“Chalachol” – “Cut & Curl” 2 บิ๊ก 2 สไตล์


ผู้จัดการรายสัปดาห์(2 มิถุนายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้ว่าผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จะก่อเกิดอยู่ในเมืองไทยมานานแสนนานแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็นยุคแห่งการปฏิวัติเอสเอ็มอี เพราะภาครัฐให้การส่งเสริมผลักดันกันอย่างมากมาย

สำหรับ “ร้านทำผม” หนึ่งในภาคบริการ ก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเช่นเดียวกับอีกหลายธุรกิจ โดยเฉพาะ 2 รายใหญ่ผู้นำในวงการ ซึ่งมีแนวคิดในเชิงสร้างสรรค์ที่ได้ประโยชน์ทั้งต่อกิจการของตนเอง และภาพรวมของธุรกิจ

จิ๊กซอว์ใหม่ต่อยอดธุรกิจ

ทั้ง “สมศักดิ์ ชลาชล” ช่างผมระดับมืออาชีพซึ่งอยู่ในวงการมานานถึง 30 ปี ผู้ก่อตั้งร้าน “Chalachol” และ “พิชัย อร่ามเจริญ” เจ้าของร้าน “Cut & Curl ” ที่บริหารร้านมานานถึง 20 ปี ต่างมีความคิดเห็นตรงกันว่า ร้านทำผมซึ่งถือเป็นธุรกิจเสริมสวยเป็นเรื่องของแฟชั่น มีการเปลี่ยนแปลงเร็ว

ที่สำคัญ บุคลากรบรรดาช่างทั้งหลายส่วนใหญ่ขาดพื้นฐานความรู้ในวิชาชีพ มักจะชอบการเรียนลัด พัฒนาเพียงด้านเดียว คือ ฝีมือการทำผม ขาดจรรยาบรรณ ทักษะและการบริการ

ในขณะที่ธุรกิจทำผมเปิดได้ง่ายปัจจุบันมีอยู่ทั่วประเทศประมาณ 2 แสนร้าน มูลค่าตลาดทำผมปีละ 1 หมื่นล้านบาท เติบโตประมาณ 15% ในทิศทางเดียวกับผลิตภัณฑ์ดูแลผม

แต่ช่างส่วนใหญ่มีความรู้แค่พื้นฐาน ไม่สามารถออกแบบทรงผมให้เข้ากับบุคลิกของลูกค้า และแนะนำเกี่ยวกับการดูแลผม และช่างผมมักจะโยกย้ายงาน ทำให้เจ้าของธุรกิจปรับตัวไม่ทัน ประกอบกับไม่ค่อยมีการลงทุนพัฒนาบุคลากร เน้นการซื้อตัว โดยให้ผลตอบแทนสูง

นั่นคือสารพันปัญหาในธุรกิจ แต่หัวใจหลักสำคัญที่สุดคือ บุคลากร ซึ่งต้องแก้ไขให้ได้เร็วและสร้างให้พร้อมที่สุด

เพราะฉะนั้น ล่าสุด ทางด้าน “พิชัย” จึงประกาศเปิดตัว “Cut & Curl Academy” อย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อให้เป็นสถาบันพัฒนาบุคลากรด้านการทำผมและออกแบบระดับมืออาชีพ

โดยเริ่มศึกษาคอนเซ็ปต์ในปี 2540 และสรุปได้ภายใน 3 ปี จากประเทศที่พัฒนาแล้วและเป็นผู้นำแฟชั่น อย่างในยุโรป ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี พบว่าไม่ได้มีเทคโนโลยีอะไรมากมาย ที่สำคัญคือชื่อเสียงฝีมือของช่างระดับมืออาชีพของแต่ละสถาบัน แต่เมื่อถึงเวลาสอนก็ไม่ได้ลงมือสอนเองทั้งหมด ในขณะที่ช่างฝีมือของไทยยกระดับขึ้นมาจนได้รับการยอมรับจากประเทศในเอเชียด้วยกันแล้ว เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ซึ่ง 10 กว่าปีก่อนช่างไทยต้องเดินทางไปดูงาน แต่ตอนนี้กลับกัน ด้อยกว่าญี่ปุ่นเท่านั้น

