Biggest Move

โดย น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ในฐานะที่เป็นสายการบินแห่งชาติที่มีอายุยาวนานกว่า 45 ปี การย้ายฐานปฏิบัติการจากสนามบินดอนเมืองไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของคน "การบินไทย"

เดือนเมษายนที่ผ่านมา พนักงานการบินไทย 542 คน ตัดสินใจ early retire ก่อนเวลาเกษียณอายุการทำงานจริง หลังตัดสินใจแน่ชัดแล้วว่าตนเองและครอบครัวไม่อาจจะยอมรับสภาพความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ภายหลังจากที่การบินไทยจะต้องย้ายฐานปฏิบัติการทั้งหมดจากสนามบินดอนเมืองไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งจะถึงกำหนดเวลาเปิดใช้จริงในอีกไม่นานนี้

หากคำนวณจากตำแหน่งหน้าที่และความรับผิดชอบแล้ว เฉพาะพนักงานการบินไทยที่จะต้องย้ายไปประจำการที่สนามบินสุวรรณภูมิจะมีมากถึง 15,000 คน จากพนักงานการบินไทยทั่วโลกทั้งสิ้น 25,000 ชีวิต แม้จำนวนพนักงานที่ตัดสินใจลาออก ทั้งแบบเกษียณอายุก่อนกำหนด หรือลาออกทั้งๆ ที่อายุการทำงานยังเหลืออีกหลายสิบปีจะไม่มากนักเมื่อเทียบกับจำนวนพนักงานของการบินไทยที่มีอยู่

แต่ก็ถือเป็นผลกระทบที่เห็นได้เด่นชัดที่สุดอย่างหนึ่ง อันจะเกิดขึ้นจากนโยบายของภาครัฐในการตัดสินใจเปลี่ยนสนามบินนานาชาติจากสนามบินดอนเมืองในพื้นที่ของกองทัพอากาศที่ใช้กันมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา มาเป็นสนามบินที่ทั้งใหญ่และทันสมัยกว่าอย่างสนามบินสุวรรณภูมิ

เมื่อภาพการเป็นสายการบินอันดับหนึ่งเริ่มชัดเจน มีแผนการรองรับอย่างเป็นรูปธรรมกับการเติบโตที่จะเกิดขึ้น จึงไม่มีทางไหนจะมาเปลี่ยนแผนการย้ายไปยังสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นส่วนเติมเต็มให้การบินไทยไปยังจุดที่ตั้งเป้าเอาไว้ได้ ดังนั้นพนักงาน 15,000 คน ที่จะต้องเดินทางไปปฏิบัติงานในสนามบินแห่งใหม่ ย่อมต้องยอมรับเงื่อนไขอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยเช่นกัน ยกเว้นพนักงานที่ตัดสินใจลาออกพร้อมรับเงินก้อนหนึ่งติดมือไปแล้วก่อนหน้านี้

การบินไทยลงมือสำรวจในเรื่องบุคลากรของการบินไทยที่จะได้ผลกระทบจากการย้ายที่ทำงานใหม่ทั้งสิ้น 3 ครั้ง 2 ครั้ง ทำโดยสมาคม สโมสร และสหภาพการบินไทย เป็นแกนหลัก และครั้งที่ 3 ให้เอแบคเข้ามาสำรวจเพิ่มเติมตาม Migration Plan ของบริษัทที่จัดตั้งขึ้น เพื่อศึกษาความกดดันที่จะเกิดขึ้นตามมาภายหลังจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของพนักงาน เพื่อนำมาซึ่งการวางแผนงานต่างๆ

ผลการสำรวจนำมาซึ่งการออกแบบและจัดเส้นทางการเดินรถรับ-ส่งพนักงานใหม่ทั้งหมด รวมถึงการวางแผนเพื่อจัดหาบ้านพักอาศัยให้พนักงานกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ที่อยากจะย้ายบ้าน

ในจำนวนนี้กว่า 10 เปอร์เซ็นต์ต้องการซื้อบ้านใหม่ หากคำนวณจากตัวเลขพนักงานของการบินไทยทั้งหมด นั่นหมายถึงว่า บ้านใหม่ของพนักงานการบินไทยคงเทียบเท่าได้กับการเกิดชุมชนคนการบินไทยขนาดย่อมขึ้นมาในละแวกใกล้เคียงสนามบินสุวรรณภูมิกันเลยทีเดียว

