Design Strategy for Innovation

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

คอลเลกชั่นของจิม ทอมป์สัน ที่ออกสู่ตลาดโลกในเดือนกันยายนนี้ เป็นนวัตกรรมใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าวันนี้ตลาดผ้าไหมของจิม ทอมป์สัน ไม่จำเป็นต้องเป็นไหมอย่างเดียวต่อไป

เนื้อผ้าคอตตอนผสมไหม ทิ้งตัวจากผนังลงมาอย่างสวยงามอวดความมันวาวนิดๆ เช่นเดียวกับไหมผสมออร์แกนซาเนื้อบาง ส่วนไหมผสมโพลีเอสเตอร์ทำให้ผ้ามีความคงทนเพิ่มขึ้น อีกผืนหนึ่งเป็นไหมผสมกับผ้าฝ้ายที่ทอด้วยเทคนิคพิเศษ เป็นแบบใหม่ล่าสุดที่ยังไม่ได้นำออกไปขาย บางผืนเป็นลายผ้าย้อนยุคที่ความนิยมกลับมาอีกครั้ง แต่เอามาใช้กับโทนสีใหม่

อีกชิ้นเป็นผ้าไหมทั้งผืนแต่ทอด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัย สามารถทำเป็นลายเส้นโค้งขนาดใหญ่ที่สลับซับซ้อน เครื่องจักรประเภทนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการทอผ้า แต่ใหม่สำหรับการเอามาเล่นกับผ้าไหม

"ในยุคนี้คนชอบอะไรที่เด่นๆ สีก็ต้องเด่น ลายก็ต้องใหญ่ ลายผ้าแต่งบ้านจากสีขรึมหวานกลายเป็นเฉดสีที่สว่างขึ้น เป็นเทรนด์ของยุคนี้ที่เปลี่ยนลุคไป"

ทินนาถ นิสาลักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายงานออกแบบให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" เป็นการพบกันอีกครั้งในห้องทำงานใหม่บนชั้น 7 อาคาร 8 ชั้น หลังใหม่ของบริษัทอุตสาหกรรมผ้าไหมไทย สุขุมวิท ซอย 93 ที่พนักงานฝ่ายต่างๆ เพิ่งทยอยย้ายกันเข้ามาก่อนการเข้าเยี่ยมชมของ "ผู้จัดการ" เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2548 เพียงไม่กี่วัน

ดีไซเนอร์คนเก่าที่ร่วมงานกับจิม ทอมป์สัน มานานถึง 20 ปี ผู้แต่งกายได้เนี้ยบเรียบกริบทุกครั้งที่เจอ อธิบายต่อว่า ปัจจุบันผ้าบางผืนไม่ใช้ไหมเลย ลวดลายก็ไม่มีความเป็นไทย เช่นผ้าที่มีส่วนผสมเส้นใยพิเศษของวัสดุทนไฟ ที่ต้องได้มาตรฐานเพื่อใช้ในงานโรงแรม หรือผ้าในคอลเลกชั่นใหม่สำหรับใช้ในห้องนอน ซึ่งแม้ผ่านการออกแบบจากห้องนี้ แต่การผลิตมาจากบริษัทอื่นที่ถูกคัดเลือกแล้วว่ามีคุณภาพดีพอที่จะใส่แบรนด์ จิม ทอมป์สัน ลงไป เช่นเดียวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าชิ้นใหม่ ที่เรียกว่า out door ป้องกันเชื้อราและตะไคร่น้ำ

ผ้าไหมสีขาวเหมือนไข่มุกล้ำค่าจากใต้ก้นบึ้งของทะเล ถ้าเป็นสีเหลืองจะสุกประกายเหมือนทองคำ เมื่อเป็นสีเทาก็เหมือนเงินที่มีความระยิบระยับ ความสุขของดีไซเนอร์จะเกิดขึ้นตรงนี้ เพราะไม่ว่าจะเอาไปผสมกับเนื้อผ้าชนิดใดส่วนของไหมก็ยังไหวระยับกลายเป็นสีที่แตกต่างกันออกไป

แต่ที่สำคัญที่สุดคือเทคโนโลยีการผลิตที่ยากขึ้น จิม ทอมป์สันเป็นบริษัทเดียวในเมืองไทยที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาเทคนิคการผสมผสานไหมกับเส้นใย และวัตถุดิบชนิดต่างๆ มานาน ทินนาถให้เหตุผลของการเปลี่ยนแปลงว่า

"หลังจากที่เราทำผ้ามาแล้วหลายคอลเลกชั่น ได้งานโรงแรมมากมายก็พบว่าผ้าไหมจะสามารถขายได้เพียงจุดจุดหนึ่งในโรงแรมส่วนห้องใหญ่ๆ เช่น ล็อบบี้ใช้ไหมไม่ได้ การดูแลและอายุการใช้งานอาจจะไม่ทนเหมือนผ้าคอตตอน ที่สำคัญราคาแพงเกินไป เลยจำเป็นต้องเอาพวกเส้นใยอื่นๆ มาผสม คราวนี้ถ้าเรารับงานมาทั้งโรงแรมเราก็มีผ้าที่สามารถใช้ได้ครอบคลุมทั้งโรงแรม"

แม้จิม ทอมป์สัน มีสินค้าที่หลากหลายขึ้นแต่ก็มี positioning ชัดเจนว่าไม่ได้ขายสินค้า mass product และต้องเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง เช่นเดียวกับเส้นทางการเติบโตของแบรนด์ดังทั่วโลก เช่น เวอร์ซาเช่ อาร์มานี่ หรือเออร์เมส

