The changing way of life

โดย น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังจากวันที่ 29 กันยายน 2548 ผู้คนที่อาศัยอยู่ในตลาดหัวตะเข้และบริเวณใกล้เคียงชุมชนลาดกระบัง คงต้องไปปรึกษากับคนที่พักอยู่
บริเวณ กม.27 ถนนพหลโยธิน แล้วว่าเขาจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไร หากสนามบินสุวรรณภูมิเปิดใช้อย่างเป็นทางการ

เสียงดังกระหึ่มไม่ต่ำกว่า 65 เดซิเบล ของเครื่องบินที่กำลัง landing ลงบนพื้นรันเวย์ของสนามบินดอนเมือง ที่มาพร้อมกับละอองน้ำมัน ซึ่งเกิดขึ้นแทบจะทุกๆ 2 นาที อาจเป็นความเคยชินของคนที่อาศัยอยู่บริเวณ กม.27 ถนนพหลโยธิน และบริเวณคลองหนึ่ง ถนนสายรังสิต-ลำลูกกา กับพื้นที่โดยรอบ

แต่ภาพดังกล่าว กลับเป็นสิ่งใหม่สำหรับคนที่อาศัยอยู่บริเวณชุมชนลาดกระบัง โดยเฉพาะร้านค้า ร้านอาหารในตลาดหัวตะเข้ รวมถึงบรรดาอาจารย์ และนักศึกษา ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง ชุมชนขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ปลายรันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิทางด้านเหนือ ซึ่งถูกใช้เป็นทิศทางสำหรับการลงจอดของเครื่องบิน เพียงไม่กี่กิโลเมตร

คนเหล่านี้จะใช้เวลาเท่าใดในการปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิต และสภาพแวดล้อมใหม่ ที่กำลังจะมาถึง

"เขาไม่สนหรอกว่า เสียงจะดัง หรือมีละอองน้ำมัน เพราะหลายคนเขาพอใจที่ได้รับเงินค่าเวนคืนที่ดินกันไปแล้ว คนละไม่ต่ำกว่า 3 รอบ" คนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้มาไม่ต่ำกว่า 20 ปี บอกกับ "ผู้จัดการ"

"ชุมชน" คือตัวอย่างผลกระทบอันเนื่องมาจากการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิที่จับต้องได้มากที่สุดในเวลานี้ ไม่ว่าจะด้วยผลกระทบจากมลพิษทางเสียงของเครื่องบินที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ฝุ่น และควันจากการก่อสร้างถนนหนทาง อาคารที่พักอาศัย และบ้านจัดสรรที่ผุดขึ้นตามมาเป็นดอกเห็ด

ชุมชนลาดกระบัง หนึ่งในอีกหลายชุมชนที่มีพื้นติดกับสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งปัจจุบันยังคงวิถีชีวิตความเป็นชานเมืองเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน ชาวบ้านหลายคนยังคงดำรงชีวิตอย่างสมถะ ริมสองฟากฝั่งคลองเรือหางยาว คือพาหนะสำคัญสำหรับการสัญจรไปมาในลำคลอง หลายคนยังทำนา และปลูกผักกระเฉดขาย ขณะที่อีกหลายคนปลูกหอพักให้นักศึกษาเช่า และเปิดร้านค้าขายในตลาดหัวตะเข้

ชาวบ้านในชุมชน ไม่ได้รับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงทางด้านมลพิษทั้งเสียง และละอองน้ำมันของเครื่องบินที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง แม้จะเคยผ่านการชี้แจงและเสนอแผนการเตรียมพร้อมในการรับมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาบ้างแล้วก็ตามที

ต่างจากผู้บริหาร อาจารย์ และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง นับพันชีวิต ที่มีแผนรองรับกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับบรรยากาศการเรียนการสอนเหล่านี้

แผนการรองรับของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีหลายอย่างทั้งการติดเครื่องปรับอากาศในห้องเรียนกระจกพิเศษ 2 ชั้น เพื่อป้องกันเสียง การใส่วัสดุในการป้องกันเสียงในตัวอาคารใหม่ทั้งหมด จะป้องกันปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ คงต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการพิสูจน์

