|
จากกะทิสดสู่น้ำมันบริสุทธิ์ โชว์นวัตกรรมแข่งต่างชาติ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(10 มิถุนายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
วิศวกรหนุ่มแปลงงานวิจัยม.เกษตร สู่นวัตกรรม “สกัดเย็น” กะทิสด ผลิต “น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์” รุกตลาดอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและทำความสะอาด จุดขายคุณภาพเทียบต่างชาติ ราคาถูกกว่าหลายเท่า
พงศ์พิศุทธิ์ เกียรติวรางกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำมันมะพร้าวไทย จำกัด กล่าวว่า กำลังจะเริ่มเดินเครื่องผลิตน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ ในระยะแรกคาดว่าจะผลิตป้อนตลาด 3 หมื่นลิตรต่อเดือน ตลาดหลักคือ ผู้ผลิตเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด มุ่งเน้นในประเทศก่อน
สำหรับในปี2549 คาดว่าจะผลิตได้ถึง 1.2แสนลิตรต่อเดือนเมื่อพัฒนาเครื่องจักรใหม่สำเร็จ และจะขยายสู่ตลาดต่างประเทศ อนาคตเป้าหมายเน้นส่งออก เช่น ยุโรป อังกฤษ เยอรมนี ญี่ปุ่น เพราะจะได้ราคาดี โดยมีจุดขายที่คุณภาพเทียบชั้นต่างประเทศ แต่ราคาถูกกว่า ซึ่งขณะนี้ตั้งราคา 500-600 บาทต่อลิตร ขณะที่ต่างประเทศ เช่น จากฮาวายราคา 1,500-2,000 บาทต่อลิตร
ปัจจุบัน บริษัท มีทุนจดทะเบียน 6.5 ล้านบาท ใช้เงินลงทุน 20 ล้านบาท ส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนในโครงการนวัตกรรมดีไม่มีดอกเบี้ยของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.)จ่ายดอกเบี้ยที่เกิดจากเงินต้นเป็นเวลา 2 ปีจากการกู้เอสเอ็มอีแบงก์จำนวน 5.5 ล้านบาท คาดว่าจะคืนทุนภายใน 2 ปี และได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ 8 ปี
ความเป็นนวัตกรรมของโครงการนี้คือ การเป็นนวัตกรรมกระบวนการผลิตน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ โดยวิธีการสกัดเย็น ซึ่งพัฒนาเทคโนโลยีต่อยอดจากองค์ความรู้งานวิจัยในหัวข้อ การแยกน้ำมันมะพร้าวจากน้ำกะทิ ของสำนักงานค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โดยใช้มะพร้าวเป็นวัตถุดิบหลัก มาผ่านกระบวนการทางกลศาสตร์ และใช้เทคนิคควบคุมอุณหภูมิเพื่อแยกน้ำมันมะพร้าวออกจากน้ำกะทิ ทำให้ได้น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ที่มีคุณภาพดี คือ ใส ไม่มีสี มีกลิ่นหอมของมะพร้าวตามธรรมชาติ และบริโภคได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการกลั่น ซึ่งตรงกับความต้องการของตลาด ทำให้มีความเป็นไปได้ทางธุรกิจ
“ผมเริ่มจากการไปอ่านงานวิจัยในมหาวิทยาลัย ก่อนจะทำผมหาข้อมูลทั้งการผลิตและตลาดมาถึง 3 ปี และเพิ่งจะได้เริ่มทดลองปีที่แล้ว โดยใช้ความรู้ทางวิศวกรรม วิธีการของเราคือการแยกกวนปั่นจากน้ำกะทิให้เป็นน้ำมัน แต่มีเทคนิคที่จะทำให้น้ำมันแตกตัวออกมา เป็นน้ำมันบริสุทธิ์ ใสแบบนี้ มีเรื่องของอุณหภูมิ การไหล ถ้าบีบจากมะพร้าวตากแห้งข้อเสียทิ้งไว้แล้วจะเหลือง”