"ก็ไม่ได้ลืมดูว่าคนอื่นเขาทำอย่างไรนะครับ ตามเทรนด์เหมือนกัน แต่ไม่ว่าจะขยายและพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปอย่างไร ก็พยายามให้มันมีลุคของจิม ทอมป์สัน อยู่ด้วย แล้วเอามาผสมผสานกันท้ายที่สุดก็เป็นรสนิยมแบบของเรา" ทินนาถกล่าวย้ำ ดังนั้นบทบาทสำคัญอย่างหนึ่งของเขา ก็คือต้องสอนเด็กใหม่ๆ ให้เข้าใจถึงความเป็นจิม ทอมป์สัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

"ถึงแม้เดี๋ยวนี้จะออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์แต่นักออกแบบ ที่นี่ทำงานกับเรามานานแล้วก่อนที่จะใช้คอมฯ ดังนั้นทุกคนจึงมีความสามารถในการวาดด้วยมือ คนกลุ่มนี้เมื่อทำด้วยคอมพิวเตอร์ก็สามารถทำงานได้สวยเหมือนกับที่เขาเขียนด้วยมือ จริงๆ เราไม่ได้อยากใช้คอมฯ หรอกครับ แต่เมื่อโรงงานปักธงชัยไฮเทคโนโลยีกันแล้ว ก็ต้องพูดภาษาเดียวกับเขาเหมือนกัน แต่ก็พยายามดึงบางจุดที่ทำด้วยมือเข้ามาเพื่อเป็นเอกลักษณ์ของเราเอง"

ดังนั้นในเรื่องการออกแบบลายผ้าไหมทอมือก็ยังเป็นนโยบายที่บริษัทยังให้คงมีอยู่ต่อไป เพราะยังทำรายได้ดีกับงานบางประเภท บางครั้งขึ้นอยู่กับเทรนด์ของแฟชั่นที่นิยมด้วย ถึงแม้ทุกครั้งที่มีงานทอมือ ต้องมีเหตุผลว่าเพราะอะไร เช่น บางลายต้องการปุ่มปมของไหมเป็นจำนวนมาก ทอด้วยเครื่องไม่ได้ จะทำให้เส้นไหมขาด

คำพูดของทินนาถสอดคล้องกับคำพูดของอีริค บี บู๊ทซ์ ที่เคยกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า สิ่งที่บริษัทอยากทำคือ เรามีพนักงานที่เป็นอาร์ติสต์หลายคน หากเอาฝีมือของเขาไปพัฒนาเป็นลายผ้า ก็น่าจะสร้างมูลค่างานให้เพิ่มขึ้นอีก

โครงสร้างหลักๆ ของฝ่ายดีไซน์ แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ แผนกทอผ้า แผนกพิมพ์ผ้า และออกแบบสินค้า สินค้าทุกชิ้นที่หน้าร้านของจิม ทอมป์สัน เริ่มต้นที่นี่ ตั้งแต่การออกแบบ เตรียมสี เตรียมพร้อมทุกอย่าง อย่างเดียวที่ไม่ได้ทำที่นี่คือการพิมพ์ หลังจากนั้นทุกอย่างจะกระจายไปทำการผลิตที่ปักธงชัย หรือโรงงานตัดเย็บซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน

GARALD PIEARE เป็นผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบอีกคนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจว่า จะเอาลายนี้ไปใช้กับสินค้าประเภทไหน รวมทั้งเป็น Display Design ควบคุมคอนเซ็ปต์การจัดหน้าร้านทุกสาขาของประเทศ ด้วยประสบการณ์ในการเรียนรู้รสนิยมของลูกค้ามากว่า 20 ปีของเขา คือส่วนหนึ่งที่สร้างยอดขายให้สูงขึ้น

แผนกดิสเพลย์เป็นส่วนหนึ่งในฝ่ายดีไซน์ ที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา และตั้งแต่กลางปี 2548 ทุกสาขาของ จิม ทอมป์สัน ได้ทยอยปรับลุคใหม่ให้ดูทันสมัย รองรับกับโปรดักส์ใหม่ๆ ที่เข้ามา เริ่มจากสาขาที่เอ็มโพเรียมที่เปลี่ยนเป็นการเอากระจกเงามาใส่ เพื่อที่จะทำให้ดูสว่างสวยงาม มีสินค้าพวกเครื่องแต่งบ้านมากขึ้น จากที่เคยเน้นเรื่องนิคแน็คอย่างเดียว ส่วนสาขาที่กำลังปรับปรุงคือเซ็นทรัล ชิดลม, อิเซตัน ที่เซ็นทรัล เวิลด์, ร้านสาขาสุริวงศ์ ก่อนจะต่อด้วยสาขาที่เพนนินซูล่าและอื่นๆ

เช่นเดียวกับร้านในเซ็นทรัล เฟสติวัล ภูเก็ต ที่เพิ่งปรับปรุงใหม่เช่นกัน แต่สาขาใหม่ที่จะเป็น Show Case สำคัญของผ้าไหมจิม ทอมป์สัน จะอยู่ที่สยามพารากอน เพราะเป็นร้านที่มีพื้นที่ขายมากที่สุดประมาณ 700 ตารางเมตร โดยดึงดีไซเนอร์จากสิงคโปร์ ที่เชี่ยวชาญในเรื่องของ Space และ Lighting มาช่วยทำให้สินค้าในร้านน่าสนใจยิ่งขึ้น

นวัตกรรม ใหม่ของการดีไซน์จากบริษัทจิม ทอมป์สันจะไปอวดสายตาชาวโลกอีกครั้งที่นั่นปลายปีนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.