|
The beginning to countdown
โดย
น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
แม้จะได้ชื่อว่าเป็นโครงการที่อื้อฉาวเพียงใดก็ตาม แต่ข้อเท็จจริง ณ วันนี้ คือสนามบินสุวรรณภูมิได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างมหาศาลในทุกด้าน และยังจะมีการเปลี่ยนแปลงตามมาอีกมากหลังเปิดใช้อย่างเป็นทางการ คำถามคือ เราได้เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เอาไว้แล้วหรือยัง?
ตามคำประกาศของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อครั้งเดินทางไปตรวจสอบความคืบหน้า การก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2548 และนับจากวันที่ 29 กันยายน 2548 ซึ่งถือเป็นฤกษ์เปิดใช้ที่ต้องมีล้อของเครื่องบินเที่ยวแรกลงแตะพื้นรันเวย์ของสนามบินสุวรรณภูมิ ภายใน 1 ปี การก่อสร้างทุกอย่างของสนามบินสุวรรณภูมิจะต้องแล้วเสร็จ พร้อมเปิดใช้อย่างเป็นทางการ
ซึ่งนั่นจะหมายถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลในทุกด้านที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมา อันเนื่องมาจากโครงการที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงถึง 155,000 ล้านบาทแห่งนี้
ในเชิงเศรษฐศาสตร์ การเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ จะเสริมศักยภาพการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศไทยให้สูงยิ่งขึ้นไปอีก นอกเหนือจากความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ที่มีอยู่แล้ว
อภิพร ภาษวัธน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มปิโตรเคมี ซึ่งเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้สูงที่สุดในเครือซิเมนต์ไทย เคยพูดเอาไว้ว่า "ประเทศไทยรับเละแน่ หากสนามบินสุวรรณภูมิเปิดใช้"
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา อภิพรเพิ่งย้ายเข้าไปอยู่บ้านหลังใหม่ที่สร้างอยู่ในโครงการเลควู้ด คันทรี่คลับ ถนนบางนา-ตราด ห่างจากทางเข้าด้านใต้ของสนามบินสุวรรณภูมิไม่ถึง 10 กิโลเมตร
ในเชิงสังคม การเกิดขึ้นของสนามบินสุวรรณภูมิย่อมมีผลกระทบต่อชุมชนดั้งเดิมที่รายล้อมอยู่รอบสนามบิน และยังก่อให้เกิดชุมชน และรูปแบบการจัดการชุมชนใหม่
ข้อเท็จจริงที่ยืนยันเรื่องนี้ 2 ประการ ประการแรกคือการเร่งออก พ.ร.ก.เขตเศรษฐกิจพิเศษ เมื่อต้นปี ซึ่งอยู่ในช่วงปลายอายุของรัฐบาลก่อน วัตถุประสงค์หลักประการหนึ่งก็เพื่อให้เกิดความง่ายต่อการจัดตั้งมหานครสุวรรณภูมิ
ประการที่ 2 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งรูปแบบของ ที่พักอาศัย โรงแรม อาคารสำนักงาน นับร้อยโครงการ ที่ใช้ความใกล้หรือความสะดวกในการเดินทางไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นจุดขายกับผู้บริโภค
เมื่อย้อนดูประวัติศาสตร์ทั้งภาคเอกชนและรัฐบาลเคยพยายามกันมาตลอด ที่จะสร้างเมืองใหม่ให้เกิดขึ้น ตามโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่บางอย่าง แต่ด้วยเหตุผลหลายประการ ความพยายามดังกล่าวยังคงเป็นเพียงแนวความคิดและเห็นภาพได้ไม่ชัดเจนนัก
ขณะที่การก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ กลับแตกต่างจากแนวความคิดก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิง สิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ บนพื้นที่ 20,000 ไร่นี้ ได้รับการผลักดันจากรัฐบาลอย่างเต็มกำลัง
ดังนั้นหากจะพูดว่า ไม่มี model ไหนเลยในประเทศไทย ที่จะสามารถเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิก็คงไม่ผิดนัก ยกเว้นภาพของการเกิดเมืองจากการสร้างสนามบินใหม่ที่เคยเป็นในบางประเทศก่อนหน้านี้
สนามบินยุคใหม่กำหนดให้สร้างบนพื้นที่ใช้สอยจำนวนมหาศาล เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินในอนาคต โดยคัดสรรพื้นที่ห่างไกลชุมชนเมืองอย่างเช่นที่เคยเป็นมา เพื่อให้สนามบินแห่งใหม่เป็นตัวจักรกลสำคัญในการสร้างชุมชน และการลงทุนในพื้นที่รอบข้างแทนการเข้าไปเบียดเบียนพื้นที่ชุมชนเพื่อสร้างสนามบินที่ไม่เพียงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในแง่การใช้สอยพื้นที่แล้วยังไม่ก่อให้เกิดรายได้ของภาครัฐอีกด้วย
Hong Kong International Airport (HKIA) หรือที่รู้จักกันในชื่อ Chek Lap Kok รวมทั้ง Central Japan International Airport (CENTRAIR : RJGG) สนามบินแห่งใหม่ของประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นสนามบินตัวอย่างของการเกิดความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ได้เป็นอย่างดี
การขนส่ง การจราจรที่ได้รับการก่อสร้างขึ้นใหม่ทั้งระบบ, การก่อสร้างที่พักอาศัยเพื่อรองรับการเข้าไปของแรงงานนับแสน นับล้าน เมืองใหม่ ชุมชนใหม่ และการหายไปของชุมชนเดิมที่เคยมีอยู่ และเม็ดเงินลงทุน ของธุรกิจทุกแขนงที่ตามมาอย่างไม่จบสิ้น ตราบใดที่ยังมองเห็นโอกาส คือสิ่งที่จับต้องได้จากการเกิดขึ้นของสนามบินใหม่
"ผู้จัดการ" ใช้เวลานับเดือนในการเดินทางสำรวจพื้นที่ในรัศมีหลายสิบกิโลเมตร โดยรอบของสนามบินสุวรรณภูมิ สนทนากับผู้คนหลากหลายอาชีพ เพื่อให้เห็นภาพของการเปลี่ยนแปลงอันจะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด
"สุวรรณภูมิ" ในวันนี้ จึงมิได้เป็นเพียงชื่อของสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ของประเทศไทยเท่านั้น แต่ได้กลายเป็นกรณีศึกษาชิ้นใหม่ล่าสุดของการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ในทุกแง่มุมสำหรับใครอีกหลายคน แล้วแต่ว่า คนกลุ่มนั้นจะเลือกจะรับมือหรือจัดการกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างไรเท่านั้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|