“ตอนนี้ของผมมีปัญหาอุณหภูมิ 25 องศาลงไปจะเริ่มแข็ง กำลังหาวิธีแก้ แต่ช่วงแรกขายให้โรงงานไม่ได้ขายผู้บริโภคโดยตรง ไม่มีปัญหาอะไร แต่ต่อไปอาจจะขายปลีกเพราะมีความต้องการมากโดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต ขนาด100 ซีซี ราคาหลักร้อยบาท” พงศ์พิศุทธิ์อธิบาย
นอกจากนี้ ได้ดร.สุรพล ชื่นศรีงาม เจ้าของผลงานวิจัยมาเป็นที่ปรึกษาด้วย อีกทั้ง มีการพัฒนาและผลิตเครื่องจักรหลักขึ้นใช้เอง ซึ่งเครื่องจักรต่างประเทศราคาประมาณ 30 ล้านบาท แต่ทำเองระดับฟูดเกรดโดยใช้สแตนเลสต้นทุนเครื่องจักรลดลง 50%
“แม้ว่าในเมืองไทยจะผลิตเครื่องสกัดได้ แต่ที่สำคัญคือเทคนิคในการผลิตให้บริสุทธิ์ ซึ่งที่ผมคิดได้คือ ทำให้เกิดการแยกชั้นของไขมัน น้ำมัน แล้วให้แตกออกเป็นน้ำมันบริสุทธิ์ ได้น้ำมันเยอะขึ้นหมดเต็มที่ สัดส่วนที่ทำได้ คือมะพร้าว 20 ลูก จะได้น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ 1 ลิตร”
ข้อดีของนวัตกรรมนี้เมื่อเปรียบเทียบจากการสกัดร้อน คือ กระบวนการทำไม่ผ่านความร้อน ซึ่งทำให้กรดต่างๆ หดหายไป และบริสุทธิ์เพราะไม่ต้องไปรีไฟน์ซึ่งจะมีสารเคมี ไม่มีคอเลสเตอรอล
รวมทั้ง มีต้นทุนการผลิตในส่วนของเทคโนโลยีต่ำกว่า เมื่อคิดจากกำลังการผลิตที่ใช้วัตถุดิบ 300 กิโลกรัมต่อชั่วโมง วิธีเดิม (สกัดร้อน) มีต้นทุน 11,659,000 บาท ขณะที่นวัตกรรมนี้(สกัดเย็น) มีต้นทุน 5,080,000 บาท หรือเมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตต่อหน่วย วิธีสกัดร้อน 145 บาทต่อลิตร ส่วนนวัตกรรมสกัดเย็น 84 บาทต่อลิตร
นอกจากนี้ ยังต้องการรักษาภาพลักษณ์ธุรกิจเอสเอ็มอี ไม่ฉาบฉวย เน้นคุณภาพสินค้าสร้างความเชื่อถือด้านการผลิต อีกทั้งได้อุดหนุนชาวสวนมะพร้าว และลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
สำหรับโรงงานอยู่อำเภอบ้านแพ้ว สมุทรสาคร ใกล้แหล่งวัตถุดิบที่มีมากมาย เช่น แม่กลอง บางนกแขวก บางคนที หรือราชบุรี และเพชรบุรี โดยเลือกมะพร้าวดั้งเดิมพันธุ์ต้นสูง เช่น ปากจก รักบี้ เนื้อหนา ลูกใหญ่ ให้น้ำมันมาก คุณภาพดี โดยเฉพาะมะพร้าวจากภาคใต้ เช่น นครศรีธรรมราช เกาะสมุย ซึ่งมีซัพพลายเออร์เป็นตัวแทนจัดซื้อ
พงศ์พิศุทธิ์กล่าวอีกว่า นอกจากจะนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น น้ำยาทำความสะอาด น้ำยาขัดเคลือบเงารถ เครื่องสำอาง น้ำมันหอมระเหย ครีมกันแดด ครีมนวดผม ครีมเทียม สบู่ น้ำมันปรุงอาหาร
ผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์แบบนี้ ยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจได้อีกด้วย โดยนำกะลามะพร้าวไปขายให้โรงงานถ่านอัดแท่ง น้ำมะพร้าวนำไปทำวุ้นมะพร้าว กากมะพร้าวเป็นอาหารสัตว์ และโปรตีนขายให้กับอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง จึงเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ
“ผมชอบทำสิ่งที่แตกต่าง หาโอกาสใหม่ๆ และมองอนาคตว่าอยู่ได้นาน” พงศ์พิศุทธิ์สรุปแนวทางของตนเอง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|