แต่ที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ อาคารหอพักอาจารย์ ซึ่งเป็นตึกสูง 12 ชั้น ตั้งอยู่ใกล้กับรันเวย์สนามบินมากที่สุด อาจจะต้องถูกรื้อบริเวณชั้น 11-12 ออกไป เพราะจะกลายเป็นสิ่งกีดขวางแนวทางลงของเครื่องบิน

ผู้บริหารของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร คนหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า ถึงที่สุดแล้ว หากการเกิดขึ้นของสนามบินสุวรรณภูมิ สร้างอุปสรรคแก่บรรยากาศการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย จนไม่สามารถแก้ไขได้ ทางออกทางเดียวคือการย้ายสถานที่ไปยังที่ใหม่ ซึ่งได้มีการวางแผนออกแบบพิมพ์เขียวเอาไว้แล้ว

ว่ากันว่าแนวคิดในการย้ายมหาวิทยาลัยนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากทางฝั่งผู้บริหารของมหาวิทยาลัยเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังมาจากแรงผลักดันของสนามบินสุวรรณภูมิเองด้วย เพราะตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ สนามบินจะต้องเจียดงบประมาณจำนวนหนึ่งมาสนับสนุนโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัย ซึ่งเมื่อคำนวณดูแล้ว หากจะต้องป้องกันมลภาวะต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัย วงเงินงบประมาณดังกล่าวอาจสูงถึง 16,000 ล้านบาท

มหาวิทยาลัยเองก็ได้เล็งพื้นที่เอาไว้แล้วว่าหากจะย้ายสถานที่กันจริงๆ อาจจะไปอยู่บริเวณจังหวัดนครปฐม "แต่ก็คงจะใช้เวลาอีกหลายปีถึงจะได้ข้อสรุป" ผู้บริหารรายเดิมบอก

หากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ย้ายออกไป กลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบตามมา คือบรรดาพ่อค้า แม่ค้า และเจ้าของหอพักในตลาดหัวตะเข้ ที่อาศัยนักศึกษาและอาจารย์ของมหาวิทยาลัย เป็นลูกค้าประจำมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี

ในอีกด้านหนึ่ง ตลอดเวลาหลายปีของการก่อสร้างสุวรรณภูมิ การเกิดขึ้นของแคมป์คนงานก่อสร้างของบริษัทรับเหมาต่างๆ ที่ผุดขึ้นมารายล้อมพื้นที่ใกล้เคียงกับสนามบิน ได้ก่อให้เกิดชุมชนคนงานขนาดใหญ่เท่ากับบางหมู่บ้านในต่างจังหวัดกันเลยทีเดียว

ตลาดสดขนาดย่อม ปากทางเข้าสนามบินสุวรรณภูมิกลายเป็นจุดอึกทึกที่ชาวบ้านในละแวกนั้นพบเห็นได้แทบทุกเช้าของวันทำงาน

เส้นทางการเดินทางเข้า-ออกสนามบินในวันทำงาน ทำให้สภาพการจราจรเนืองแน่นด้วยขบวนรถขนคนงานจำนวนมหาศาลที่มุ่งหน้าเข้าและออกพร้อมกันในเวลาดังกล่าว

แม้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เมื่อสนามบินสร้างเสร็จพร้อมจะเปิดให้บริการ แต่ใช่ว่าปัญหาการหลั่งไหลของประชากรนอกพื้นที่เข้าไปยังพื้นที่ใกล้เคียงกับสนามบินจะสิ้นสุด ตราบใดที่ยังไม่มีการวางแผนรับมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เพราะหากเปรียบเทียบจำนวนของประชากรที่คาดว่าจะต้องเข้าไปใช้แรงงานตำแหน่งต่างๆ ในสนามบินใหม่อีกนับหมื่นคนแล้ว ก็ทำให้เห็นภาพของชุมชนที่จะขยายตัว และเปลี่ยนแปลงสภาพกลายไปเป็นชุมชนเมืองได้อย่างไม่ยากนัก

ถึงเวลานี้ ชุมชนเหล่านี้อาจจะไม่มีแม้สิทธิ์เลือกไม่ให้สิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังคงมีสิทธิ์เลือกที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.