ระยะแรกนำหลักสูตรใช้กับบุคลากรของร้านก่อน เมื่อขณะนี้พร้อมเต็มที่จึงขยายสู่ภายนอก โดยมีเป้าหมาย 3 ประการ คือ 1.เพื่อเปลี่ยนทัศนคติของช่างผม ให้เป็นอาชีพที่มีเกียรติ และรายได้สูง 2.สร้างช่างผมรุ่นใหม่ ระดับมืออาชีพที่มีการศึกษาดี และ3.พัฒนากลุ่มเจ้าของร้านทำผมในปัจจุบันให้มีทักษะด้านการออกแบบและให้คำปรึกษาลูกค้าดีขึ้น

เปิดสอน 5 หลักสูตร ตั้งแต่พื้นฐานซึ่งมีช่างเชี่ยวชาญมาสอน และที่พิเศษคือการเป็นเจ้าของธุรกิจเสริมสวยแบบมืออาชีพซึ่ง “พิชัย” เป็นคนสอนเอง อีกทั้งยังแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไป โดยเรียนห้องละไม่เกิน 10 คน เน้นรับผู้จบปวช. ปวส. และปริญญาตรี ซึ่งเมื่อเรียนจบหากได้บรรจุเป็นผู้ช่วยช่างจะมีรายได้ขั้นต่ำ 1 หมื่นบาทขึ้นไป และมีโอกาสพัฒนาเป็น Hair Stylist มีรายได้เดือนละ 3-5 หมื่นบาท

“ช่างผมส่วนใหญ่มองด้านเดียวคิดว่าทำเพื่อหารายได้เองดีกว่า เจ้าของร้านบางคนคิดว่าพัฒนาตัวเองดีกว่า เพราะพัฒนาช่างแล้วก็ย้ายไปอยู่ร้านอื่น เพราะฉะนั้นร้านทำผมไทยจึงมักไม่เติบโต และมีช่างเพียง 1-2 คนในร้าน และถ้าเจ้าของร้านมาสอนให้มีจริยธรรมช่างไม่เชื่อเพราะคิดว่าพูดเพื่อหวังเอาประโยชน์เท่านั้น การสร้างเป็นสถาบันจะช่วยยกระดับวงการช่างผม เราสร้างบุคลากรมืออาชีพได้ง่ายขึ้น และเราพยายามสร้างให้เจ้าของธุรกิจกล้าลงทุนในบุคลากรซึ่งจะเป็นจุดสร้างความสำเร็จของธุรกิจ ถ้าใช้การดึงตัวจะเจอปัญหาวนเวียนไม่จบ ”

“แม้จะบุคลากรเราจะเพียงพอระดับหนึ่ง ตอนนี้สต๊าฟประมาณ 170 คน แต่เราก็ต้องการเพิ่มตลอดเวลาสำหรับช่างคุณภาพ ช่างที่ร้านเรามีคอนเซ็ปต์เดียวกัน วิธีคิดคือการดูแลลูกค้าให้บริการเหมือนกัน แต่สไตล์แตกต่างกัน เพราะถ้าเป็นแพทเทริ์นเดียวกันหมด ก็ไม่ใช่แฟชั่น” พิชัยเผยแนวคิด

อย่างไรก็ตาม “พิชัย” ตั้งเป้าผลิตบุคลากรจากสถาบันนี้ในปีแรกเพียง 50 คน

แต่ในอีกทางหนึ่ง “พิชัย” กำลังวางแผนรุกธุรกิจอีกขั้น เตรียมสร้างแบรนด์ใหม่ “3 C Professional” มุ่งเจาะกลุ่มวัยรุ่น เป็นการแตกเซ็กเม้นต์ธุรกิจจากฐานเดิม “Cut & Curl” ที่จับกลุ่มคนทำงานและครอบครัว โดยกำลังทดลองเปิดร้านแรกอยู่ที่บางกะปิ มาหลายเดือนแล้ว ครบปีเมื่อไรจะเห็นการขยายตัวที่น่าสนใจแน่

