|
Harvard คนที่ 2 ในปูนใหญ่
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
งานแถลงข่าวผลการดำเนินงานงวดไตรมาสที่ 2 ของเครือซิเมนต์ไทยปีนี้ แตกต่างไปจากการแถลงผลประกอบการในหลายครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะบุคคลที่ขึ้นไปนั่งคู่คอยป้อนข้อมูลกับชุมพล ณ ลำเลียง ที่เป็นผู้แถลงหลัก ซึ่งก่อนหน้านี้บทบาทนี้เคยเป็นของกานต์ ตระกูลฮุน แต่คราวนี้บทบาทเดียวกันกลับตกเป็นของรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ที่ดูแลสายงานการเงิน (CFO) และประชาสัมพันธ์
"เป็นงานของเขาโดยตรง เพราะเขาดูแลงานประชาสัมพันธ์" กานต์ซึ่งมาร่วมงานแถลงข่าวครั้งนี้ด้วย แต่ไม่ได้ขึ้นบนเวทีพูดถึงรุ่งโรจน์กับผู้สื่อข่าว ที่เข้ามาถามเขาว่าทำไมถึงไม่ขึ้นไปร่วมนั่งแถลง
บทบาทของรุ่งโรจน์ในปัจจุบัน เป็นบทบาทเดียวกันกับที่กานต์เคยได้รับ ก่อนที่เขาจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองผู้จัดการใหญ่ เมื่อกลางปีที่แล้ว ซึ่งบทบาทนี้มีหน้าที่ต้องปะทะสังสรรค์กับทั้งสื่อมวลชนและนักลงทุน
ที่สำคัญ เป็นบทบาทที่ต้องรับผิดชอบการหาแหล่งเงินทุน และจัดสรรเงินทุน เพื่อนำไปใช้ในโครงการลงทุนต่างๆ ที่เครือซิเมนต์ไทยมีแผนสำหรับการขยายงานในอนาคต
ที่ผ่านมา กุญแจสำคัญในการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำภาคอุตสาหกรรมของเครือซิเมนต์ไทย มิได้อยู่ที่บทบาทของภาคการผลิต หรืองานทางด้านวิศวกรรม แต่อยู่ที่บทบาทในการหาแหล่งระดมเงินทุน ซึ่งบทบาทนี้เริ่มโดดเด่นขึ้นมาตั้งแต่ยุคที่ชุมพล ณ ลำเลียง ได้เข้ามาดูแลฝ่ายการเงิน ก่อนที่จะได้รับการโปรโมตขึ้นเป็นผู้จัดการใหญ่ เมื่อ 13 ปีก่อน
ยิ่งหลังจากนี้ไป เมื่อเครือซิเมนต์ไทยได้ประกาศเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำอุตสาหกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บทบาทนี้จะยิ่งถูกตอกย้ำความสำคัญมากยิ่งขึ้น
บทบาทของรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ในฐานะ CFO ของเครือซิเมนต์ไทย จากนี้ไปจึงยิ่งน่าติดตาม
เพราะนอกจากเขาต้องเข้ามารับผิดชอบภารกิจสำคัญในการหาแหล่งและจัดสรรเงินทุนแล้ว เขายังมีประสบการณ์ในการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศครั้งแรกของเครือซิเมนต์ไทย โดยเป็นทีมงานที่เข้าไปดูแลกิจการของบริษัท TileCera Inc โรงงานเซรามิก ในสหรัฐอเมริกา ที่เครือซิเมนต์ไทยเคยเข้าไปเทกโอเวอร์เมื่อหลายปีก่อน แต่ต้องขายทิ้งไปเนื่องจากไม่ประสบความสำเร็จ
หัวหน้าทีมที่เข้าไปดูแล TileCera Inc ในครั้งนั้น คืออวิรุทธ์ วงศ์พุทธพิทักษ์ ก็เคยเป็น CFO ของเครือซิเมนต์ไทย ก่อนหน้าที่จะเปลี่ยนมือมาเป็นกานต์ ตระกูลฮุน
ที่สำคัญ รุ่งโรจน์ยังเป็นศิษย์เก่าที่จบการศึกษาจริงจาก Harvard คนที่ 2 ที่เข้ามาอยู่ในเครือซิเมนต์ไทย มิใช่ศิษย์เก่าในฐานะของผู้บริหารที่ถูกส่งไปอบรมคอร์สบริหารสั้นๆ จาก Harvard Business School ที่เป็นแนวทางการสร้างผู้บริหารที่เครือซิเมนต์ไทยยึดถือมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา
รุ่งโรจน์จบปริญญาตรีวิศวกรรมเหมืองแร่ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และไปต่อปริญญาโททางด้าน Industrial Engineering จาก University of Texas at Arlington สหรัฐอเมริกา
แต่เขาได้ปริญญาโทอีกใบ เป็น MBA ด้านการเงิน จาก Harvard Business School
ประวัติการศึกษาของรุ่งโรจน์ คล้ายคลึงกับรุ่นพี่ของเขา ที่เป็นศิษย์เก่า Harvard คนแรกที่อยู่ในเครือซิเมนต์ไทยที่ชื่อ ชุมพล ณ ลำเลียง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|