|

มองไปข้างหน้า
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
โครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ถูกกล่าวขานถึงมากที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะประเด็นความโปร่งใสของโครงการ ที่ว่ากันว่ามีรอยโหว่ให้เกิดการคอร์รัปชั่นกันได้แทบทุกจุด
มาจนถึงขณะนี้ ทั้งๆ ที่การก่อสร้างเฉพาะตัวอาคารผู้โดยสารใกล้จะแล้วเสร็จ กำหนดการซึ่งถือเป็นฤกษ์เปิดใช้สนามบิน ที่ระบุไว้ในวันที่ 29 กันยายน 2548 ขยับใกล้เข้ามาทุกขณะ แต่ประเด็นที่พูดกันอย่างกว้างขวางถึงสนามบินแห่งนี้ยังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การประมูลงานก่อสร้าง มาตรฐานทางวิศวกรรม ฯลฯ ซึ่งเป็นการสาวความถึงเรื่องในอดีต
ทั้งๆ ที่อีกไม่ถึง 1 เดือน จะเริ่มต้นการบินขึ้น-ลง เพื่อทดสอบพื้นทางวิ่ง และเหลือ เวลาอีกไม่ถึง 1 ปี สนามบินจะต้องเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ กระบวนการทดสอบระบบครั้งใหญ่ที่ครอบคลุมถึงระบบจราจรโดยรอบสนามบิน ระบบการเดินทางเข้าออกของลูกเรือ ผู้โดยสาร และผู้ที่มารับมาส่ง ระบบการเช็กอิน ลำเลียงกระเป๋า ระบบการรักษาความปลอดภัย ไปจนถึงระบบฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ในยามวิกฤติ ฯลฯ ซึ่งเป็นกระบวนการใหญ่มาก กลับไม่มีใครให้ความสำคัญ หรือแม้แต่จะพูดถึงกันเท่าใดนัก
กระบวนการนี้สำหรับสนามบินใหม่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่เป็นสนามบินนานาชาติ ก่อนจะเปิดให้บริการจริง จะต้องใช้เวลาในการทดสอบแก้ไขระบบเหล่านี้กันไม่ต่ำกว่า 6 เดือน
หรือแม้แต่วิถีชีวิตของผู้คนที่ต้องเปลี่ยนไป หลังสนามบินเปิดใช้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงอย่างชุมชนลาดกระบัง แม้กระทั่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ที่อาจได้รับผลกระทบจากมลภาวะทางเสียง จนถึงขั้นต้องหาสถานที่ใหม่ก็ยังไม่มีใครออกมาแสดงท่าทีเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้
ประโยคที่ว่า "Suvarnabhumi" is not just an airport ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ประโยคที่ใช้พูดในสปอตโฆษณา ที่การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยได้ซื้อเวลาไว้ตามสถานีวิทยุต่างๆ เท่านั้น แต่มันเป็นข้อเท็จจริงที่ยิ่งกว่าจริง เพราะสุวรรณภูมิกลายเป็นคำที่ใช้จุดประเด็นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของสังคมไทย
เรื่องจากปกฉบับนี้ เราใช้เวลานับเดือนในการสำรวจ และพยายามชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น หลังจากสนามบินสุวรรณภูมิเปิดใช้ โดยพยายามโฟกัสไปในเรื่องวิถีชีวิตของผู้คนเป็นหลัก
ทั้งผู้คนที่อยู่ในชุมชนใกล้เคียง และผู้คนในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง อย่างพนักงานการบินไทย
รวมทั้งยังมีเรื่องประกอบที่ถูกส่งตรงมาจากญี่ปุ่น เกี่ยวกับวิธีคิด และกระบวนการในการก่อสร้าง และเปิดใช้สนามบิน Central Japan (Chubu) International Airport (CENTRAIR) ที่เมือง Nagoya ซึ่งผู้สื่อข่าวนิตยสาร "ผู้จัดการ" ที่ประจำอยู่ที่นั่นส่งมา
CENTRAIR และสุวรรณภูมิ มีความคล้ายคลึงกันหลายประการ แต่กระบวนการและวิธีคิดที่นำมาใช้ในการก่อสร้าง กลับแตกต่างกันถึง 10 เท่า
ถือเป็นมุมมองอีกด้านหนึ่งที่มีต่อโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|