สำหรับ “สมศักดิ์” เห็นด้วยกับการเกิดสถาบันสอนทำผมที่มีคุณภาพ แต่โดยส่วนตัวไม่คิดจะเปิดสอนภายนอก เพราะปัจจุบันมีช่างในมืออยู่ประมาณ 200 คน และต้องการขยายธุรกิจโดยการใช้ระบบแฟรนไชส์ ซึ่งได้ประโยชน์ทั้งผู้สนใจลงทุนเป็นเจ้าของกิจการ และสร้างเวทีให้ช่าง โดยกำลังมุ่งขายแฟรนไชส์ร้าน “Q- Cut” แนวเทรนดี้ เจาะวัยรุ่น เป็นแบรนด์ใหม่ที่แยกเซ็กเม้นท์แตกต่างจาก “Chalachol” ซึ่งเจาะกลุ่มวัยทำงานและครอบครัว

เพราะทั้งสองผู้นำรู้ว่า ทั้งสองเซ็กเม้นท์ แม้จะแข่งขันสูง แต่มีตลาดที่สามารถจะแทรกตัวเข้าไปได้ หากเป็นร้านที่มีคุณภาพและบริหารได้ถูกต้อง

เติมจุดแข็งตัดจุดอ่อน

“พิชัย” ไม่มีความสามารถในการทำผมซึ่งเป็นจุดอ่อนเพราะเท่ากับเป็นการ “ยืมจมูกคนอื่นหายใจ” เขาจึงใช้แนวทางการสร้างคนเพื่ออุดจุดอ่อน แล้วดึงจุดแข็งคือความสามารถในการบริหารธุรกิจ และใช้วิธีการขยายธุรกิจโดยการลงทุนเอง จนกระทั่งปัจจุบัน “Cut & Curl” ขยายได้ถึง 13 สาขาแล้ว (ดูตารางประกอบ)

จากร้านแรกที่แม้จะมีปัญหาด้านบุคลากรสำคัญ แต่ในด้านรายได้เป็นธุรกิจที่น่าสนใจไม่น้อย ร้านแรกปี2527 ลงทุน 4 แสน สามารถคืนทุนได้ภายใน 1 ปี และตั้งแต่เปิดร้านก็สามารถเลี้ยงตัวได้ ทั้งที่อยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ เพราะมีการวางแผนค่อนข้างดี

“Cut & Curl” มีช่างฝีมือดี เป็นร้านทำผมแรกที่เปิดในศูนย์การค้า เพราะในยุคนั้นแหล่งแฟชั่นกระจุกอยู่ที่สยามสแควร์ แต่เพราะเชื่อว่าไลฟ์สไตล์คนจะเปลี่ยน เซ็นทรัลลาดพร้าวจะเกิดได้ แม้ว่าคนจะเดินน้อยแต่ราคาเช่าไม่สูงเดือนละ 9 พันบาทเท่านั้น และใช้วิธีทำการตลาดซึ่งเมื่อก่อนไม่มีใครทำ โดยเฉพาะการสื่อเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายโดยตรง เช่น แจกใบปลิวในศูนย์ฯ

ดังนั้น หลังจากทำควบคู่กับงานประจำอยู่ 3 ปี “พิชัย” จึงตัดสินใจบริหารเองอย่างเต็มตัว และทำอย่างจริงจัง 3 สาขาแรกในเวลาถึง 9 ปี เพื่อสร้างระบบและเตรียมบุคลากรให้พร้อม ในปี 2536 เปิดสาขาที่ 4 และต่อๆ มาปีละ 1 สาขา แม้ว่าจะมีจุดเปลี่ยนของวงการแห่หันมาเปิดร้านในศูนย์การค้าในช่วงปี 2533 มากขึ้นเรื่อยๆ

