกำหนดเมื่อไร ตัดปัญหาการหลงลืมจ่ายบางรายการไปได้ แถมยังมีลิสต์ให้ตรวจสอบได้อีกว่าแต่ละเดือนใช้อะไรไปเท่าไร ที่พิเศษกว่านั้นก็คือ ทุกบาทที่จ่ายไปยังเก็บสะสมเป็นแต้มให้เอามาแลกของรางวัลได้อีก

บริการนี้จะช่วยให้ชีวิตคุณสะดวกขึ้นไหม?

ปัจจุบันผู้ให้บริการบัตรเครดิตแต่ละรายกำลัง เร่งสปีดอย่างเต็มที่เพื่อพัฒนาบริการของตนเองไปให้ถึงจุดที่ว่ามาข้างต้น และใช้เป็นจุดขายสำคัญข้อหนึ่งในการสร้างยอดผู้ถือบัตร เพราะแนวคิดนี้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันที่นำบัตรเครดิตมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมากขึ้น

ข้อมูลจาก Visa ซึ่งเป็นผู้ให้บริการระบบชำระเงินที่มียอดผู้ถือบัตรเครดิตมากที่สุดในประเทศไทยระบุว่า หมวดหมู่ร้านค้าที่มีการชำระด้วยบัตร Visa ในสัดส่วนสูงที่สุด 5 อันดับแรกในปัจจุบันประกอบด้วยดีพาร์ตเมนต์สโตร์ เสื้อผ้า โรงแรม ปั๊มน้ำมัน และโรงพยาบาล ตามลำดับ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมจากตาราง)

ถึงแม้แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้เริ่มส่อเค้าการชะลอตัวจากปัจจัยสำคัญทั้งราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นและแนวโน้มขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ย แต่ผู้ประกอบการบัตรเครดิตกลับมองว่าปัจจัยนี้กลับเป็นตัวกระตุ้นให้มียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรมากขึ้น ที่เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อสินค้ามีราคาสูงขึ้น ถึงแม้ผู้บริโภคจะบริโภคเท่าเดิมแต่มูลค่า ก็เพิ่มสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ ในกรณีนี้จึงเป็นปัจจัยบวกให้กับธุรกิจบัตรเครดิตโดยปริยาย โดยจะเห็นได้จากตัวเลขการใช้บัตรเครดิตในการเติมน้ำมันซึ่งมีอัตราการเติบโตถึง 31% ที่ได้แรงสนับสนุนมาจากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่อง

สุขดี จงมั่นคง ประธานชมรมผู้ประกอบการบัตรเครดิตคาดการณ์ว่า การขยายตัวของจำนวนบัตรเครดิตของไทยในปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 15% ขณะที่ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรก็จะเพิ่มขึ้นในอัตราใกล้เคียงกันนี้ อย่างไรก็ตาม หากสามารถเปิดตลาดใหม่ๆ ได้สำเร็จ ก็จะช่วยให้ยอดการใช้จ่ายมีอัตราการขยายเติบโตได้สูงขึ้น

นอกจากกลยุทธ์ดังกล่าวแล้ว การนำเอาฐานข้อมูลลูกค้าที่มีอยู่มาสร้างแคมเปญหรือโปรโมชั่นที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละรายในลักษณะของ mass customization ก็เป็นอีกกลยุทธ์สำคัญที่ผู้ประกอบการแต่ละรายให้ความสำคัญ โดยปัจจุบันจะเห็นได้ว่า แต่ละรายจะมีรูปแบบของบัตรให้ลูกค้าได้เลือกใช้ตามไลฟ์สไตล์ของตนเอง มีแม้กระทั่งใส่ลูกเล่นที่ตัวบัตรให้มีรูปลักษณ์และลวดลายสีสันแปลกตา เช่น shape card ของบัตรกรุงไทย หรือ KTC ที่ถนัดในรื่องเหล่านี้เป็นพิเศษ

ผู้ให้บริการแต่ละรายต่างก็เลือกกลยุทธ์ที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยควบคุม การดำเนินงานของผู้ให้บริการบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน มากขึ้น KTC ที่เปิดตัวมาด้วยการจับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค หลังจากที่สะสมยอดผู้ถือบัตรได้เกิน 1 ล้านราย ก็เริ่มหาพันธมิตรร่วมทำกิจกรรมสร้างสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ถือบัตร ก่อนที่จะพัฒนาไปสู่การเป็น Membership Company และBrand Company ตามเป้าหมายที่วางไว้ ขณะที่กรุงศรี จีอีก็พยายามเปิดตลาดใหม่ๆ เพื่อขยายธุรกิจทดแทนการเพิ่มจำนวนบัตร

การแข่งขันที่เกิดขึ้นนี้ ถึงที่สุดแล้วน่าจะเป็นประโยชน์ ต่อผู้บริโภคที่รู้จักเลือกใช้บัตรเครดิตที่ให้สิทธิประโยชน์ตรงกับรูปแบบการใช้จ่ายของตนเองมากที่สุด โดยไม่ลืมที่จะระมัดระวังกับการใช้จ่ายในช่วงภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.