การบินไทยเองไม่ได้นิ่งเฉย ให้สโมสรพนักงานการบินไทยเป็นผู้ดำเนินจัดหาบริษัทที่ดำเนินการเรื่องที่พักอาศัย สร้างบ้านหลายราคา หลายระดับ เพื่อให้พนักงานของบริษัทได้เช่าซื้อ หรือผ่อนในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด ล่าสุดกระบวนการคัดเลือกบริษัทสร้างบ้านให้กับพนักงานการบินไทยได้ข้อตกลงเบื้องต้นกับ 2 บริษัทคือ มั่นคงเคหะการ และแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ในวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมาคือ วันที่ทีมประชาสัมพันธ์ของการบินไทยตัดสินใจจัดสัปดาห์ "สุวรรณภูมิ" แก่พนักงานทั้งหมดของการบินไทย เพื่อหาข้อสรุปและตัดสินใจว่ามั่นคงเคหะการได้ให้ผลตอบแทนหรือให้บ้านที่ไม่เป็นที่พึงพอใจแก่พนักงานของบริษัทหรือไม่ ก่อนการตัดสินใจเลือกหมู่บ้านให้กับพนักงานในเวลาต่อมา

Migration Plan ยังลงรายละเอียดถึงเรื่องบุตรหลานพนักงานทั้งหมด ในเวลาเดียวกัน การบินไทยได้มีการทำสำรวจโรงเรียนที่อยู่ละแวกใกล้เคียงสนามบินแห่งใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา หรือแม้แต่มหาวิทยาลัย ทั้งหมดเพื่อเป็นข้อมูลแก่พนักงาน อีกทั้งยังได้ประสานกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้สิทธิพิเศษแก่บุตรหลานของพนักงานที่ต้องย้ายโรงเรียนกลางคัน

ขณะที่ประเด็นซึ่งพนักงานการบินไทยให้ความสำคัญมากที่สุด ก็คือเรื่องการรักษาพยาบาล ซึ่งมาเป็นอันดับหนึ่งจากการสำรวจของเอแบค ในเบื้องต้นการบินไทยเชื่อว่าคงเกิดผลกระทบกับพนักงานทั้งหมดเป็นแน่ เนื่องจากสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้สุวรรณภูมิมีไม่มากนัก แต่ก็ยังมองเห็นความหวังที่รัฐบาลจะสร้างโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น หลังจากที่โครงการภาครัฐเอง ก็มองเห็นอยู่แล้วว่าสนามบินแห่งใหม่จะก่อให้เกิดนครสุวรรณภูมิขึ้นมาด้วยในเวลาต่อมา

ทุกวันนี้การบินไทยเริ่มแผนฝึกฝนพนักงาน เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยก่อนการไปทำงานในสนามบินจริง การตั้ง Coach Leader หรือผู้นำฝึกหนึ่งคนฝึกคนได้อีกเจ็ดคน กระจายออกไปเรื่อยๆ เพื่อให้การฝึกนั้นทั่วถึง คือแผนการหนึ่งในแผนการย้ายการทำงานทั้งหมด และรอคอยตั้งเวลาการฝึกแบบเข้มข้นขึ้น โดยนับถอยหลัง 6 เดือน ก่อนการย้ายไปยังสนามบินจริง และวันสำคัญในการซ้อมใหญ่ ทั้งการนำเครื่องบินลงจอด การบริการของพนักงานการบินไทยทุกส่วน แบบครบทั้งสนามบินที่ยังกำหนดวันไม่ได้ว่าเป็นเมื่อใด

"เนื่องจากเป็นเรื่องของวิถีชีวิต วิถีชีวิตในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องจะย้ายบ้านไปอยู่ที่ใหม่ การมีบ้านที่ใหญ่ขึ้น มีห้องนอนมากขึ้นเท่านั้น แต่หมายถึงทุกอย่างรอบตัวที่หายไป คุณยายอยู่บ้าน ตอนเย็นจะต้องไปไหว้พระทุกวัน จะต้องทำอย่างไร ถามว่าตอนเย็นวันพุธ พนักงานเคยต้องนัดเจอกับเพื่อนบ้าน แต่เมื่อย้ายไปทำงานที่ใหม่ เขาไม่ได้สัมผัสกับสิ่งดังกล่าวซึ่งเคยทำติดต่อกันมากว่า 10 ปี ถามว่าเขาจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นการบินไทยต้องดูแลจนถึงปัญหาสุดท้ายที่เขาต้องเจอ ไม่ใช่ดูแลเพียงตัวเขาอย่างเดียวเท่านั้น" กนก อภิรดี กรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย อธิบายกับ "ผู้จัดการ" ให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงอันจะเกิดขึ้น กับพนักงานของตนในเร็ววันนี้

วันนี้พนักงานการบินไทยหลายคนคงเตรียมใจเอาไว้ล่วงหน้ากับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของตนและครอบครัว ทั้งเวลาที่หายไปหลายชั่วโมงต่อวัน จากการเดินทางไกลยิ่งขึ้น หรือการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานใหม่ทั้งหมดจากที่ทำงานใหม่และใหญ่กว่า เมื่ออย่างไรเสียหากสนามบินสุวรรณภูมิจะเป็นที่มั่น ที่จะทำให้การบินไทยกลับมาเป็นเบอร์หนึ่งของธุรกิจการบินได้อีกครั้ง คนการบินไทยเองก็คงต้องยอมรับเงื่อนไขหลายข้ออย่างปฏิเสธไม่ได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.