จากนั้น ธุรกิจสะดุดเล็กน้อยช่วงปี 41 แต่เพียงปีเดียวเท่านั้นที่รายได้ตกซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เพราะต่อมารายได้ก็เติบโตขึ้นอีกเรื่อยๆ โดยเฉลี่ยลงทุนร้านละ 2 ล้านบาท ใช้เวลาคืนทุนประมาณ 1ปีครึ่ง-2ปี

“ผมมีหลักคิดในการทำธุรกิจ 3 ข้อ 1.ต้องเป็นธรรมกับผู้บริโภค ต้องได้คุณภาพในราคาที่เหมาะสม จุดนี้ทำให้เราอยู่ได้ เพราะอันที่จริงเราจะคิดราคาสูงๆ ก็ได้เพราะช่างเรามีฝีมือ แต่คิดว่าเรามีทำเลที่ดีอยู่แล้วและมีลูกค้ามาก 2.พนักงานต้องได้ค่าตอบแทนที่ดี และ3.ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของ ผู้ลงทุนต้องมีกำไร เราพยายามสร้างความสมดุลทั้ง 3 ส่วน” พิชัยสรุป

ทางด้าน “สมศักดิ์ ชลาชล” ช่างฝีมือที่โชกโชนรู้ตัวดีว่า ไม่สามารถบริหารธุรกิจได้ จากประสบการณ์ที่เคยหุ้นกับเพื่อนเปิดร้านมาแล้วต้องปิดไป และไม่คิดขยายสาขาด้วยการลงทุนเอง เพราะมีวิธีคิดว่า

“เราทำตรงไหนได้ไม่ชัดเจนอย่าทำ เรามีความสามารถเรื่องคอนเน็คชั่น เรื่องบริหารช่าง มองวิชั่นต่างๆ นั่นคือจุดเด่น แต่จุดอ่อนคือทำลายเงิน ไม่ชอบการต้องคอยดูว่าใครจะโกงเรา ไม่ถนัดในการบริหารธุรกิจ เราจึงทำตัวเองเป็นฝ่ายผลิต สอนช่างให้เก่งและมีจริยธรรม แล้วให้คนที่ถนัดมาบริหาร”

เพราะฉะนั้น จากร้านเดียวที่เปิดอยู่ที่ “ทองหล่อ” จึงได้โอกาสเกิดเป็น “แฟรนไชส์ ชลาชล แฮร์ สตูดิโอ”ในปี 2540 และขยายเพิ่มจนมีถึง 8 สาขาในปัจจุบัน(ดูตารางประกอบ) ด้วยวิธีการ แต่ “สมศักดิ์” รู้ว่าธุรกิจต้องมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อถึงเวลา จังหวะนี้เขากำลังปรับรูปลักษณ์ใหม่ของ “ชลาชล” เป็น “ฮิปซาลอน” และต้องการจะ “หยุดเพื่อก้าวต่อ” จึงมีแผนจะปิดร้านชลาชลที่เล็กๆ เพื่อยกระดับเป็น “Haute Couture” และก้าวสู่ตลาดระดับโกลบอล โดยมุ่งเน้นไปที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในขณะที่ อีกเซ็กเม้นหนึ่งคือ “Salon de Bangkok” สาขาเดียวที่เอ็มโพเรียม ก็จับกลุ่มนักท่องเที่ยว ลูกค้าไฮเอนด์และไฮโซได้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ การร่วมมือกับกลุ่มวีเน็ท แคปปิตอล ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในหารบริหารเพื่อเป็นจุดแข็งในการขยายแฟรนไชส์ร้าน “คิวคัท” ซึ่งเปลี่ยนจากเดิมที่ชื่อ“ควิกคัท”มีอยู่ 5 สาขา(ดูตารางประกอบ) ให้ขยายสาขาต่อไปได้ หลังจากที่พยายามหามืออาชีพช่วยบริหารมานาน

คิดแตกต่างบริหารเชิงบวก

“พิชัย” ย้ำถึงความคิดที่แตกต่างในการบริหารธุรกิจว่า เริ่มมาตั้งแต่การมองทำเลในศูนย์การค้าซึ่งพิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จ การบริหารช่างควบคู่ไปกับลูกค้า โดยการ“ซื้อใจ”ลงทุนส่งช่างไปเรียนกับโรงเรียนสอนทำผมที่มีชื่อเสียงตั้งแต่ในประเทศ และก้าวต่อไปจนถึงต่างประเทศ รวมทั้งการใช้โอกาสจากซัพพลายเออร์ที่เชิญเข้าร่วมชมการสาธิตของช่างมืออาชีพระดับโลก

“ตอนนั้นเกิดวิกฤตมีปัญหาทุกวัน ช่างผมที่เขาให้ผมช่วยลงทุน งอแง จะทำแต่ลูกค้าทำเคมีเพราะได้เงินมาก ลูกค้าสระเซ็ทไม่ทำโยนให้คนอื่น และให้ปรับเงินเดือนทุกเดือนเพราะเขาเป็นคนทำ ตอนนั้นลูกค้าเริ่มมาก สุดท้ายเขาชวนคนอื่นไปเปิดแข่ง นั่นคือจุดเปลี่ยนเริ่มพัฒนาคน ส่งไปเรียน 1 คนออก ส่งไปใหม่2คนออก1คน ยังเหลือ ส่งไปใหม่ 3 คน คนที่อยู่ให้ได้ดูงานไปต่างประเทศหรืออบรมเพิ่ม พอเก่งขึ้นรายได้ก็มากขึ้น มีโอกาสและอนาคตที่ดี เราใช้สูตรนี้พัฒนาคนมาตลอด และสอนให้เขาดูว่าช่างฝรั่งอายุ 60 ยังมาโชว์ได้ ถ้ามีฝีมือก็อยู่ได้ตลอด แต่ช่างทั่วไปแค่ 40 กว่าฝีมือไม่ขยับเพิ่มแล้ว ขายแต่ของเก่า”

นอกจากนี้ “พิชัย” ยังสอนให้ช่างผมวางแผนชีวิตของตัวเอง วิถีชีวิตของช่างร้านนี้ต่างจากช่างในยุคนั้น หลังเลิกงานจะกลับบ้านไม่ได้เที่ยวเตร่ใช้เงิน และมีเงินออมสามารถซื้อบ้านและรถได้ภายในช่วง 4-5 ปี จนกลายเป็นตัวอย่างให้ช่างรุ่นต่อๆ มา

“ตอนนี้ช่างส่วนใหญ่อยู่กันมาเป็น 10 ปีแล้ว ระดับซีเนียร์เปลี่ยนแปลงน้อยมาก จริงๆ ไม่ได้มั่นใจว่าเขาจะอยู่กับเรา แต่ใช้หลักที่ว่าเราสร้างเขามาเขาน่าจะรู้สึกว่าอย่างน้อยเราก็ให้โอกาสเขา และพอมีข่าวลือว่าเราทำไม่จริงเพราะตอนนั้นยังทำงานประจำอยู่ เราก็เปิดสาขา 2 ต่อจากสาขาแรก 1 ปีครึ่ง เพื่อยืนยันว่าเราทำจริง เพราะพูดอย่างเดียวไม่พอ”

พิชัยกล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมคิดธุรกิจไม่ซับซ้อน ไม่อยากให้พนักงานคิดว่าเรามีลูกเล่น บอกชัดว่าต้องการแค่นี้ คือให้มีคุณภาพ รับผิดชอบต่อลูกค้าต่อสังคม สิ่งที่ได้ต่อจากนี้คือกำไรทั้งนั้น เมื่อเราคนที่มีคุณภาพ ลูกค้าจะมากตามมาเอง และไม่เคยตัดราคา แต่จะให้บริการและคุณภาพที่ดีขึ้น แล้วจึงปรับเพิ่มราคา ซึ่งลูกค้ายินดี”

พิชัยย้ำว่า สิ่งที่เกิดตามมาคือ การสร้างแบรนด์ “Cut & Curl” แซงการยึดติด “ช่างประจำ”

เช่นเดียวกับ “สมศักดิ์ ชลาชล” ซึ่งมีความคิดที่แตกต่างจากช่างอื่นๆ เขาใช้ชีวิตไปพร้อมๆ กับการทำงาน ด้วยลูกค้าส่วนใหญ่ที่เป็นกลุ่มไฮโซและโดยส่วนตัวเป็นคนสนุกสนานและชอบการท่องเที่ยว การไปต่างประเทศเพื่อเรียนรู้ทั้งเทรนด์ผมใหม่ๆ แล้วมาถ่ายทอดให้ช่างในร้าน ใช้การสอนแบบใหม่ให้ดูบุคลิกของลูกค้าแล้วต้องคุยเพื่อเข้าใจลักษณะของลูกค้าก่อนที่จะออกแบบให้เหมาะสม ซึ่งต่างจากการตัดแบบเก่าให้ดูแต่รูปหน้า

การนัดล่วงหน้า การไม่ลงมือตัดเองและยกระดับขึ้นไปตัดซอยหัวละ 1,800 บาทสำหรับผู้ชาย และ 2,000 บาทสำหรับผู้หญิง เพื่อเปิดโอกาสให้ช่างรุ่นน้องๆ มีโอกาสได้ลูกค้ามากขึ้น

“นั่นคือการมอบมรดก ถ้าเราไม่ปล่อยมือลูกค้าก็อยู่ที่เราหมด แต่เราไม่ทำอย่างนั้นเราเป็นโปรดิวเซอร์ดีกว่า และเราก็เพิ่มมูลค่าตัวเองด้วย ช่างไทยยิ่งแก่ยิ่งจนเพราะเอาตัวเองไปแข่งกับเด็กตลอดเวลา”

“สมศักดิ์”ยังพูดถึงช่างผมไทยว่าโดยส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยวางแผนชีวิตและเก็บงาน เขาจึงมักจะแนะนำให้สร้างหนี้ด้วยการซื้อบ้านเป็นทรัพย์สินเป็นการออมทางอ้อม เมื่อมีรายได้มั่นคงแล้ว รวมทั้ง ให้ยึดถือจรรยาบรรณ ความซื่อสัตย์ เช่น ถ้าลูกค้าผมเสียต้องอย่าเชียร์ให้ทำเคมีทำสีผมอีกเพราะหวังแค่จะได้เงินมากๆ

“เราต้องให้ช่างอยู่ดีกินอร่อย และใช้จิตวิทยาในการบริหาร แต่ละคนต่างกัน เราเลือกคนหลายๆ แบบผสมกันในร้าน มีทั้งแบบตลก เรียบร้อย คุยเก่ง เพราะลูกค้าแต่ละคนก็ชอบช่างต่างกัน และเราขยายร้านออกไปทำให้ช่างเห็นเส้นทางเติบโต ใช้ระบบหุ้นส่วนเมื่อแฟรนไชซีครบสัญญา 5 ปี จะปรับเป็นระบบร่วมทุนบริษัทฯ ถือหุ้นใหญ่ 51% ถ้าแฟรนไชซีไม่เข้าใจกันไม่ร่วมลงทุน20% ช่างก็จะได้สิทธิ์ในส่วนนี้ด้วย” สมศักดิ์อธิบายถึงวิธีคิดและบริหารที่แตกต่าง

ไม่ว่าทั้งสองผู้นำจะมีแนวคิดและสไตล์การดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือการพัฒนาและสร้างธุรกิจทำผมในแนวทางที่สร้างสรรค์หวังจะสร้างความแข็งแกร่งของวงการทำผมของไทย โดยมองเป้าหมายการแข่งขันไปที่ตลาดระดับโลก เสาะหาโอกาสที่กว้างขึ้น แต่จะไปได้ไกลแค่ไหนยังต้องติดตามต่อไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.